วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ขยายงานจากรายวันเพิ่มรายสัปดาห์

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์   

ขยายงานจากรายวันเพิ่มรายสัปดาห์

บอกไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า เมื่อมีนักข่าวเพิ่ม มีที่ปรึกษาเพิ่ม ชาวมติชนไม่แต่เพียงอบอุ่นเท่านั้น ยังอิ่มท้องอีกด้วย แล้วไปว่าถึงที่ปรึกษาอีกบางคน ทั้งยังมีที่ปรึกษาและนักข่าวต่อเนื่องอีกหลายคน

ห้องโถงสำนักงานแห่งใหม่ 4 ห้อง บรรจุกองบรรณาธิการมติชนเกิน 20 คน ยังไม่รวมนักข่าวที่วิ่งเข้าวิ่งออก โดยเฉพาะนักข่าวที่ทำข่าวละแวกกระทรวงมหาดไทย กรมแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทย กระทรวงการคลัง และบางหน่วยงานที่ตั้งในสำนักพระราชวัง

ทั้งยังตั้งโต๊ะกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจประมาณพื้นที่ 4 x 5 เมตร มุมหนึ่ง ขณะต้องเพิ่มหน้าเพิ่มข่าว และเพิ่มหัวหน้าข่าวและนักข่าวขึ้นอีกหลายคน บางคนปฏิบัติหน้าที่ทั้งข่าวเศรษฐกิจมติชนและประชาชาติธุรกิจ บางคนปฏิบัติหน้าที่เฉพาะประชาชาติธุรกิจฉบับเดียว เนื่องจากเป็นข่าวเฉพาะด้านการเงินการคลัง และการธนาคาร ซึ่งเป็นข่าวใหม่ที่นักข่าวยังไม่ค่อยคุ้น ทั้งผู้สื่อข่าวด้านนี้แทบว่าจะไม่มี

เมื่อรับสมัครนักข่าวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการเงิน การคลัง การธนาคาร ได้มาแล้ว ต้องฝึกอบรมกันใหม่ ด้วยศัพท์แสงด้านนี้เป็นศัพท์เฉพาะ

ถึงขนาดว่า ผู้ใหญ่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องหารือกับนักข่าวสายนี้ที่พอจะคุ้นเคยกันบ้างว่า ขอฝึกอบรมให้นักข่าวสายนี้รู้จักและคุ้นเคยกับศัพท์แสงและความเป็นไปด้านนี้ เพื่อจะได้พูดจากันรู้เรื่อง เมื่อว่าอะไรออกไปแล้วเข้าใจ ไม่ต้องถามซ้ำ หรือไม่รู้เรื่อง

 

“มติชน” เปิดรับสมัครนักข่าวเศรษฐกิจ โดยระบุชัดเจนว่า ไม่ต้องจบการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ แต่หากจบด้านเศรษฐศาสตร์ หรือธุรกิจ จะพิจารณาเป็นพิเศษ

รัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ คือบรรณาธิการข่าวผู้ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะทั้งประชาชาติธุรกิจและหน้าข่าวเศรษฐกิจมติชนซึ่งหนังสือพิมพ์มติชนเปิดหน้าข่าวนี้เต็มที่เป็นฉบับแรกๆ ทั้งยังขอให้ “ผู้ชำนาญ” ของธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดอบรมนักข่าวด้านนี้เป็นพิเศษ

หลังจากนั้นได้ผลดีทีเดียว ทำให้ข่าวเศรษฐกิจธุรกิจ โดยเฉพาะข่าวด้านการเงินการธนาคารของทั้งประชาชาติธุรกิจและมติชนเดินหน้าไปด้วยดี ถึงขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งเป็นประจำ

ทั้งข่าวและวิเคราะห์หน้าใน เป็นที่เชื่อถือของนักธุรกิจ นักการธนาคารตลอดมา

 

ด้านถัดมาของกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ซึ่งกินที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด ที่ตั้งโต๊ะสำหรับบรรณารักษ์ตัวหนึ่ง แล้วตั้งตู้ใส่หนังสือกับแฟ้มข่าว 3 ด้าน ข้างหลังของตู้หนังสือเป็นหลืบซอกกว้างประมาณ 1 เมตร “เจ๊วิภา สุขกิจ” ขอเป็นพื้นที่ “ครัว” หุงข้าวจากหม้อไฟฟ้า ต้มแกง อุ่นอาหารที่ซื้อมาจากข้างนอก หรือปรุงอาหารประเภทไม่ต้องใช้ความร้อน เช่น น้ำพริก

ตรงนี้แหละที่ทำให้พวกเรา “โต๊ะข่าว” มีอาหารเย็นกินกันพออิ่มไปถึงค่ำ จะได้พิมพ์ข่าวปิดข่าวหน้า 1 และบางหน้าไม่ต้องพักออกไปหาอาหารกินนอกบริษัท หรือแขวนท้องไปถึงค่ำ

ก่อนหน้านั้นมีข้าวแกงผูกปิ่นโต “รามา” ซึ่งคุณบุญชู โรจนเสถียร เป็นผู้ริเริ่ม เปิดกิจการใหญ่โต พวกเรารวมกัน 7-8 คน ออกเงินกันคนละพอสมควร สั่งอาหารปิ่นโต “รามา” สองเถา สำหรับมื้อเย็น กินกันมากกว่า 7-8 คน ทั้งหุงข้าวจากหม้อไฟฟ้าเพิ่ม จะได้กินกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะนักข่าวบางคนที่ปฏิบัติหน้าที่ย่านนั้นกลับมาร่วมรับประทานด้วย

เมื่อ “เจ๊วิภา” มาเป็นทั้งนักข่าวอาวุโสและที่ปรึกษา “เจ๊” ซึ่งนิยมทำอาหาร “ง่ายๆ” กินเองอยู่แล้ว จึงเริ่มทำโน่นทำนี่ให้พวกเราได้รับประทานแทบว่าทุกเย็นที่ “เจ๊” กลับเข้ามาทันเวลานั้น

 

แล้วในที่สุด เมื่อเราเลิกสั่งปิ่นโต หรือบริษัทปิ่นโตเลิกกิจการ จำไม่ได้ “เจ๊” จึงกลายเป็นแม่ครัวให้พวกเราโดยปริยาย ใช่แต่เพียงซื้ออาหารสำเร็จ สั่งหุงข้าวหม้อไฟฟ้า ยังปรุงอาหารสำเร็จบางอย่าง เช่น ใครมีเค็มบักนัดจากอุบลฯ มา ก็หลน หรือทำยำ ซื้อผักแนมเข้ามาด้วย หรือผ่านทางสิงห์บุรี มีปลาส้มติดมือเข้ามา ก็ปรุงปลาส้มให้กินกันเอร็ดอร่อย

บังเอิญว่าเรื่องอาหารการกินตัวเองไม่ค่อยสันทัด ได้แต่ร่วมรับประทานกับเขาไปมื้อหนึ่งๆ จึงจำไม่ค่อยได้ว่า “เจ๊วิภา สุขกิจ” ใช้ความรู้ความชำนาญทำอาหารแม่ครัวหัวป่าก์อะไรให้พวกเรากินบ้าง

หลายครั้ง “พี่ช้าง” ขรรค์ชัย บุนปาน มีไข่เป็ดจากสวนจากไร่มาให้หลายโหลฟอง เย็นนั้น มีไข่เจียวหอมฟุ้งรับประทาน ซึ่งบางคนกินข้าวได้มากเป็นพิเศษ แล้วไข่เจียวจานสองจาน จานละ 4-5 ฟองพอที่ไหน ต้องอย่างน้อยสี่ซ้าห้าจานจึงจะอยู่ เล่นเอาแม่บ้านตีไข่เจียวไข่มือเป็นระวิง

วงอาหารเย็น ตั้งจานกับข้าวไว้บนโต๊ะรอบเสาตึก ใครที่ตักกับข้าวแล้วต้องถอยออกมาให้คนที่ยังไม่ได้ตักกับข้าวเข้าไปตักบ้าง ห้ามยืนแช่ กินไปคุยไป สนุกสนาน อิ่มท้องไม่รู้ตัว

 

เมื่อย้ายมาอยู่ที่ใหม่ ถนนเฟื่องนคร ตรงข้ามวัดราชบพิธฯ เป็นวัดซึ่งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกประทับ ด้านหน้าโรงพิมพ์ อยู่ตรงข้ามวัด เป็นที่จอดรถที่ประทับ เขียนข้อความไว้ว่า ที่จอดรถพระประเทียบ หลายคนไม่ได้สนใจว่าเป็นที่จอดรถของใคร มีแต่หัวหน้าช่างภาพ ชาญ ผดุงคำ เคยถามว่า “พระประเทียบ” องค์ไหน ผมงงไปด้วยเหมือนกัน กว่าจะนึกได้ว่า คำว่า “ประเทียบ” คือที่จอดรถ ไม่ใช่นามของพระรูปไหน – เกือบไปแล้วไหมล่ะ

ด้วยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจต้องการผู้สื่อข่าวที่ชำนาญข่าวธุรกิจเศรษฐกิจ เมื่อมีการรับสมัคร จึงเปิดรับสมัครผู้สื่อข่าวจากผู้ที่เคยทำข่าวนี้ด้วย ไม่ใช่นักข่าวใหม่โดยสิ้นเชิง เช่น ชุ่มชื่น พูนสวัสดิ์ ซึ่งเข้านอกออกในแหล่งข่าวธุรกิจเศรษฐกิจคล่องตัว หรือนักข่าวใหม่ แต่มีประสบการณ์มาบ้าง เช่น จุฬาลักษณ์ ภู่เกิด ทั้งยังปรับเปลี่ยนให้ผู้สื่อข่าวที่อยู่หน้าข่าวเศรษฐกิจการเมืองจากมติชนไปช่วยเป็นหัวหน้าข่าว อาทิ ชลิต กิติญาณทรัพย์ ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ เป็นต้น

ถัดมาอีกปีสองปี เพื่อให้หนังสือพิมพ์มติชนซึ่งระยะแรกมีหนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายเฉพาะวันจันทร์ถึงวันเสาร์ หยุดวันอาทิตย์ และเครื่องพิมพ์สองหน่วยพิมพ์หรือสองยูนิตเริ่มปฏิบัติงานได้ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ซึ่งมีความคิดอันไม่อยู่นิ่งเฉย หารือกับขรรค์ชัย บุนปาน ว่าควรจะออกหนังสือพิมพ์วันอาทิตย์เป็นรายสัปดาห์อีกฉบับหนึ่ง ขนาด “แท็บลอยด์” คือครึ่งหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวัน

เมื่อตกลงปลงใจเป็นที่เรียบร้อย จึงเริ่มวาง “เลย์เอาต์” หน้าตาของ “มติชนรายสัปดาห์” ชื่อก่อนจะเริ่มตีพิมพ์เพื่อให้เป็นนิตยสารรายสัปดาห์อีกฉบับหนึ่งออกวันศุกร์ แทนฉบับวันอาทิตย์ ชื่อ “มติชนสุดสัปดาห์”

“มติชนสุดสัปดาห์” ใช้หน้ากระดาษหน้าแรกเป็นปก พิมพ์สองสี ออกมาขะมุกขะมอมพอสมควร เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์การเมืองและบันเทิง ราคา 5 บาท

มีแฟน “มติชน” ต้อนรับไม่น้อยทีเดียว