ฉัตรสุมาลย์ : เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล จากนวนิยายสู่ละครร้อง

ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ไปชมการแสดงคอนเสิร์ตบทเพลงจากละครร้องที่หอแสดงดนตรี สำนักงานบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่ะ ตื่นเต้น เพราะโดยส่วนตัวไม่ค่อยมีทักษะทางนี้นัก หากล้นเกล้าฯ ร.6 ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ก็คงไม่โปรดแน่ เพราะรับสั่งไว้ว่า

“อันชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก”

คราวนี้เป็นวาระที่ต้องไป เพราะเจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล เป็นนวนิยายที่เขียนโดยมารดาของผู้เขียน คือ วรมัย กบิลสิงห์ ในช่วง พ.ศ.2495-2496 ที่คร่อมปีเพราะท่านเป็นบรรณาธิการผู้ช่วยหนังสือพิมพ์ไทยใหม่วันจันทร์ ชื่อก็บอกอยู่นะคะว่ารายสัปดาห์

ท่านเขียนลงเป็นตอนๆ ในไทยใหม่วันจันทร์นี้ ตอนนั้น ผู้เขียนเป็นนักเรียนอยู่ ป.3 โรงเรียนราชินีบน สมัยนั้น ยังมีนักเรียนผู้ชายเรียนปนอยู่จนถึง ป.4 ค่ะ ในชั้นของเราก็มีนักเรียนชายเพียง 4 คน หนึ่งในนั้นชื่อภาณุฉัตร์ ทุกอาทิตย์ที่หนังสือพิมพ์ออกที่บ้านเขาอ่าน และตามเรื่องเจ้าหญิงพลาเลิศฯ ด้วย เขาก็จะเอาเรื่องราวมาล้อที่โรงเรียน

ช่วงที่ท่านทำงานที่ไทยใหม่วันจันทร์ มีออฟฟิศอยู่ที่อาคารหลังหนึ่ง น่าจะเช่าคฤหาสน์ทำออฟฟิศ อยู่ในซอยกับตันบุชที่สี่พระยา ข้างๆ ไปรษณีย์กลาง ผู้เขียนเคยตามมารดาไปที่นั่น

ท่านก็นั่งปั่นต้นฉบับเรื่องเจ้าหญิงพลาเลิศฯ นี้แหละ

 

เรื่องที่น่าสนใจคือตัวเอก เจ้าหญิงพลาเลิศฯ นั้น สุดแสนจะงาม ขณะเดียวกันก็มีพละกำลังเยี่ยงชาย มิหนำซ้ำฝึกปรือวิทยายุทธ์มาอย่างดี

ในความเป็นทั้งหญิงและชายนี้ ตอนเป็นผู้หญิงก็มีพระคู่หมั้น คือ เจ้าชายปฏิมา ผู้ทรงจงรักภักดี รักพระน้องนางแบบถวายชีวิตทีเดียว

แต่ตอนที่เป็นเจ้าชายทศพล (ภาคผู้ชาย) ก็มีพระชายา เป็นเจ้าหญิงบุษบามินตรา ทั้งได้มาด้วยฝีมือการประลองยุทธ์ที่เป็นเลิศด้วย

ในเนื้อเรื่อง ฉากที่เจ้าหญิงออกสู้รบทั้งบนหลังม้า และบนพื้นราบนั้น ไม่ว่าจะใช้อาวุธดาบ ทวน หอก หรือแม้หมัดมวย

ก็คือการที่ท่านเอาความรู้และประสบการณ์ของท่านเองที่เป็นนักพละหญิงคนแรกของไทยใส่เข้าไปนั่นเอง การเขียนบรรยายฉากการต่อสู้จึงลื่นไหล ดุเดือด คนที่ชอบฉากบู๊ พลาดมิได้

 

อาจารย์สัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์ ท่านเป็นคณบดีอยู่ที่ ม.บูรพา ท่านสนใจเรื่องราวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ท่านว่า เป็นนวนิยายที่เฟมินิสต์ต้องสนใจ มาติดต่อขอนำเรื่องนี้ไปเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของท่าน

บอกตามตรง ผู้เขียนก็ไม่รู้ดอกว่าท่านจะเอาไปนำเสนออย่างไร ในเชิงดนตรี

ก่อนจะคิดคอนเซ็ปต์การนำเสนอได้ ใช้เวลานานมากกว่าวิทยานิพนธ์ในสาขาอื่น ท่านพิจารณาโจทย์ตามท้องเรื่อง ว่า นวนิยายนี้ให้บริบทใน พ.ศ.2400 เหตุเกิดที่เมืองศิขริน ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของไทย ตัวเอกอยู่เมืองนี้ จึงใช้สำเนียงมลายู ดนตรีโนรา

ส่วนสาวที่ไปผูกสมัครรักใคร่ คือเจ้าหญิงบุษบามินตรานั้น เป็นสาวที่อยู่เมืองบุษบาบัณ เป็นเมืองทางใต้เช่นกัน แต่เป็นวัฒนธรรมอิสลาม จึงใช้สำเนียงชวา ดนตรีรองเง็ง

บนเวที มีผู้ร้องและเล่นดนตรี 19 คน แค่เห็นความอลังการของการทำงานกลุ่มแบบนี้ ก็ประทับใจแล้ว

ซ้ายสุด บนเวทีมีน้องหนูนักศึกษาสาวสองคนมีผ้าคลุมผมแบบสาวมุสลิม นึกว่าคงแต่งตัวให้สมบทบาท ไม่ใช่ค่ะ เธอเป็นฝาแฝด และเป็นมุสลิมจริงๆ ที่เรียนดนตรีสากล คนหนึ่งเล่นแอ็กคอเดี้ยน คนหนึ่งเล่นไวโอลิน

ผู้นำเสนอสามารถให้ทั้งสองคนได้มีส่วนเล่นดนตรีในคอนเสิร์ตนี้อย่างกลมกลืนและลงตัว

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเรื่องนี้ ตัวเอกเป็นผู้หญิงหรือเปล่า แต่ฆ้องวง 2 วงก็เป็นนักศึกษาผู้หญิงเล่นค่ะ

เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนรู้จักแตระ ให้ดูภาพประกอบนะคะ เป็นเครื่องไม้ไผ่ที่คอยให้จังหวะ แล้วก็มีกรับพวง ที่ไม่รู้จัก คือไม่รู้จักชื่ออีกแล้ว

มีขลุ่ย ฆ้องวง ว่าไปแล้ว มีระนาดทุ้ม ระนาดเอก ฉิ่งฉับ ซอด้วง กลองหลากหลายรูปแบบ ทั้งกลองโนรา รำมะนา โพน ทับ กลองแขก

ประทับใจไหมคะ

 

มีคนร้องเสียงนำ 4 คน ผู้หญิงสอง ผู้ชายสอง อาจารย์สัณห์ไชญ์เจ้าของวิทยานิพนธ์ก็เป็นผู้ร้องฝ่ายชายด้วย อาจารย์ผู้หญิงที่สอนร้อง เด็ดขาดทีเดียว ท่านรู้บท สามารถร้องได้โดยไม่ต้องดูเนื้อ แสดงว่าเบื้องหลังคงฝึกปรือกันมาทีเดียว

บางบทเป็นบทร้อง บางบทเป็นบทขับ เพื่อให้ผู้ชมตามเรื่องได้ มีภาพปรากฏที่ฉากหลัง ประทับใจอีกแล้ว

ใช้กรงนกเป็นสัญลักษณ์ของกรอบที่ครอบงำทางความคิด และใช้นกเป็นตัวแทนตัวละคร

ตอนที่ตัวละครออกรบ เสียงลั่นกลองรบพาให้ผู้ชมออกศึกตามไปด้วย

อยากไปฝึกเป็นคนตีกลองนี้แหละ มันได้อารมณ์จริงๆ

อาจารย์สัณห์ไชญ์อธิบายเกริ่นตอนต้นถึงเทคนิคการร้อง ที่ต้องรู้และเข้าใจจังหวะการหายใจ

ใช่เลย

เวลาฝึกหลวงพี่ก็เหมือนกัน ท่านธัมมนันทาพูดเสมอว่า เสียงนำสวดต้องไม่ขาดคาบหายใจ ใครสวดนำแล้วเสียงขาดท่านจะให้เริ่มต้นใหม่ พระที่ท่านเล่นคาถาอาคม ท่านก็กำหนดคาบลมหายใจเหมือนกัน ไม่งั้นไม่ขลัง

ทีนี้ ลมหายใจนี้ก็ไปสัมพันธ์กับการสอนสมาธิอีก เพราะจิตที่ไม่ได้ฝึก ซัดส้ายมาก อาจารย์ก็จะบอกให้กลับมาดูลมหายใจของตัวเอง เมื่อจิตเป็นสมาธิมากขึ้น ลมละเอียดขึ้น จนแทบไม่รู้สึกว่าหายใจนั่นเทียว

 

กลับมาในเรื่องที่อาจารย์สัณห์ไชญ์เน้น คือเรื่องที่ตัวเอกซึ่งเป็นหญิงขึ้นครองบัลลังก์ไม่ได้ เพราะ “ราชบัลลังก์ไม่เหมาะกับอิสตรี”

เป็นโจทย์ใหญ่ น่าจะเป็นโจทย์ที่ทั้งผู้เขียนนวนิยายและผู้นำเสนอตั้งใจชวนให้เราผู้อ่านผู้ชมคิด แต่ต้องยอมรับว่า การนำเสนอประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักของอาจารย์สัณห์ไชญ์ ท่านทำได้ดี

มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนก็ทำราวกับเป็นกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์ ที่มีใจเอนเอียงตามไปแล้ว

ไคลแมกซ์ของเรื่องที่นำเสนอ คือตอนที่เจ้าชายปฏิมา คู่หมั้น เข้ามาพยายามโอบกอดเจ้าหญิงพลาเลิศฯ ซึ่งตอนนี้ขึ้นครองเมืองเป็นสมเด็จพระเจ้าอิศราเพชรแล้ว เจ้าชายปฏิมาต่อว่า ให้เจ้าหญิงเลิกเล่นบทหลอกๆ นี้ได้แล้ว ให้ยอมรับความจริง

คำถามที่กระตุกความสนใจคือ “ความจริงของใคร”

อาจารย์สัณห์ไชญ์ใส่ทั้งตัวตน ทั้งจิตวิญญาณที่กระแทกความรู้สึกของผู้ชมและผู้ฟังว่า

ความจริง…สำคัญจริงฤๅไฉน

ความจริงแท้คืออะไร ที่เป็นอยู่ใช่หรือ คือความจริง

ความรัก ความศรัทธา ความเข้าใจ

เปล่าเปลือย ลื่นไหล เป็นธุลี

อิสระที่ไร้กรอบ ตามระบอบ ทางวิถี

ไร้รูป ไร้นาม ไร้กดขี่

แม้นไม่เท่า แต่มีที่ แม้นไม่มี แต่ไม่ขาด

หญิงกับชายคือคำขาน ขาวกับดำ คนกับผี

ดีกับชั่ว น้องกับพี่ ภรรยาสามี สั้นกับยาว

พระกับชีไม่เทียมเทียบ หรือความดีไม่เทียมได้

ความจริงแท้คืออะไร เป็นคำขายหรือความจริง

 

กลับไปที่ข้อความบนโปรเจ็กเตอร์ ความเข้มแข็งมิใช่มาจากกายที่เป็นชายหรือเป็นหญิง การครองคู่ ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกว่ากัน เราต่างมีทุกข์ เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถรับประกันความพอใจในสิ่งที่เราเป็น ความพอใจนั้น อาจเป็นเพียงรางวัล หรือบทลงโทษชีวิตของเราก็ได้

อาจารย์สัณห์ไชญ์เป็น ดร.สัณห์ไชญ์ ตรงช็อตนี้ กินใจ เด็ดขาด เทหมดหน้าตัก น้ำตาท่วมใจจนไหลรินออกมา อาจารย์หญิงที่เป็นนักร้องเสียงนำที่นั่งใกล้ที่สุดต้องส่งมือมาวางที่หัวเข่าให้กำลังใจ

โอบกอดก็ได้นะ

ดร.สัณห์ไชญ์ ขอแสดงความยินดีค่ะ