ส่องสถานการณ์ “ปี 2560” ปัจจัยขยับโรดแม็ป “รบ.-คสช.”

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

โรดแม็ปและสถานการณ์ทางการเมืองภายใต้สถานการณ์พิเศษ โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ คสช. เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ

ถึงวันนี้รัฐบาลและ คสช. ใช้เวลาบริหารประเทศไปแล้วกว่า 2 ปี และกำลังดำเนินเข้าสู่ปีใหม่ พ.ศ.2560

หากยึดตามโรดแม็ปการบริหารประเทศของ คสช. ที่ประกาศไว้เมื่อครั้งเข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ ต้องถือว่าโรดแม็ปการบริหารประเทศของ คสช. กำลังเข้าสู่ในระยะที่ 3

นั่นคือ การรอร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ออกแบบโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และผ่านการทำประชามติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 โปรดเกล้าฯ และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการจัดการเลือกตั้ง

เพราะทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่รับผิดชอบในการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” ทั้ง 10 ฉบับ ภายในระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน ก็เดินหน้ายกร่างจัดทำกฎหมายลูกกันอย่างเต็มที่

โดยกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … กับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. พ.ศ. … กับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. … กรธ. จะต้องเร่งดำเนินการ

และส่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้เสร็จภายในกรอบ 60 วัน เพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ ตามโรดแม็ปของ คสช. ที่ประกาศไว้ในช่วงปลายปี 2560

AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

หากแต่ว่ายังมีเหตุและปัจจัยที่อาจจะเป็น “ตัวแปร” สำคัญอันอาจจะส่งผลต่อให้โรดแม็ปการบริหารประเทศของ “รัฐบาล” และ “คสช.” เป็นต้อง “เขยิบ” และ “ขยับ” ไปจากกำหนดการเดิม นั่นคือ การเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2560 ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทั้งภายนอกและภายในที่ รัฐบาลและ คสช. จะต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน หลายต่อหลายเรื่อง

เริ่มจากปัจจัย เรื่อง “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559” ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ในการชี้ทิศทางและโรดแมปในการจัดการเลือกตั้ง เนื่องด้วยการพิจารณากฎหมายลูกของ “กรธ.” และ “สนช.” ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ล้วนต้องรอให้รัฐธรรมนูญ โปรดเกล้าฯ และมีผลบังคับเสียก่อน

เพราะเมื่อนายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ตามกรอบเวลา 90 วัน ในกระบวนการลงพระปรมาธิไธยโปรดเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะครบกำหนดในห้วงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560

จากนั้นกระบวนการจัดทำกฎหมายลูกเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ถ้าคำนวณตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้สูงสุด ต้องใช้เวลาอีก 15 เดือน จึงจัดเลือกตั้งได้

ช่วงเวลาเลือกตั้งจึงตกอยู่ประมาณกลางปีหรือเกือบกลางปี 2561

การที่จะให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็ปเดิมคือปลายปี 2560 ทางออกจึงอยู่ที่ระยะเวลาการจัดกฎหมายลูก ที่ทั้ง กรธ. และ สนช. จะต้องใช้เวลาจัดทำแบบไม่เต็มโควต้าที่ประมาณการไว้คือ 15 เดือน

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ขณะที่ปัจจัยเรื่อง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องถือเป็นวาระร้อนของ รัฐบาลและ คสช. ที่จะต้องเผชิญในปี 2560 เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่และกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลทหาร ที่โพลแทบทุกสำนักสะท้อนผ่านออกมาตรงกันว่า ประชาชนต่างเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นโดยเร็ว อันจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศด้วยว่าจะเติบโตได้ตามการวิเคราะห์และคาดการณ์ของรัฐบาลได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาล ประเด็นสำคัญย่อมมีผลมาจากความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้น หากโรดแม็ปการเลือกตั้งเป็นอันต้องเลื่อนไปช่วงปี 2561 แน่นอนย่อมส่งผลต่อการไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA
AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ส่วนเรื่องคดีความที่เชื่อมโยงในทางการเมือง เป็นอีกปัจจัยที่รัฐบาลและ คสช. จะต้องเผชิญ ทั้งคดีที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวที่เกี่ยวข้องกับอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทั้งคดีแพ่งที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง มีมติให้เรียกค่าเสียหาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ 35,717 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าความเสียหาย 178,586 ล้านบาท ส่วนความเสียหายในส่วนอื่นจะเรียกเก็บจากข้าราชการและคนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่คดีอาญาที่อยู่ในชั้นการสืบพยานจำเลยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็งวดเข้ามาเรื่อยๆ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งผลการตัดสินคดีในโครงการรับจำนำข้าว ไม่ว่าจะออกมาในทางบวกหรือลบ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อบรรยากาศทางการเมืองอย่างแน่นอน

 AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ไม่นับรวมคดีความของวัดพระธรรมกาย ที่เกี่ยวข้องผูกโยงไปหลายคดีของพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองของรัฐ ในการติดตามตัวพระธัมมชโย มาดำเนินการตามกฎหมาย แม้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะขีดเส้นใต้ ไม่รู้ต่อกี่เส้นในการเข้าไปจับกุมตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดี

แต่จนแล้วจนรอดฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่กล้าใช้มาตรการแตกหักฝ่าด่านศิษยานุศิษย์และญาติธรรมของวัดพระธรรมกายที่เปรียบเสมือนโล่มนุษย์ เข้าไปจับกุมตัวพระธัมมชโยมาเข้าสู่กระบวนยุติธรรมได้เต็มรูปแบบ

แรงเสียดทานจึงย้อนกลับมายังเจ้าหน้าที่รัฐว่าไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้

สะท้อนไปถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและ คสช. ที่ประกาศคำศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า คดีความต่างๆ ต้องว่าไปตามกฎหมาย ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

สถานการณ์การเมืองไทยในปี 2560 จึงเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่านประเทศ ที่ “รัฐบาล” และ “คสช.” จะส่งไม้ต่อให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ราบเรียบเพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม