มุกดา สุวรรณชาติ : ดูการเมืองหลัง 2490 ก่อนเดาการเมืองหลัง 2560 (จบ)

ตอน 1

เผด็จการผลัดเปลี่ยนหน้าถึง 25 ปี…
พรรคการเมืองหมดกำลัง

รัฐบาลจอมพล ป. เป็นรัฐบาลทหารที่เข้มแข็ง มีอำนาจ แต่ก็ต้องการกระชับอำนาจ เพราะไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ จึงมีการรัฐประหารตัวเอง ในเดือนพฤศจิกายน 2494 เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 และใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ฉบับ 10 ธันวาคม

ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดทางให้มีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง โดยทั้งสองประเภทมีอำนาจเท่ากัน ส.ส. ประเภทแต่งตั้งจึงเป็นตัวช่วยรัฐบาล

ในปีถัดมาจึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2495 ออกมาใช้

ผลของการรัฐประหาร 2494… ทำให้ทหารสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่ต้องออกจากข้าราชการประจำ คือคุมกำลังและเป็นรัฐมนตรีไปพร้อมกัน

คำถามคือ… การเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร และแปลงระบบให้เข้ากับอำนาจ สามารถเปิดช่องให้สืบทอดอำนาจในยุคใหม่ได้หรือไม่?

พอถึงปี 2500 จอมพล ป. ก็ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลูกน้องเก่าทำการรัฐประหารภายใต้การบงการของอเมริกา

จอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่นและไม่กลับมาเช่นเดียวกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

ส่วนบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีอีกเลยในยุคเผด็จการของ จอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์

คนที่ต่อสู้และถูกจับกุมจะเป็นพวกสื่อมวลชนหัวก้าวหน้า นักข่าวนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนหัวก้าวหน้า พวกหัวสังคมนิยม คนของพรรคคอมมิวนิสต์

คนเหล่านี้จำนวนมากถูกจับไปขังคุก ตั้งแต่ 2495 ที่เรียกว่ากบฏสันติภาพ ต่อเนื่องถึงยุคสฤษดิ์ ในยุคนั้นใครไปติดต่อกับประเทศจีนก็ถูกจับ ติดต่อกับเวียดนามก็ถูกจับ กฎหมายคอมมิวนิสต์แรงมาก การใส่หมวกดาวแดง ใส่เสื้อปักรูปค้อนเคียว เป็นความผิดทั้งสิ้น

จนถึง 2512 จึงมีการเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็ลงสนามและได้รับการต้อนรับให้เป็นพรรคฝ่ายค้าน

กลุ่มเผด็จการได้เป็นพรรครัฐบาลมีอำนาจมากมาย แต่ก็ทนไม่ได้กับระบบรัฐสภาซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่าง มีข้อเรียกร้องของ ส.ส. สารพัด

ผลสุดท้ายก็ทำการรัฐประหารตัวเองล้มระบบรัฐสภา ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการต่อไป

แต่ก็ทำต่อไปได้เพียง 2 ปีเพราะประชาชนทนไม่ได้ 14 ตุลาคม 2516 นักเรียนนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและโค่นล้มระบบถนอม-ประภาสลง

จาก จอมพล ป. 2491 ถึงจอมพลถนอม 2516 คือบทเรียน 25 ปี

สถานการณ์สามก๊ก 2560 กำลังเปลี่ยนไป
เหมือนหลังปี 2490??

ปัจจุบันสภาพที่คล้ายกันคือพรรคเพื่อไทยกับพรรค ปชป. หลังจากสู้กันมาหลายปีตอนนี้ก็อ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปทั้งคู่

อนาคตข้างหน้า ผู้ที่น่าจะได้รับชัยชนะจากโครงสร้างอำนาจปัจจุบันจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจากกลไกอำนาจรัฐ การสนับสนุนทางเศรษฐกิจ คือพรรค ส.ว. และผู้สนับสนุนจะกลายเป็นตาอยู่

แต่จะปกครองประเทศได้นานเท่าไหร่ยังไม่รู้

เพราะโลกยุคปัจจุบันคือปี 2560 มีความแตกต่างกับหลังปี 2490 อย่างมาก

ความคล้ายขององค์ประกอบทางการเมือง
ยุคหลัง 2490 และ 2560

1.มีลักษณะเป็นการรวมศูนย์อำนาจแบบระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง

2. มีรัฐธรรมนูญที่มาจากการร่าง ภายใต้อำนาจคณะรัฐประหาร มีเป้าหมายทางการเมือง อย่างมีขั้นตอน รายละเอียด ทั้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก

3. มีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน ไม่มีพรรคใหญ่ รัฐบาลจะประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค การเลือกตั้งปี 2560 เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ จะอยู่ที่ 280-300 ในยุค 2490 จะมี ส.ส. อิสระไม่ต้องสังกัดพรรค ที่สนับสนุนผู้มีอำนาจ

4. มีวุฒิสภาซึ่งมี ส.ว. มาจากการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจ ส.ว. ที่สนับสนุน จะมาจากการแต่งตั้งและสรรหาทั้งหมด ทำให้อำนาจวุฒิสภารวมศูนย์ไปทางเดียว จำนวน ส.ส. หรือ ส.ว.แต่งตั้ง มากพอที่จะชี้ขาดให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้

การตั้งรัฐบาล หลังปี 2560 เป็นการเลือกจากรัฐสภา จะมีเสียงหนุนจาก ส.ส. 280-300 และ ส.ว. 250 ทำให้รวมกันเกินกว่า 500 เสียง รัฐบาลจะต้องเป็นคนที่ ส.ว. สนับสนุน

5. การมีอำนาจทางทหารหนุนหลัง

สิ่งที่เป็นปัจจัยเพิ่มเติมในยุค 2560 คือ

1. มีองค์กรอิสระหลายองค์กร มีศาลหลายศาล ถ้าอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังการเลือกตั้ง การใช้กฎหมายและดุลพินิจ กดดันฝ่ายบริหารชุดใหม่ก็ยังคงทำได้ ขึ้นอยู่ว่าใครเป็นผู้บริหาร

2. มีสงครามเพื่อสู้กันทางการเมืองบนสื่อ ทั้งผ่านจอ ผ่านกระดาษ ซึ่งปัจจุบันเป็นแนวรบใหญ่สุด และมีขึ้นตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่มีขอบเขต ไม่มีพรมแดน

3. พลังมวลชนก้าวหน้า ซึ่งปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าสมัย 2490 มาก และมีความเข้มข้นทางการเมืองสูงจนอาจเป็นอำนาจพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่ากลุ่มอำนาจทุกกลุ่ม แต่การจะใช้พลังส่วนนี้ไปพัฒนาและสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง ต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 3-4 ปี

แต่ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมือง หรือความรุนแรงที่บีบคั้นมากๆ พลังส่วนนี้จะแรงไปตามสถานการณ์ทันที

และคาดว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดควบคุมได้

อนาคตเต็มยังไปด้วย อุปสรรค…ขวาก…หนาม
แต่วิวัฒนาการทางสังคมบังคับให้ทุกคนเดินต่อไป

สองฉบับก่อนได้พูดถึงข้อเสนอของกลุ่มเคลื่อนไหว ร.ศ.103 ซึ่งเสนอมาตั้งแต่ 9 มกราคม พ.ศ.2427 ที่บอกว่าเป็นข้อเสนอที่มองการณ์ไกลล่วงหน้า 100 ปีก็เพราะว่าจนถึงบัดนี้ทิศทางเหล่านั้นล้วนเป็นจริง และมีการต่อสู้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้นอย่างต่อเนื่องยุค 2490 และ 2560 เป็นเพียงการต่อสู้สองช่วงเวลา แต่เส้นทางประชาธิปไตยเริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่ 2427

2427 ถึง 2475 คือ 48 ปี…ถึง 2490 คือ 63 ปี…ถึง 2516 คือ 89 ปี…ถึง 2560 คือ 133 ปี

ข้อเสนอเหล่านั้น มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

1. จาก absolute monarchy ก็เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy

2. ข้อเสนอให้มี cabinet หรือคณะรัฐมนตรี มาบริหารบ้านเมืองก็เป็นจริงและมีการต่อสู้แย่งชิงการเป็น cabinet จนถึงทุกวันนี้

3. ให้มีการร่างกฎมณเฑียรบาลเพื่อใช้เป็นกฎหมายในการสืบสันตติวงศ์ก็เป็นจริงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

4. ข้อเสนอให้มีกฎหมายให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างเสมอภาคก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สำเร็จต้องพัฒนาต่อไป

5. ข้อเสนอที่จะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นให้มีหนังสือพิมพ์ก็ได้เริ่มขึ้นและพัฒนามาเป็นหนังสือพิมพ์ยุคใหม่และมาสู่การสื่อสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านหน้าจอในทุกวันนี้และวันนี้ก็ยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในเรื่องนี้กันอยู่ แต่มิได้เป็นแค่เนื้อหา ยังครอบคลุมไปถึงวิธีการ และขอบเขต ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น single gate way และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

6. ข้อเสนอให้ปราบคอร์รัปชั่นก็เป็นจริงและยังต้องต่อสู้เรียกร้องจนถึงทุกวันนี้

ข้อเสนอทั้งหมดถูกยื่นมาตั้งแต่ 9 มกราคม 2427 ถึงวันนี้ 133 ปีพอดี แม้มีอุปสรรค แต่ก็พัฒนาไปข้างหน้า ผ่านทั้งการปฎิรูป และการปฏิวัติ ต้องโต้กระแสทวน ต้องแลกด้วยชีวิต และอิสรภาพ ข้อเสนอทุกข้อดูเหมือนจะยังไม่บรรลุเป้าหมายยังต้องมีการต่อสู้และวิวัฒนาการต่อไป