Footnotes on Institution นิทรรศการที่ตั้งคำถามถึงสถานการณ์ของสถาบันศิลปะในประเทศไทย (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ผลงานชิ้นถัดมาในนิทรรศการ Footnotes on Institution เป็นของสะรุจ ศุภสุทธิเวช ที่หยิบเอาผลงานวิดีโอจัดวาง Security Guard ยามรักษากาล (2017) ที่เคยร่วมแสดงในนิทรรศการ Early Years Project #2 ที่เล่าเรื่องราวความทรงจำของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหอศิลป์กรุงเทพฯ ขณะกำลังปฏิบัติงาน

ทั้งเรื่องผี รอยเท้าลึกลับที่ปรากฏบนงานศิลปะจัดวาง ตำนานต้นคูนบริเวณพื้นที่หอศิลป์ที่ออกดอกอยู่ต้นเดียว

รวมถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพื้นที่ละแวกนั้น

สะรุจรื้อฟุตเทจที่เก็บไว้จากการลงพื้นที่ในผลงานดังกล่าว นำมาผลิตเป็นผลงานวิดีโอจัดวางชิ้นใหม่อย่าง CCTV OF THE SECURITY GUARD (2019) ที่เป็นเหมือนการย้อนกลับไปมองดูดวงวิญญาณของหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่กำลังจะตายอีกครั้ง

สะรุจ ศุภสุทธิเวช : CCTV OF THE SECURITY GUARD (2019)

ด้วยภาพในวิดีโอหลายจอที่ได้มาจากกล้องวงจรปิดในบริเวณพื้นที่ว่างเปล่านอกเวลาทำการของหอศิลป์ โดยเฉพาะพื้นที่เบื้องหลังอย่างห้องเก็บของหรือประตูทางเข้า

สลับกับภาพกราฟฟิกสามมิติที่ประมวลผลขึ้นจากเสียงที่บันทึกภายในหอศิลป์ (ซึ่งถูกทำออกมาเป็นประติมากรรมขนาดเล็กวางหน้าห้องฉายวิดีโอด้วย)

คลอด้วยเสียงจากเรื่องเล่าจากความทรงจำของ รปภ.คนเดิม

การรวบรวมประวัติศาสตร์ของหอศิลป์ผ่านคำบอกเล่าของบุคคลชายขอบที่เรามักจะมองข้ามในพื้นที่สถาบันศิลปะอย่าง รปภ. (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเป็นผู้ที่น่าจะใช้เวลาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ยาวนานกว่าผู้อื่น)

ทำให้การมองภาพของสถาบันทางศิลปะอย่างหอศิลป์ เป็นอะไรที่มีชีวิตชีวาและใกล้ตัวเรา มากกว่าภาพลักษณ์อันโอ่อ่าทรงภูมิที่มันแสดงออกต่อผู้คน

ในขณะเดียวกัน ภาพจากกล้องวงจรปิดก็เปลี่ยนสถานะให้ผู้ชมอย่างเราเป็นเหมือนผู้แอบมองไปโดยปริยาย

สะรุจ ศุภสุทธิเวช : CCTV OF THE SECURITY GUARD (2019)

ในขณะที่ภาพกราฟฟิกสามมิติจากเสียงที่เป็นเหมือนโลกจำลองของหอศิลป์แห่งนี้ก็ดูไร้มวลและล่องลอยอยู่บนสีดำสนิทของจอ เหมือนเป็นผีหรือวิญญาณเร่ร่อนของสถาบันศิลปะที่ตายไปแล้ว

หรืออาจเป็นภูตผีอีแอบที่เกิดจากการสอดส่องแทรกแซงประชาชนของรัฐบาลในโลกดิจิตอลก็เป็นได้

ตามมาด้วยผลงานของอภิชาติ ฐิติวงศ์วรสกุล ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในยุโรป เมื่อเขาได้เห็นผลงานชิ้นเอกของจริงของศิลปินดังจากยุคสมัยต่างๆ ทั้งเก่า-ใหม่ที่เขาชื่นชมมาก จนทำให้เขาอยากฝึกฝนทักษะในการวาดภาพ

อภิชาติ ฐิติวงศ์วรสกุล : (ซ้าย) Musée Rodin (Anselm Kiefer) (2019), (ขวา) The Louvre Museum (Leonardo Da Vinci) (2019)

เขาจึงถ่ายภาพผลงานชิ้นเอกเหล่านั้นเอากลับมาวาดตาม

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาไม่ได้แค่คัดลอกผลงานเหล่านั้นอย่างเดียว หากแต่เก็บเอาบรรยากาศของห้องแสดงงานและการดูงาน รวมถึงผู้ชมที่ยืนชมผลงานเหล่านั้นกลับมาวาดด้วย

แถมบางภาพเขาให้ความสำคัญกับบรรยากาศและตัวผู้ชมมากกว่าผลงานชิ้นเอกเสียด้วยซ้ำไป

ภาพวาดชุดนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงการคัดลอกผลงานชิ้นเอกของศิลปินเอกเพื่อฝึกทักษะฝีมือของอภิชาติแต่เพียงเท่านั้น

หากแต่เป็นการเก็บเอาห้วงเวลาและบรรยากาศในพื้นที่ทางศิลปะ รวมถึงสำรวจสถานะของงานศิลปะที่อยู่ในสถาบัน และยังอาจจะเป็นภาพฝันถึงพื้นที่ในอุดมคติอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำของโลกที่บ้านเรายังไม่เคยมี

(และอาจจะไม่มีวันมี) ก็เป็นได้

อภิชาติ ฐิติวงศ์วรสกุล : (ซ้าย) Scuderie del Quirinale (Michelangelo Merisi daCaravaggio) (2019), (ซ้าย) Pinakothek der Moderne(Dan Flavin) (2019)

ปิดท้ายด้วยผลงานของพงศกรณ์ ญาณะณิสสร ที่เมื่อดูเผินๆ ในตอนแรก เรานึกว่าเป็นเก้าอี้ที่หอศิลป์วางไว้ให้ผู้ชมนั่งแก้เมื่อยขบจากการดูงานศิลปะ

แต่พอถามไปถามมาถึงได้รู้ว่ามันเป็นผลงานศิลปะอีกชิ้นของนิทรรศการมากกว่า

ผลงานชิ้นนี้ของพงศกรณ์ต่อยอดมาจากผลงานในปี 2016 ของเขา อย่าง We Have Never Been Modern ที่เคยแสดงในหอศิลป์สาธารณะของแวนคูเวอร์

โดยเขาหยิบแรงบันดาลใจจากเก้าอี้บาร์เซโลน่า (Barcelona Couch) ผลงานชิ้นเอกของลุดวิก มีส์ ฟาน เดอร์ โรห์ (Ludwig Mies van der Rohe) มาตีความใหม่ด้วยการติดเหล็กเท้าแขนลงไปบนเก้าอี้เพื่อลดความสบายในการใช้งานของมัน

โดยเท้าแขนที่ว่านี้มีรูปแบบและขนาดเดียวกับเท้าแขนของม้านั่งในสวนสาธารณะที่กันไม่ให้คนไร้บ้านมานอนพักพิง

ส่วนผลงานในคราวนี้ พงศกรณ์ถูกขอให้ผลิตเก้าอี้ขึ้นใหม่สำหรับแสดงในนิทรรศการ เขาจึงมองหาผลงานที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของหอศิลป์แห่งนี้

และพบว่า แคร่ไม้ไผ่ที่วางอยู่หน้าหอศิลป์ที่ทุกคนเห็นจนชินตานั้น ถูกสั่งทำโดยศิลปินผู้ก่อตั้งหอศิลป์อย่างฤกษ์ฤทธิ ตีระวนิช ให้เป็นฐานของเก้าอี้บาร์เซโลน่าสไตล์ลูกทุ่ง เพื่อใช้ในนิทรรศการหนึ่งของหอศิลป์ แต่ไม่สำเร็จลุล่วง

พงศกรณ์จึงทำการสานต่อผลงานที่ยังไม่สำเร็จนี้ด้วยการผลิตซ้ำแคร่บาร์เซโลน่า โดยพยายามคงรูปร่างและโครงสร้างเดิมของเก้าอี้ลูกผสมนี้ให้มากที่สุด

โดยให้มีเบาะหนังยาวสีดำเย็บมือตามแบบเก้าอี้บาร์เซโลน่าของเดิม

ส่วนฐานเก้าอี้เขาเปลี่ยนมาใช้วัสดุไม้ยมหอม ซึ่งเป็นไม้ในตระกูลมะฮอกกานีแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เก้าอี้บาร์เซโลน่าของจริงใช้ไม้แอฟริกันมะฮอกกานี)

แต่คงโครงสร้างดีไซน์แบบแคร่ไม้ไผ่เหมือนเดิมในผลงาน Bench for a Retrospective (2019)

พงศกรณ์ ญาณะณิสสร : Bench for a Retrospective (2019)

โดยปกติเก้าอี้หรือม้านั่ง มักจะถูกใช้วางในพิพิธภัณฑ์ศิลปะให้ผู้ชมนั่งพักในยามเมื่อยล้า

แต่ในขณะเดียวกันองค์ประกอบเหล่านี้ก็มักจะเป็นสิ่งถูกลืมหรือมองข้ามไปในสถาบันศิลปะ เพราะสิ่งที่ถูกมองว่าสำคัญที่สุดคือผลงานศิลปะ

สิ่งอื่นๆ อย่างกำแพง พื้น เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่คนดูงาน กลายเป็นแค่องค์ประกอบ โดยเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ตะวันตกในยุคโมเดิร์นที่มีจุดมุ่งหมายในการขจัดร่างของคนดูออกไปจนเหลือแต่ความสัมพันธ์ระหว่างการมองและตัวงานเท่านั้น

หลายพิพิธภัณฑ์จงใจวางเก้าอี้ในพื้นที่แสดงงานให้น้อยที่สุด เพราะกลัวว่ามันจะไปรบกวนงานศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันดีไซน์และตำแหน่งของการวางเก้าอี้ในพื้นที่แสดงงานก็มีผลต่อวิธีการดูงานอย่างมาก

ในปัจจุบัน เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ และองค์ประกอบอื่นๆ หรือแม้แต่การมีอยู่ของผู้ชมก็เข้ามามีบทบาทต่อการดูงานในพื้นที่ทางศิลปะไม่น้อย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมงานกับงานศิลปะและองค์ประกอบที่รายล้อมเหล่านี้เป็นสิ่งที่พงศกรณ์สนใจเป็นพิเศษ

สำหรับเขา การผลิตแคร่บาร์เซโลน่าชิ้นนี้ขึ้นมา เป็นการวิจารณ์วิธีการดูงานศิลปะตามมาตรฐาน และดึงให้สิ่งที่สถาบันทางศิลปะพยายามทำให้หายไปกลับมาปรากฏในสายตาและในพื้นที่สถาบันทางศิลปะอีกครั้ง

อ้อ เมื่อเราทักเขาไปว่า เราเกือบจะลืมไปว่างานของเขาเป็นงานศิลปะในนิทรรศการนี้ด้วย พงศกรณ์กล่าวว่า

“เราที่ชอบงานชิ้นนี้ถูกลืมนะ สิ่งที่หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ตะวันตกพยายามจะทำคือ ให้คนลืมว่ามีร่างกายตัวเองอยู่ ทุกอย่างถูกกำจัดจนเหลือแต่ตาและสมองที่ล่องลอยเข้าไปในพื้นที่ทางศิลปะ เราเคยอ่านเจอว่า ในหอศิลป์บางแห่งจะเปิดหน้าต่างเอาไว้ เพื่อเตือนผู้ชมว่าคุณยังเป็นมนุษย์อยู่ ผมคิดว่าประสบการณ์ที่เรามีกับเฟอร์นิเจอร์ในหอศิลป์มีลักษณะแบบเดียวกัน”

นอกจากเก้าอี้บาร์เซโลน่าแบบไทยๆ แล้ว พงศกรณ์ยังมีผลงานอีกชิ้น อย่าง Double Take (2019) ที่เล่นสนุกกับความสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับพื้นที่ทางศิลปะ และยั่วเย้าความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชม ด้วยการติดเลนส์ตาแมวที่ประตูสำนักงานของหอศิลป์ ซึ่งปกติไม่อนุญาตให้ผู้ชมล่วงล้ำเข้าไป เพื่อให้ผู้ชมอย่างเรามีโอกาสลอบมองเข้าไปภายในพื้นที่ส่วนตัวของสถาบันศิลปะแห่งนี้ได้อีกด้วย

พงศกรณ์ ญาณะณิสสร : Double Take (2019)

ถึงแม้ผลงานนิทรรศการนี้อาจจะไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับทางออกของสถานการณ์อันล่อแหลมและปัญหานานัปการของสถาบันทางศิลปะในประเทศไทย

แต่อย่างน้อย บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างศิลปะหลากชิ้นในนิทรรศการนี้ก็อาจจะกระตุ้นให้เราตั้งคำถามและครุ่นคิดเกี่ยวกับทางออกของสถานการณ์นี้ได้

ไม่มากก็น้อย

นิทรรศการ Footnotes on Institution จัดแสดงที่แกลเลอรี่เว่อร์ ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15), ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-7 กรกฎาคม พ.ศ.2562, เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น.

สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์