“หนุ่มเมืองจันท์” ว่าด้วย ให้อภัย ดูหนังไป ก็คิดถึง ทักษิณ-บิ๊กบัง-คตส.

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนผมนั่งดูหนังแผ่นเรื่อง THE INTERORETER ที่ “นิโคล คิดแมน” เล่นคู่กับ “ฌอน เพนน์”

เป็นเรื่องราวของล่ามสาวประจำองค์การสหประชาชาติแอบไปได้ยินแผนการลอบสังหารผู้นำประเทศหนึ่งในแอฟริกา

เคยดูมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ตอนนั้นดูด้วยความสนุกตื่นเต้นอย่างเดียว

แต่ดูใหม่ครั้งนี้ ผมดูอย่างละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม

และที่หยิบแผ่นนี้มาดูซ้ำ เพราะมีเรื่องราวบางตอนในเรื่องที่ติดค้างอยู่ในความทรงจำ

แต่จำรายละเอียดไม่ได้

ครั้งนี้ผมจึงย้อนกลับไปดูช่วงนั้นซ้ำหลายครั้ง

เป็นเรื่องกฎการลงโทษฆาตกรของชาวคูที่มาโตโบ

ไม่ต้องสงสัยว่าประเทศนี้อยู่ตรงไหนของแผนที่โลก

มันเป็นประเทศสมมุติในหนังครับ

“นิโคล คิดแมน” เล่าเรื่องกฎของชาวคูให้ “ฌอน เพนน์” ฟัง

เธอบอกว่าชาวคูเชื่อว่ามีหนทางเดียวที่จะปลดตนเองออกจากบ่วงเศร้า

คือ การช่วยชีวิตคน

ถ้าคนที่เรารักถูกฆ่า

ฆาตกรจะถูกจับขังเป็นเวลา 1 ปี

หลังจากนั้น 1 ปีอันทุกข์ตรมจะสิ้นสุดด้วยพิธี “วายชนม์พิพากษ์”

เริ่มต้นด้วยงานเลี้ยงริมแม่น้ำตลอดทั้งคืน

รุ่งเช้า ฆาตกรจะถูกนำมาขึ้นเรือพาไปโยนทิ้งกลางแม่น้ำ

มัดมือและเท้าไว้ ไม่ให้ว่ายน้ำได้

ครอบครัวของผู้ตาย จะเป็นผู้พิพากษา

เขาเป็นคนกลุ่มเดียวที่มีสิทธิเลือกว่าจะปล่อยให้ฆาตกรจมน้ำตาย

หรือว่าจะว่ายน้ำออกไปช่วย

ชาวคูเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้ฆาตกรจมน้ำตาย

…ยุติธรรม

1 ชีวิต แลกกับ 1 ชีวิต

แต่ครอบครัวนี้จะต้องติดอยู่ใน “บ่วงเศร้า” ไปตลอดชีวิต

เป็น “บ่วงเศร้า” ที่เกิดจากปล่อยชีวิตหนึ่งจมลงไปใต้ผิวน้ำ

ทั้งที่เราเป็นคนเดียวที่มีสิทธิช่วยให้เขารอดได้

แต่ถ้าเขาเลือกที่จะลงไปช่วยฆาตกร

นั่นคือ การยอมรับว่าชีวิตนี้มี “ความอยุติธรรม”

แต่ชีวิตของเขาจะพ้นจาก “บ่วงเศร้า” ไปตลอดกาล

interpreter_cd_front_cover

การตัดสินใจครั้งนี้มีเพียง 2 ทางเลือก

คือ “ความยุติธรรม” กับ “บ่วงเศร้า” ของชีวิต

แม้จะดู “ดิบ” แต่ก็คมคายอย่างยิ่ง

ทั้งการปล่อยเวลาให้ผ่านไป 1 ปีแทนที่จะพิพากษาทันที

เพราะรู้ว่าถ้าให้ครอบครัวผู้ตายตัดสินใจ ณ เวลานั้น

“ความแค้น” คงจะท่วมหัวใจ

แต่การปล่อยเวลาให้ผ่านไป 1 ปี

ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะเริ่มตกผลึก

วิธีการพิพากษาก็น่าสนใจ เพราะให้คนที่เสียหายเป็น “ผู้เลือก”

เป็นการบอกว่าโลกนี้มี “ทางเลือก” มากกว่าหนึ่งเสมอ

และทุกการตัดสินใจมี “รายรับ-รายจ่าย”

ถ้าเลือกให้ฆาตกรตายตกไปตามกัน

เขาก็จะรู้สึกเศร้าไปตลอดชีวิตที่ปล่อยให้ชีวิตหนึ่งจมหายไปกับสายน้ำ

แต่ถ้าเลือกปล่อยฆาตกรให้พ้นจากความตาย

นั่นคือ การยอมรับว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม

“ฆาตกร” ยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกนี้

แต่คนที่เรารักไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว

เมื่อ “จ่าย” เรื่องนี้ไป แต่เขาก็ได้ “รับ” อีกสิ่งหนึ่งมาทดแทน

เขาได้ปลดปล่อยความเศร้าที่เกาะกุมจิตใจ

…จบเสียที

ชาวคูนั้นเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะปลดตนเองจากบ่วงเศร้า ก็คือ การช่วยชีวิตคนอื่น

และเมื่อ “คนอื่น” ที่เขาช่วยคือ “ฆาตกร” ที่ฆ่าคนในครอบครัวของเขา

การเลือกเส้นทางนี้ นั่นคือ การให้อภัยแก่ศัตรู

ไม่เพียงแต่เป็นการชำระล้างจิตใจที่ยิ่งใหญ่

แต่ยังเป็นการตัดสินใจที่ “กล้าหาญ”

…ไม่ใช่ “อ่อนแอ”

ครับ คนที่ใหญ่จริง ต้องกล้าให้อภัย

 

ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองไทย

นึกถึง “ทักษิณ ชินวัตร”

นึกถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

นึกถึง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ฯลฯ

ถ้าเปลี่ยนเมืองไทยเป็น “มาโตโบ”

ผมไม่รู้ว่าใครจะโดนมัดมือมัดเท้าแล้วโยนลงน้ำ

ผมไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นผู้พิพากษา

ชาวคูให้เวลา 1 ปีสำหรับครอบครัวผู้ตายและฆาตกร

แต่เมืองไทยให้เวลา 1 ปี 4 เดือน

วันนี้ความคิดของแต่ละฝ่ายคงจะตกผลึกแล้ว

ผมเชื่อเสมอว่าโลกนี้ไม่ได้ “ยุติธรรม” เสมอไป

ที่สำคัญ “ความยุติธรรม” ไม่ได้ทำให้โลกนี้สงบร่มเย็น

“การให้อภัย” ต่างหากที่ทำให้คนในโลกนี้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข

อย่าให้ “ความแค้น” มาบดบัง “ความเมตตา”

รู้ไหมครับว่าชาวคูนิยามคำว่า “ความแค้น” ไว้ว่าอย่างไร

“ความแค้น คือ ความเศร้าที่ตกตะกอน”

อย่าแปลกใจที่ทุกครั้งเมื่อผมเริ่มรู้สึกเศร้า

ผมจะเปิดเพลง “ยาพิษ” ของ “บอดี้แสลม”

แล้ว…โดด

ผมกลัว “ความเศร้า” จะตกตะกอนครับ