E-DUANG : สถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานะ การแบกรับ “ปัญหา”

ความเคยชินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเกิดขึ้นจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ ความเคยชินที่จะชี้ นิ้วให้กับรัฐบาลก่อน

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

แต่ภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม และภายหลังจากเสียงขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 500 เสียงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน

กระทั่ง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นนายกรัฐมน ตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน

ก็ยากเป็นอย่างยิ่งทีจะสามารถโทษ”ฝ่ายตรงกันข้าม”ได้อีก

 

ทั้งๆที่มีการตกลงอย่างหลวมๆตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งและที่จำหลักหนักแน่นก็คือ การรู้กันในตอนค่ำของวันที่ 24 มีนาคมว่ารูปของรัฐบาลโดยพื้นฐานจะเป็นอย่างไร

กระทั่งเมื่อประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภา คมก็เริ่มมีความแจ่มชัด

ความแจ่มชัดนี้น่าตกใจหากมองจากพรรคพลังประชารัฐ

เพราะในขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ 115 การผนึกตัวรวมพลังของ 7 พรรคการเมืองที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ มีจำนวนทะลุ 251 ไปแล้ว

จึงมีความจำเป็นต้องใช้”อภินิหารทางกฎหมาย”

หลังจากนั้นจึงมีการงัดสูตรคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อออกมาแล้วลดทอนจำนวน ส.ส.ในปีกของ 7 พรรคคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคสช.
แล้วเนรมิต 11 ส.ส.จาก 11 พรรคการเมืองขนาดเล็ก

เมื่อนำไปบวกกับ 115 ของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อนำไปบวกกับ 250 ส.ว.ก็กลายเป็น 376 ขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

ผลก็คือ มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นของพรรคภูมิใจไทย มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์ และมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นของ พรรคชาติไทยพัฒนา

นั่นคือ ที่มาของเสียงขานชื่อ 500 เสียงในที่ประชุมรัฐสภา

1 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 1 ทำให้ปัญหาทุกอย่างอยู่บนบ่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยมีพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ เฝ้าดูอยู่บนภูสูง