วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ความเป็นอนิจจังของงานวิชาการด้านจีนศึกษา

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในวงล้อมของเสรีนิยมใหม่ (ต่อ)

ในประการต่อมา ในไทยมีผู้รู้ภาษาจีนโบราณอยู่หลายท่าน แต่ก็มีผลงานแปลคัมภีร์หรือเรื่องโบราณของจีนน้อยมาก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้รู้เหล่านี้ต่างมีงานอาชีพที่มิใช่งานทางวิชาการของตนทำอยู่ ที่จะให้แปลผลงานดังกล่าวจึงต้องมีเวลาว่างและมีแก่ใจจริงๆ ผลงานแปลที่ว่านี้จึงมีน้อย

และที่มีอยู่น้อยนี้หากเป็นผลงานเมื่อนับร้อยปีหรือหลายสิบปีก่อนก็มักทับศัพท์ด้วยภาษาถิ่น มิใช่ภาษาจีนกลาง

ส่วนผลงานแปลในปัจจุบัน (ที่มีอยู่น้อยเช่นกัน) จะแปลโดยนักวิชาการเป็นหลัก และเป็นการแปลด้วยเห็นคุณค่าและใจรัก ที่จะมีแรงจูงใจอื่นๆ ถือเป็นเรื่องรอง

จากเหตุนี้ ใครที่ศึกษาเรื่องโบราณของจีนจึงต้องขวนขวายอ่านจากต้นฉบับภาษาจีนเอาเอง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีความรู้ภาษาจีนโบราณประกอบด้วย

พ้นไปจากนี้ก็คงต้องหาอ่านจากฉบับภาษาอังกฤษ

ดังนั้น เมื่อต้องมาศึกษาเรื่องโบราณของจีนแล้วสิ่งที่ทำไปจึงคือ การอ่านงานที่เป็นภาษาจีนควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษและภาษาไทย (บางเล่มที่ได้รับการแปล)

การอ่านแบบนี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบงานทั้งสอง (หรือสาม) ภาษาไปด้วยในตัว อันมีผลดีตรงที่ช่วยขยายความเข้าใจได้มากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อจะต้องนำสิ่งที่ตนอ่านมาเขียนเป็นภาษาไทยแล้วควรใช้คำใดจึงจะเหมาะสม เพื่อให้ได้ทั้งรสความและรสคำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จนบ่อยครั้งที่จนปัญญาก็ต้องพึ่งพาผู้รู้อยู่เสมอ ความกรุณาที่ผู้รู้มอบให้นี้จึงอยู่ในความรำลึกและรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณมาจนทุกวันนี้

จากเหตุนี้ หากใครที่อ่านงานเรื่องจีนของตนเองแล้วพบว่ามีศัพท์บัญญัติใหม่ที่ฟังดูแปลกแปร่งแล้ว ก็พึงเข้าใจด้วยว่ามีที่มาจากที่กล่าวมานี้

 

งานศึกษาเรื่องจีนในยุคโบราณดังกล่าวต่อมาคือผลงานเรื่อง จีนยุคบุราณรัฐ ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น นอกจากจะทำให้พบประเด็นเกี่ยวกับผลงานแปลดังกล่าวแล้วก็ยังพบอีกว่า เรื่องโบราณของจีนนั้น มีรายละเอียดมากมายนัก

แต่ละรายละเอียดนอกจากจะซับซ้อนแล้วก็ยังพบอีกว่า หากจะตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ของคนจีนเพื่อหาว่าเป็นชนชาติฮั่น (จีน) แท้ๆ หรือไม่แล้ว ผลที่ออกมาคงระบุได้ยาก

เพราะจากยุคโบราณเรื่อยมาจนปัจจุบัน ชนชาติฮั่นได้นำตนไปผสมผสานทางชาติพันธุ์กับชนชาติอื่นมาอย่างยาวนาน จนยากที่จะหาใครที่เป็นชนชาติฮั่นผ่านสารพันธุกรรมแบบบริสุทธิ์ได้อย่างแท้จริง

ซ้ำในบางช่วงบางสมัยยังพบอีกว่า แม้แต่บุคคลที่เป็นชนชั้นนำ (กษัตริย์ จักรพรรดิ ขุนนาง หรือขุนศึก) บางคนก็ยังมีภูมิหลังที่ผสมผสานกับชนชาติพันธุ์อื่นด้วยเช่นกัน เป็นต้น

เหตุฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าฮั่นทุกวันนี้แม้จะเป็นการเรียกทางชาติพันธุ์ และเรียกเพื่อแยกให้เห็นความต่างกับชนชาติที่มิใช่ฮั่นก็ตาม แต่ในอีกนัยหนึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นการเรียกที่มีวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย คือวัฒนธรรมจะเป็นตัวชี้ว่าบุคคลใดคือชนชาติใด

หากบุคคลหนึ่งมีภูมิหลังว่ามิใช่ชนชาติฮั่น แต่บุคคลนี้ตั้งใจที่จะละวัฒนธรรมเดิมของชนชาติตน แล้วหันมารับเอาวัฒนธรรมของชนชาติฮั่นมาใช้อย่างจริงจัง บุคคลนั้นก็จะถูกเข้าใจว่าเป็นชนชาติฮั่นไปด้วย จนเมื่อบุคคลนั้นได้สืบสายกระจายพันธุ์ของตนไปอีกหลายรุ่น ชนรุ่นหลังก็จะกลายเป็นชนชาติฮั่นไปในที่สุด ทั้งที่กำเนิดทางสายเลือดแล้วมิใช่ชนชาติฮั่นเลย

ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างความรู้ที่ได้รับในขณะศึกษาเรื่องจีนโบราณ จากความรู้ที่ได้มาอีกมากจนมิอาจสาธยายได้

 

อย่างไรก็ตาม งานเรื่อง จีนยุคบุราณรัฐ นี้ได้ใช้เวลาในการศึกษาอยู่หลายปี ระหว่างนั้นเงื้อมเงาของเสรีนิยมใหม่ค่อยๆ แผ่คลุมแวดวงวิชาการมากขึ้นและกว้างขึ้น

การแผ่คลุมนี้มีทั้งที่รู้ตัวบ้างและไม่รู้ตัวบ้าง จนเมื่อเสร็จงานชิ้นนี้แล้วจึงพบว่า เงื้อมเงานี้ได้ปกคลุมตัวเองจนหนีไม่ได้อีกแล้ว

แต่ถึงตอนนั้นโชคชะตาก็เดินมาถึงช่วงแห่งการเกษียณอายุราชการพอดี

โชคชะตาเช่นนี้นับว่าดีต่อใจตรงที่ไม่ต้องอยู่กับเสรีนิยมใหม่อีกต่อไป

และในส่วนที่ไม่ดีต่อใจก็อยู่ตรงที่มิอาจคาดการณ์ได้ว่า ภายใต้เงื้อมเงาของเสรีนิยมใหม่นี้จะทำให้อนาคตของโลกวิชาการรุ่งโรจน์หรือเสื่อมถอย โดยเฉพาะโลกวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ส่วนตัวเองที่รอดจากเงื้อมเงาที่ว่าในโลกวิชาการมาได้ก็จริง แต่ก็รู้ตัวดีว่าแม้กระนั้นก็ยังอยู่กับเงื้อมเงานี้ในโลกอื่นที่มิใช่วิชาการเช่นกัน ซึ่งก็คือโลกในชีวิตจริงในแต่ละวัน ที่เป็นเช่นนี้ก็ดังได้กล่าวไปแล้วแต่ต้นว่า รัฐไทยเองก็สมาทานเสรีนิยมใหม่มานานนับสิบปีแล้วเช่นกัน

ไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร ทุกรัฐบาลล้วนมีนโยบายที่มีหลักคิดเสรีนิยมใหม่รองรับทั้งสิ้น

สิ่งที่เหลือสำหรับตัวเองจึงคือ การไม่ทอดทิ้งหรือวางมือไปจากการศึกษาเรื่องจีนแม้จะเกษียณไปแล้วก็ตาม แต่จะทำได้อีกยาวนานเพียงใดหรือทำได้ดีหรือไม่ดีย่อมต้องแล้วแต่บุญแต่กรรม

 

เสมอเพียงนักเรียนน้อยเสมอมา

ชีวิตที่มีอาชีพทางวิชาการด้านจีนศึกษาจากที่กล่าวมาโดยตลอดนี้ ทำให้เห็นถึงภาวะที่ไม่ต่างกับการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง นั่นคือภาวะอันเป็นอนิจลักษณ์ ภาวะนี้ไม่ต่างกับชีวิตของมนุษย์ที่ย่อมมีขึ้นมีลง ฉันใดก็ฉันนั้น

ภาวะนี้อาจจะเห็นได้จากเรื่องหนึ่งคือ บทความเรื่องจีนที่ได้เขียนมายาวนานทั้งตอนที่เป็นนักเขียนประจำและไม่ได้เป็นนั้น พอเวลาผ่านไปหลายปีจึงได้นำมารวบรวมเสนอสำนักพิมพ์ให้ตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม

เล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์ให้ชื่อว่า บูรพาแดงเปลี่ยนสี (สำนักพิมพ์มติชน, 2542) หลังจากเล่มนี้ผ่านไปอีกหลายปี เรื่องของจีนเริ่มเป็นที่สนใจในหมู่คนไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

คงด้วยเหตุนี้หรือไม่ไม่อาจทราบได้เมื่อปรากฏว่าได้มีสำนักพิมพ์มาขอให้คัดสรรและรวบรวมต้นฉบับบทความเหล่านี้เพื่อตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม

ตอนที่คัดสรรนี้ทำให้พบว่ามีบทความที่พ้นสมัยอยู่จำนวนหนึ่ง จึงได้คัดทิ้งไปไม่นำมาตีพิมพ์ใหม่ ทั้งนี้ยังไม่รวมบทความทั้งที่เป็นเรื่องจีนและมิใช่เรื่องจีนอีกนับร้อยชิ้นที่สูญหายไป

สูญหายเพราะเครื่องคอมพิวเตอร์เกิดเสียหายจนมิอาจกู้ข้อมูลกลับคืนมาได้

 

กล่าวเฉพาะบทความที่คัดสรรมาได้แล้วนี้ทำให้เห็นว่า ในเวลาหนึ่งเรื่องที่เขียนอาจเป็นเรื่องที่เหมาะกับเวลาหนึ่ง แต่ครั้นผ่านไปอีกเวลาหนึ่งเรื่องที่ว่านี้ก็ไม่เหมาะเสียแล้ว คืออ่านอย่างไรก็มิอาจเข้าใจได้หากไม่เขียนขยายความ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียเวลาโดยใช่เหตุ

อนิจลักษณ์ในประการดังกล่าวทำให้เกิดข้อสังเกตขึ้นด้วยว่า หากเป็นบทความที่อธิบายปรากฏการณ์ผ่านหลักคิดในทางสังคมศาสตร์แล้ว บทความนั้นจะไม่ล้าสมัย คืออ่านเมื่อไรก็อ่านได้ด้วยความเข้าใจ

ไม่เหมือนกับบทความเรื่องจีนที่ตนเขียนบางเรื่องที่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งๆ อันเป็นช่วงที่เรื่องนั้นกำลังเป็นข่าวในกระแส เมื่อเขียนไปแล้วผู้อ่านย่อมเข้าใจเรื่องนั้นได้มากขึ้น แต่พอเวลาผ่านไปหลายๆ ปีแล้วกลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่งก็พบว่า นั่นเป็นบทความเฉพาะกิจเฉพาะเวลา และกลายเป็นเรื่องที่คนในเวลาปัจจุบันอ่านไม่รู้ความเสียแล้ว

ภาวะอนิจลักษณ์ในประการต่อมาคือ เมื่อรวบรวมคัดสรรแล้วเสร็จก็ปรากฏเป็นหนังสือเล่มสามเล่มคือ ศตวรรษจีน (สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์, 2549) จีนในกระแสโลกาภิวัตน์ (สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์, 2550) และ จีนแผ่นดินที่ 5 (สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์, 2556) เป็นอันว่าเรื่องจีนที่ได้เขียนติดต่อกันมายาวนานทั้งในฐานะนักเขียนประจำและไม่ประจำ และเขียนกระจายไปตามสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ นานสิบกว่าปีก็มิได้สูญเปล่า เพราะได้มีการนำมารวมตีพิมพ์เป็นเล่มได้สี่เล่ม

ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคืออนิจลักษณ์ในเรื่องนี้?

ที่ว่าเป็นอนิจลักษณ์ก็คือว่า ผลงานทั้งสี่เล่มดังกล่าวก็ดี หรือผลงานรวมบทความก่อนหน้าสี่เล่มนี้ก็ดี ล้วนถูกตีพิมพ์โดยความเห็นชอบของสำนักพิมพ์ หรือไม่ก็ด้วยสำนักพิมพ์เป็นผู้ขอนำไปตีพิมพ์ ที่เป็นเช่นนี้ก็คงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นที่สนใจของผู้อ่านและน่าที่จะขายได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งฝ่ายเจ้าของต้นฉบับและสำนักพิมพ์

แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงก็มาถึงในวันหนึ่ง เมื่อโลกดิจิตอลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และทำให้โลกหนังสือเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้คนหันไปอ่านสิ่งที่โลกดิจิตอลยื่นให้แทนการอ่านหนังสือ จนทำให้หนังสือรายประจำที่ตีพิมพ์มานับสิบปีหรือหลายสิบปีต้องปิดตัวเองลงหลายฉบับ

และที่ยังยืนอยู่ได้ก็มิรู้ว่าจะอยู่ได้อีกนานเพียงใด

ส่วนหนังสือเล่มที่ยังไปได้โดยมากมักเป็นประเภทบันเทิงคดี ในขณะที่หนังสือประเภทที่มีเนื้อหาจริงจังหรือวิชาการและกึ่งวิชาการนั้น หากมิใช่เป็นตำราที่ผู้เรียนต้องใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วก็ยากที่จะได้รับการตีพิมพ์