ชาคริต แก้วทันคำ : มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่แปลกแยกและโดดเดี่ยว

Alienation หรือความแปลกแยก ความแปลกหน้า ภาวะความออกห่าง หมายถึง การเปลี่ยนจากความรู้สึกผูกพันเป็นความรู้สึกไม่เป็นมิตร เป็นปรปักษ์หรือไม่ยินดียินร้ายต่อผู้อื่น ต่อกลุ่ม ต่อสังคมหรือแม้แต่ตัวเอง เป็นต้น

ความแปลกแยกตามทัศนะของ Sartre (1980) คือสภาวะของมนุษย์ที่ไม่ได้เป็น ไม่ได้รู้สึกหรือไม่ได้คิดอย่างที่ควรจะเป็นในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์

ซึ่งฐานะของมนุษย์ตามความคิดของ Sartre คือผู้ที่ต้องลงมือกระทำการตามจุดมุ่งหมายของตนอย่างมีเสรีภาพ ตามที่ได้ประกาศออกมาว่า “มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ”

เสรีภาพของ Sartre คือความสามารถในการตัดสินใจเลือก ซึ่งจะต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ

การใช้เสรีภาพเป็นการใช้ชีวิตอย่างที่เป็นจริง โดยเลือกและตัดสินใจเอง ไม่ใช่สถานการณ์บังคับหรือไหลไปตามระบบทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วย

การเลือกนี้คือ การกลับมาหาตนเองและเลิกสภาพของความแปลกแยก (สาคร สมเสริฐ, 2556 : 68 อ้างถึงใน ศิริวรรณ เกษมศานต์กิดาการ, 2537 : 9)

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “จิตวิญญาณส่วนใหญ่” ของเดือนวาด พิมวนา นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ ปี 2546

โดยจะวิเคราะห์ความแปลกแยกผ่านพฤติกรรมของตัวละคร และเหตุใดเรื่องสั้นนี้จึงเขียนแนวกระแสสำนึกด้วย

 

เรื่องสั้น “จิตวิญญาณส่วนใหญ่” ของเดือนวาด พิมวนา ให้ “ผม” เป็นตัวละครหลัก (character narrator) เล่าสิ่งที่ตนประสบพบมาในแนวกระแสสำนึก (stream of conciousness) ถึงการตั้งคำถามว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากสัตว์ชนิดใด

และผมเชื่อว่าลิงยังห่างไกลจากอารยะแห่งมนุษย์ จึงนึกเปรียบเทียบกับสัตว์แต่ละชนิดจากบุคลิกที่แตกต่างและคล้ายกัน ที่ล้วนมาจากสัตว์หลากหลายเผ่าพันธุ์

หลังเปรียบเทียบจากลักษณะภายนอกแล้ว ผมจึงคิดถึงสิ่งที่อยู่ภายในตัวคน ทั้งความคิด สติปัญญาและจิตใจ โดยเฉพาะความซื่อสัตย์

“คุณสมบัติอันสูงส่งนี้ถูกยกให้เป็นจิตวิญญาณของหมา…” ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อย แต่มันกลับทำให้ผมภาคภูมิ เพราะ

“หมามองเห็นว่าคนนี้ฉลาดและสวยงามที่สุด มันแยกออกว่าคนคือคน คนไม่ใช่สัตว์ ส่วนตัวมันและสัตว์อื่นๆ ล้วนเป็นสัตว์ หมาเทิดทูนคน อยากเข้าใจคน อยากอยู่ใกล้ชิดคนและแน่นอน มันอยากเป็นคน…” (น.102)

ผมหยุดคิดเรื่องค้างคาใจต่างๆ ก็พอดีถึงเวลาเจ้านายกลับบ้าน เจ้านายผมยังโสด มีเพื่อนคนเดียวที่ไปมาหาสู่กันแบบเปิดอกคุยได้ทุกเรื่อง ทำให้ผมกังวลว่าเจ้านายไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ ไม่มีฝูงเป็นของตนเอง กลายเป็นความห่วงใยและทุกข์ใจที่ผมมีเจ้านายเป็นคนเช่นนี้

เจ้านายผู้มีจิตวิญญาณอิสระเอาแต่ร้องหาเสรีภาพเหมือนแมว แล้วจะอยู่ร่วมกับฝูงหมาอย่างผมได้อย่างไร?

 

ความแปลกแยกของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่

โดยทั่วไปแล้ว ชีวิตมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม (social animals) มักจะมีความสัมพันธ์ทั้งกับตัวเองและสภาพแวดล้อม ประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางสังคม

ภาวะที่มนุษย์แยกห่างออกจากความเป็นธรรมชาติของตัวเอง จึงเป็นความแปลกแยกอย่างหนึ่ง เช่น

“เจ้านายของผมยังโสด แม้ยังไม่แก่แต่ไม่ใช่เด็กหนุ่มแล้ว อยู่คนเดียวมานานเท่าไรผมไม่ทราบ แต่อยู่กับผมมาเจ็ดปี และเจ็ดปีที่ผ่านมานี้เจ้านายไม่เคยมีคนรัก… พ่อแม่พี่น้องก็ห่างเหินแทบไม่ได้ติดต่อไปมาหาสู่กันเลย มีคนเอาการ์ดแต่งงานหรือบัตรเชิญงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ มาให้หลายครั้ง เจ้านายไม่เคยไปสักครั้ง ยกเว้นแต่มีใครป่วยใครตายจึงจะไปเยี่ยมหรือไปงานศพ แม้แต่เพื่อนบ้านหรือคนในซอยเดียวกันซึ่งรู้จักเห็นหน้ากันมานานก็ห่างเหินเต็มที จะว่ามนุษยสัมพันธ์แย่ก็ไม่ใช่ เจ้านายเป็นคนสุภาพ อ่อนโยนกับทุกคน หากได้มีโอกาสรู้จักพูดคุยไม่ว่าชายหรือหญิง ล้วนมีปฏิกิริยาที่ดีและอยากจะติดต่อสัมพันธ์กับเจ้านายทั้งนั้น ทว่าเมื่อรู้จักกันแล้ว เจ้านายผมเองกลับไม่ยอมสานต่อความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้ง ปล่อยความสัมพันธ์ให้เหินห่างร้างลาอย่างไม่ไยดี” (น.104)

ข้อความข้างต้น จะเห็นได้ว่า “ผม” เป็นผู้เล่าเรื่องที่ประสบพบมาแบบรับรู้จำกัด (limited) ในลักษณะวิพากษ์พฤติกรรมของเจ้านายในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น สถานะโสดและการไม่ปฏิสัมพันธ์กับใครจึงมองได้ว่าเป็นความแปลกแยกจากตัวเองกับเพื่อนมนุษย์ ที่ต้องการความโดดเดี่ยวและความเป็นส่วนตัวสูง ซึ่งอาจขัดแย้งกับสิ่งที่มนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมจะต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

นอกจาก “รู้จักกันแล้ว เจ้านายผมเองกลับไม่ยอมสานต่อความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้ง ปล่อยความสัมพันธ์ให้เหินห่างร้างลาอย่างไม่ไยดี”

แล้ว เจ้านายของผมยังมีเพื่อนแค่คนเดียวที่ไปมาหาสู่และพูดคุยกันแบบเปิดอก เพราะมีนิสัยเหมือนกัน ถ้าคุยเรื่องงาน พวกเขาฝันถึงอิสระ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร ถ้าคุยเรื่องผู้หญิง พวกเขาจะฝันถึงผู้หญิงที่ไม่ยึดติดกับการสร้างครอบครัว รักกันโดยไม่จำเป็นต้องมีลูก อาจกล่าวได้ว่า เป็นภาวะที่มนุษย์ออกห่างความเป็นธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรม เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ดังนั้น การที่มนุษย์มีความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมและวัฒนธรรม ทำให้ฐานะสมาชิกของสังคมมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อย่างไรก็ตาม ความแปลกแยกมีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์บุคคล กล่าวคือ บุคคลที่แปลกแยกไม่สามารถประสบความสำเร็จในการค้นหาอัตลักษณ์ของตนได้ การค้นหาอัตลักษณ์นั้น บุคคลจะต้องอุทิศตนให้กับสิ่งที่เขาปรารถนาจะบรรลุหรือแสวงหา สิ่งนี้จะทำให้เกิดการตระหนักรู้ (Pestonjee, Singh & Singh, 1982 : 71-76 อ้างถึงใน สาคร สมเสริฐ, 2556 : 68)

แต่เรื่องสั้นนี้ ความแปลกแยกกลับสร้างความขัดแย้งให้กับตัวละคร เมื่อเขามีเพื่อนแค่คนเดียว แถมยังตกงานบ่อยเพราะทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานหรือนายจ้าง

สิ่งเหล่านี้สร้างความทุกข์ใจใหญ่หลวงให้กับผม ผู้เชื่อในระบบฝูงเป็นอย่างยิ่ง

 

ทำไมต้องเล่าเรื่องแนวกระแสสำนึก?

คําว่า “กระแสสำนึก” (stream of consciousness) หมายถึง ในเวลาที่แน่นอน คนคนหนึ่งสามารถตระหนักถึงความรู้สึก อารมณ์ ความทรงจำรำลึก ที่หลั่งไหลพรั่งพรูออกมาอย่างติดต่อกันไม่ขาดสาย การเขียนในลักษณะนี้เป็นการหยั่งหาและแสดงออกถึงความคิดคำนึงในใจของตัวละคร

และเรื่องสั้น “จิตวิญญาณส่วนใหญ่” ของเดือนวาด พิมวนา ใช้การรำพึงรำพัน (inner monologue) บรรยายความคิดคำนึง อารมณ์ สภาพจิตใจและบรรยากาศของความคิดที่เป็นนามธรรม ในเรื่องความสำคัญของจิตวิญญาณของมนุษย์กับสัตว์และพฤติกรรม ความคิดแปลกแยกไม่ยอมเข้าใจในระบบฝูง โดยแทบไม่เห็นถึงการเคลื่อนไหวของผมเลย

“ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องนี้ดี อาจมีบ้างเป็นคนส่วนน้อยเช่นเจ้านายของผม… กลับมีความคิดแปลกแตกต่างและไม่ยอมเข้าใจในระบบฝูง ไม่ยอมรับทั้งในความเป็นผู้นำและในความเป็นผู้ตาม ไม่ยอมใจต่อระดับของชนชั้นและอาวุโส ลุ่มหลงอยู่กับอิสระเสรีส่วนตน… ผมหงุดหงิดใจกับเรื่องนี้มาก เจ้านายไม่น่ามีจิตวิญญาณอิสระที่เอาแต่ร้องหาเสรีภาพแบบนั้น นั่นมันจิตวิญญาณอย่างแมว เป็นจิตวิญญาณส่วนน้อยซึ่งเข้ากันไม่ได้เลยกับจิตวิญญาณส่วนใหญ่” (น.106)

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกของผมที่เฝ้ามองเจ้านายและเกิดความรู้สึกหงุดหงิดใจในความคิดและพฤติกรรมที่แปลกแยกจากคนส่วนใหญ่

และการที่ “มีจิตวิญญาณที่เอาแต่ร้องหาเสรีภาพแบบนั้น” ผมเชื่อว่ามันเป็นจิตวิญญาณอย่างแมว ซึ่งเข้ากันไม่ได้กับจิตวิญญาณส่วนใหญ่ ทำให้ผมเจ็บปวด เพราะจิตวิญญาณระหว่างผมกับเจ้านายแตกต่างห่างไกล ที่สำคัญผมยังนึกฉุนในตอนท้ายเรื่อง เมื่อ “เจ้านายน่าจะรู้ว่าจิตวิญญาณอย่างแมวนั้นจะอยู่อย่างไรในท่ามกลางฝูงหมา” (น.107)

 

กล่าวได้ว่า การเล่าเรื่องแนวกระแสสำนึกในเรื่องสั้นนี้ เป็นเหตุผลเชิงสัมฤทธิ์ทางการประพันธ์ ที่ผู้เขียนมุ่งสื่อความถึงผู้อ่านโดยตรง ไม่มีความซับซ้อนในด้านรูปแบบ เพราะสามารถแสดงความเป็นปัจเจกของตัวละครได้อย่างชัดเจน ในเชิงมนุษยนิยม การเล่าเรื่องแบบนี้สามารถกล่าวถึงการค้นหาตัวตนของผู้เล่าเรื่องหรือตัวละครเอกอย่างได้ผล โดยเฉพาะเมื่อต้องดำรงอยู่ในสภาพสังคมที่สับสน แปลกแยก ซับซ้อนและเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในแง่ที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้กำหนดการกระทำตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของตน ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใด มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะเลือกหรือกำหนดและตัดสินใจที่จะกระทำด้วยตนเองอย่างเต็มที่

และการเล่าเรื่องแนวกระแสสำนึกในเรื่องสั้นนี้ ยังแสดงตัวตนที่แท้จริงของผม โดยผู้เขียนไม่นำความรู้สึกนึกคิดของตนเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการมุ่งเสนอว่าผมเป็นใคร มากกว่าทำอะไร ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านได้มากขึ้น (มาโนช ดินลานสกูล, 2545 : 27-28)

เรื่องสั้น “จิตวิญญาณส่วนใหญ่” ของเดือนวาด พิมวนา สะท้อนการตั้งคำถามถึงบุคลิกภายนอกและจิตวิญญาณภายในระหว่างคนกับสัตว์ว่าเหมือน คล้ายหรือแตกต่างกัน

โดยให้หมาเล่าเรื่องในฐานะผู้สังเกตการณ์พฤติกรรมความแปลกแยกทางความคิดของเจ้านายที่สังกัดอยู่ในฐานะ “สัตว์สังคม”

แต่กลับไม่เข้าใจและยอมรับระบบฝูง กลายเป็นความขัดแย้งที่ทำให้หมากับคนไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ในสังคม เมื่อต่างฝ่ายมีจิตวิญญาณต่างกัน

นอกจากนี้ การให้หมาเป็นผู้เล่าเรื่องแนวกระแสสำนึก ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดและเหตุผลของหมาที่มองเจ้านายด้วย “ความรักและเทิดทูนยิ่งชีวิต” เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ ขณะเดียวกันเมื่อจิตวิญญาณของเจ้านายเหมือนแมว คงไม่เหมาะที่พวกเขาจะอยู่ร่วมกัน เป็นความเจ็บปวดของหมาที่ได้ระบายความในใจออกมา และเป็นการล้อเลียนของผู้เขียนที่กระตุกต่อมความคิดผู้อ่านให้หันมองความแปลกแยกในสังคม ที่อาจไม่ใช่แค่มนุษย์กับมนุษย์ แต่รวมถึงมนุษย์กับสัตว์ด้วย เมื่อจิตวิญญาณของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป

เพราะ “คุณสมบัติพิเศษหลายต่อหลายอย่างของคน แท้แล้วกลับเป็นมาตรฐานตามปกติของสัตว์บางชนิด บางทีความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ อาจเป็นเพราะในตัวคนคนเดียวสามารถมีจิตวิญญาณของสัตว์ได้หลากหลายชนิด” (น.102) นั่นเอง

————————————————————————————————————–

บรรณานุกรม

เดือนวาด พิมวนา. (2557). ฝันแห้งและเรื่องอื่นๆ. กรุงเทพฯ : สามัญชน.

มาโนช ดินลานสกูล. (2545). กลวิธีการเล่าเรื่องแบบกระแสสำนึกในเรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2524-2542. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ.

สาคร สมเสริฐ. (2556). ความแปลกแยกของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่. วารสารนักบริหาร. 33(3) : 66-74.