สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เวทีสะท้อนคิด 3 นักทำ การศึกษาเพื่อสร้างคน (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ข้อคิดฝากถึง รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ องค์ปาฐกจบลงด้วยความสมบูรณ์ ท่ามกลางรอยยิ้มของผู้เข้าร่วมเวทีประชุมวิชาการนวัตกรรมการศึกษา

พิธีกรประกาศรายการต่อไป เสวนาเรื่อง “นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่องสู่การประกันคุณภาพเพื่อโรงเรียน” เชิญวิทยากร 3 คนก้าวขึ้นเวที นำโดย นายนคร ตังคะพิภพ หัวหน้า Q Coach หัวเรือใหญ่ โครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (sQip)

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครืนทร์ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา และ รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ครูนครเล่าความเป็นมาของแนวคิดโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง ต้นทางมาจากแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ในอดีตสังคมมองโรงพยาลบาลเป็นโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นจนเกิดผลสำเร็จ ทางด้านการศึกษามีประเด็นเรื่องการดูแลเด็กด้อยโอกาสเช่นเดียวกัน มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้น นำเอาแนวคิดต่างๆ มาใช้แก้ปัญหาการศึกษาเพื่อให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นอยู่ที่ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะรับลูกอย่างไร จากโรงเรียนขนาดกลางที่เข้าร่วมโครงการอยู่ในพื้นที่ยากลำบาก 197 โรง ในพื้นที่ 14 จังหวัด มีคิวโค้ช 28 คน ช่วยกันดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้ ใช้ 4 กระบวนการหลักในการพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียน ได้แก่ จัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นตอบสนองศักยภาพผู้เรียน การดูแลช่วยเหลือและให้โอกาสนักเรียนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม พัฒนาครูให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และบริหารการมีส่วนร่วมเพื่อชุมชน และ 5 มาตรการกระตุ้นการชับเคลื่อน หรือ 5 Q

“หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน” ครูนครย้ำ คนสามกลุ่ม ครู เด็ก ชุมชนมาวาดภาพร่วมกันว่าโรงเรียนควรเป็นอย่างไร กำหนดเป้าหมายของโรงเรียน นักเรียน ครูทั้งโรงเรียนมีอิสระ คิดอะไรก็ได้ บูรณาการความคิด เงื่อนไขความสำเร็จที่คาดหวัง เราหวังการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารมาก เมื่อเปลี่ยนหัวได้อย่างอื่นก็เปลี่ยน ครูเปลี่ยน นักเรียนเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน”

“แนวทางของเราโดยเฉพาะโค้ชที่ปรึกษา เดินนุ่มๆ ไม่สั่งการ เข้าไปหนุนเสริมเขา ทำอะไรได้ คิดอะไรได้ เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานร่วมกันให้มีความสุข มีชีวิตชีวา สร้างสภาพแวดล้อมของโรงเรียนใหม่”

“เป้าหมาย 4 ภาคเรียน โดยมีข้อมูลในการดำเนินงาน มีระบบการพัฒนาครูด้วยตนเองและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร เทอม 1 เป็นการจัดการโรงเรียนใหม่ที่ตอบโจทย์ของโรงเรียนใช้ Outcome mapping ให้ครูคิดแผนเพื่อผลักดันสู่การนำไปใช้ เทอม 2 พัฒนาโดยแนวคิด ห้องเรียนเป็นฐาน กระบวนการเป็นทุน เทอม 3 พิจารณาตัวชี้วัด เทอม 4 ก้าวสู่การประกันคุณภาพใน 3 ประเด็น คือ บริหารดี จัดการเรียนดี ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ให้ชุมชนศรัทธา”

ครูนครปิดท้ายก่อนส่งไมค์ต่อ

 

รศ.สุธีระเล่าถึงแนวคิดและการพัฒนาการศึกษาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

“กระบวนการทำให้ครูอยู่กับเด็ก การเอาไปใช้งานต้องเข้าใจเรื่องความรู้ก่อน ความรู้แบ่งเป็น 3 ระดับ ขั้นที่ 1 รู้/จำ รู้เพื่อสอบ ขั้นที่ 2 เข้าใจ รู้เพื่อพัฒนาปัญญา ขั้นที่ 3 ประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อทำงาน เพื่ออาชีพ

“ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้น 1 ต้องก้าวข้ามขั้น 2 ก่อนเพื่อก้าวไปสู่ขั้นที่สาม นำความรู้ไปใช้ตลอดการมีชีวิตอยู่ ถึง 70 ปี ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากเราไม่สามารถประยุกต์ความรู้ ต้องพึ่งพิงคนอื่น

“วงจรปัญญาจากรู้ท่องจำเพื่อให้เกิดการนำเสนอ ต้องเปลี่ยน โดยนำปัญญาเดิมมาร่วมกับประสบการณ์ใหม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ใส่ระบบคิดอย่างมีเหตุและผลให้เกิดความรู้ใหม่ เพาะพันธุ์ปัญญาเชื่อในหลักกาลามสูตร ฝึกการคิดผ่านการทำโครงงานฐานวิจัย เน้นสร้างกระบวนการคิดของคน คิดร่วมกันเป็น Active Learning ด้วยความเชื่อที่ว่า งานวิจัยคือเครื่องมือของการศึกษาต้องให้เด็กเป็นทำ มนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์จึงต้องมีพื้นที่ให้เด็กแสดงออก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และสะท้อนคิดโดยการสร้าง Growth mindset ให้เด็กเกิดความอยากรู้ และครูทำกระบวนการให้เด็กรู้ ไม่กลัวการไม่รู้”

“หลักการทำงานเริ่มจาก 1.พัฒนาครูที่จิตวิญญาน 2.พัฒนาให้มีทักษะกระบวนการ Coach ด้วย ถามคือสอน ถามให้เด็กมีความกล้า 3.พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขาวิชา 4.ใช้ประโยชน์จากวิชา IS กิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน ให้นักเรียนเรียนรู้จากการทำโครงงาน 5.พัฒนากระบวนการพี่เลี้ยง มีเจตนาดี ฉลาด และขยัน 6.เปลี่ยนการวัดประเมินผลเป็นเชิงสมรรถนะ”

“ครูต้องมีวิธีการให้เด็กมีสมรรถนะผ่าน 1.เครือข่ายทางการศึกษาต้องทำงานร่วมกัน 2.เตรียมโครงสร้างโรงเรียน 3.พัฒนาครูและครูในระบบให้สอน RBL เป็น 4.พัฒนาระบบ Coaching ให้ทุกสาขามาช่วยในการสอน 5.ชุมชนต้องเข้าใจ 6.ผลิตครูให้พัฒนาเด็กให้มี สมรรถนะด้านต่างๆ”

 

ก่อนปิดท้าย ครูสุธีระว่า “หลักสูตรพัฒนาครูที่เสนอให้สถาบันคุรุพัฒนาพิจารณา ตามโครงการคูปองครูหัวละหมื่น แต่ไม่ผ่าน อยากให้กระทรวงปล่อยให้ครูออกแบบการเรียนการสอนอย่างอิสระ”

ถึงคิววิทยากรท่านสุดท้าย รศ.ไมตรีเล่าถึงประสบการณ์การศึกษา 8 ปีในญี่ปุ่นด้วยความท้าทายจากโจทย์ที่ได้รับมาให้คิด “คุณจะไปทำอะไรในโรงเรียนก็ได้ให้ยั่งยืน”

“ครูต้องทำเป็นทีม ปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน เน้นให้เขาเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ปฏิรูปการศึกษาโดยยกระดับคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่เน้นปรับโครงสร้างองค์กร ญี่ปุ่นเน้นยกระดับคุณภาพนักเรียน ไทยมีวิธีคิดแบบ TOP Down ไม่ถึงนักเรียนสักที ขาดการจัดการเชิงระบบ ไม่รู้ว่าการปรับนี้ถึงนักเรียนหรือไม่ จะจัดการเชิงระบบให้ผลถึงนักเรียน ได้ผล หรือไม่ได้ผล อย่างไร เมื่อไหร่”

“ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาทำเป็นขนมชั้น มีเพียงหลักสูตร ที่ขาดหายไปคือการเรียนการสอน ล้มเหลว หากจะปิดช่องว่างของการปฏิรูป ต้องคิดเชิงระบบ มีการวิจัยพัฒนา จำแนกระดับหลักสูตรในฐานะองค์ประกอบพื้นฐานเพื่อสร้างระบบ หลักสูตรที่คาดหวัง ระดับที่นำไปใช้สอน ระดับที่นักเรียนได้เรียนรู้จริง ต้องมีหน่วยรับผิดชอบตั้งแต่หลักสูตร ระบบการผลิตครู จนถึงประสิทธิผลของนักเรียน”

“จากประสบการณ์ทำโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 2000-2030 10 ปีแรกเน้นวิจัยเพื่อพัฒนา 10 ปีที่ 2 สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง 10 ปีที่ 3 ขยายเครือข่าย โดยคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน เน้นให้นักเรียนรู้จักแก้ปัญหามากกว่าให้ครูนำเนื้อหาไปให้

“สุดท้ายการเรียนรู้คือการให้เด็กได้เรียนรู้เอง ทำให้วิธีคิดของเด็กเป็น How to น่าจะเป็นสิ่งที่เรียนรู้ร่วมกันได้ ซึ่งสัมพันธ์กันทั้ง กระบวนการสอน กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการคิด นักเรียนคิดด้วยตัวเองโดยมีทักษะการคิด”

แนวคิด กระบวนการของวิทยากรทั้งสามแม้ต่างกันในรายละเอียด แต่หัวใจสอดคล้องต้องกัน การศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเป็นนักคิด วิเคราะห์ ศึกษาหาความรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เป็นคนดีและคนเก่ง อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความหมายและมีความสุข