เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/ อิทธิพลสื่อในมือโสมแดง

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

อิทธิพลสื่อในมือโสมแดง

เมื่อวันก่อนได้อ่านข่าวที่พาดหัวว่า

“คิม จอง อึน โหดจัด สั่งประหารทูต อ้างทำประชุมทรัมป์ล่ม พร้อมส่งหัวหน้าเข้าค่ายกักกัน”

ความจริงข่าวทำนองนี้ของเกาหลีเหนือก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ เป็นเหตุการณ์จากข่าวที่คนในโลกเสรีจะรู้สึกสงสัย แปลกใจว่า ทำไมผู้นำคนหนึ่งถึงมีอำนาจทำอะไรคนได้ขนาดนั้น

ก่อนหน้านี้สัก 2 ปีมาแล้ว มีข่าวดังที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือข่าวหนึ่งที่ดังไปทั้งโลกว่า

“นาย คิม จอง นัม วัย 45 ปี พี่ชายต่างมารดาของคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของประเทศเกาหลีเหนือ ถูกลอบสังหารที่สนามบินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย”

คิม จอง นัม เป็นบุตรชายคนโตของคิม จอง อิล ผู้นำสูงสุดคนก่อนของเกาหลีเหนือ เขาเคยถูกจับตาว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจากคิม จอง อิล ผู้เป็นบิดา

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งดังกล่าวถูกเปลี่ยนไปให้คิม จอง อึน แทน

 

และในที่สุดในปี 2554 คิม จอง อึน ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดต่อจากบิดาของเขาจริงๆ และเขาก็ได้ใช้อำนาจที่มีขจัดคนที่เขาไม่ไว้ใจไปหลายสิบคน รวมทั้งลุงแท้ๆ ของเขาด้วย

ในปี 2559 เขายังสั่งประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เหตุเพราะหลับในที่ประชุม รวมทั้งกระแสข่าวที่ว่า คิม จอง อึน สั่งประหารผู้บัญชาการทหารบกด้วยการใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิงใส่ร่างเขา เพราะแอบหลับในระหว่างการเดินสวนสนามที่เขาเป็นประธานในพิธี

ฟังดูแล้ว ช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย และรู้สึกว่าผู้นำเกาหลีเหนือลุแก่อำนาจ เอาแต่ใจตัวเองเสียจริงๆ จึงทำการโหดร้ายได้ต่างๆ นานาเช่นนี้

 

ต่อมาผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “ผู้กำกับ คิม จอง อิล” เป็นหนังสือแปลจากการเขียนของพอล ฟิชเชอร์ แปลโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “คำเมือง” พอลเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นโดยรวบรวมมาจากข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะจากปากคำของบุคคล 2 คนที่บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ในเกาหลีเหนือ และได้ใกล้ชิดกับคิม จอง อิล อย่างมาก เดี๋ยวจะบอกว่าทำไมถึงได้ใกล้ชิด

พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ทำให้ผมเข้าใจในบริบทของข่าวที่ปรากฏขึ้นมาดังตัวอย่างข้างต้นอย่างมาก เข้าใจในความเป็นประเทศเกาหลีเหนือ เข้าใจในอำนาจและอิทธิพลที่แผ่คลุมโสมแดงของผู้ที่ได้รับการเรียกขานว่า “ผู้นำสูงสุดอันเป็นที่รัก”

และนึกออกว่า เหตุการณ์ดังในข่าวนั้น มันเกิดขึ้นได้จริงๆ และเห็นถึงอิทธิพลของสื่อในดินแดนโสมแดงมากขึ้น

 

ในหนังสือเล่าถึงการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศของคิม จอง อิล ต่อจาก “คิม อิล ซุง” วีรบุรุษทางทหารผู้ก่อตั้งและผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนแห่งเกาหลี โดยมี “ภาพยนตร์” เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพ สื่อสารกับประชาชน รวมทั้งปลุกระดมความคิดในทิศทางที่เขาต้องการ

ความจริงเรื่องการใช้ “สื่อ” เป็นเครื่องมือนั้น ไม่ได้เพิ่งมี ตั้งแต่อดีตแล้วที่ผู้นำของประเทศจะต้องใช้ “สื่อ” เป็นอาวุธ เป็นมาตั้งแต่สื่อยังเป็นยุคอะนาล็อก ยังไม่ร้อนแรงไวไฟเหมือนยุคดิจิตอลเช่นทุกวันนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงให้ความสำคัญกับกิจการหนังสือพิมพ์อย่างมาก ด้วยเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารถึงประชาชนได้อย่างดี พระองค์เองก็ทรงเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความลงใน นสพ.ดุสิตสมัยด้วย

ต่อมาในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการใช้สื่อวิทยุเป็นกระบอกเสียงสำคัญของรัฐบาลด้วยสโลแกนที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”

กับคิม จอง อิล ทำไมถึงเป็น “ภาพยนตร์”

 

ในหนังสือได้พูดถึงว่า คิม จอง อิลนั้นมีความรักและหลงใหลในโลกของภาพยนตร์อย่างมาก เป็นการเริ่มต้นจากความรักส่วนตัว ที่สามารถขยายผลเป็นอาวุธสำคัญทางการเมืองได้ในเวลาต่อมา

ความหลงใหลสะท้อนให้เห็นได้จากที่ว่า ในยุคที่เขายังหนุ่ม ภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นของต้องห้ามสำหรับชาวเกาหลีเหนือ แต่คิม จอง อิล มีห้องฉายภาพยนตร์ส่วนตัวขนาดใหญ่ และมีหนังจากฮอลลีวู้ดและโลกตะวันตกให้ชมมิได้ขาด ภาพยนตร์ใหม่เรื่องใดเพิ่งลงโรงที่ต่างประเทศ ไม่นานเขาก็จะได้มีโอกาสชม พร้อมซับไตเติลเกาหลีขึ้นอยู่เสร็จสรรพ

เหล่านี้เกิดขึ้นได้จากกระบวนการใช้สถานทูตและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่อยู่ตามประเทศต่างๆ เป็นผู้จัดการ ยิ่งได้ชมภาพยนตร์มากเท่าไร ความคิดความรู้ต่างๆ ของคิม จอง อิล ก็ขยายวงกว้างมากขึ้น เขาไม่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศด้วยผลงานอันเป็นวีรบุรุษในสนามรบเหมือนกับพ่อของเขา หรือไม่ได้ร่ำเรียนทางวิชาการเมือง เศรษฐศาสตร์ หรือผ่านสนามการเมืองแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เขาใช้จินตนาการในการบริหารผู้คนและประเทศของเขา มาจากประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ทั้งสิ้น

ความรักในภาพยนตร์ของเขา ส่งให้เขาก้าวขึ้นมากำกับหนังของตนเองออกมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ยังหนุ่ม เขามีโรงถ่าย มีเครื่องมือ ผู้คน และนักแสดงที่จะเรียกใช้อย่างพรักพร้อม และแน่นอนที่เขาจะเป็นคนประพันธ์เรื่องเอง ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่จะเน้นไปที่อุดมการณ์ความเป็นชาตินิยมสุดกู่ ที่เขาตั้งใจ “สร้างภาพ” ต่างๆ ให้กับประชาชนของเขาผ่านการดูหนัง

หนังของเขาถ้ามีตัวละครเป็นชาวตะวันตกโดยเฉพาะเป็นอเมริกัน เขาจะตั้งใจให้ภาพลักษณ์ออกมาน่าเกลียดน่ากลัวอยู่เสมอ และตัวละครชาวเกาหลีก็จะสวยงาม กล้าหาญ เสียสละเพื่อประเทศชาติและอุดมการณ์เป็นที่ยิ่ง

ชาวเกาหลีเหนือจะถูกสั่งให้ออกจากบ้านมาชมภาพยนตร์ในวันแรกที่หนังฉาย ทุกคนจะได้รับการบอกกล่าวถึงประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนั้นว่าต้องการถ่ายทอดอะไร และเมื่อชมภาพยนตร์จบแล้วก็ต้องบอกความรู้สึกออกมาด้วยว่า ตนได้อะไรตามนั้นหรือไม่

ภาพยนตร์ของคิม จอง อิล มีอิทธิพลอย่างมากในกรอบความคิดของประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่เขาต้องการ เป็นอาวุธอันทรงอานุภาพ

นี่คืออำนาจของสื่อที่ยิงไกลได้ผลเร็วและแรงกว่าอาวุธใดๆ

 

ความรักในภาพยนตร์ของเขา และความต้องการสร้างงานภาพยนตร์ให้มีคุณภาพ ให้เป็นชื่อเสียงของชาวเกาหลีเหนือในเวทีระดับโลก เขาทำถึงขนาดให้สายลับไปจับตัว 2 สามี-ภรรยาชาวเกาหลีใต้แล้วแอบนำเข้ามาอยู่ในประเทศ เพื่อที่จะช่วยสร้างฝันในการทำภาพยนตร์คุณภาพของเขาให้เป็นจริง

2 สามี-ภรรยาที่ว่านั้นก็คือคนที่เขียนเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตที่ถูกจับไปอยู่เกาหลีเหนือ ที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นำมาเรียบเรียงนั่นเอง ฝ่ายสามีนั้นเป็นผู้กำกับฯ ชื่อดัง ชื่อว่า “ชิน ซัง อก” และภรรยาของเขาที่เป็นนักแสดงผู้ยิ่งใหญ่ “เชว อึน ฮี” ถ้าในเมืองไทยอาจจะประมาณ นก ฉัตรชัย กับนก สินจัย กระมัง

ทั้งสองต้องถูกกักตัวอยู่ในบ้านพักหลายแห่ง รวมทั้งในค่ายกักกันด้วย เพื่อล้างสมอง และบีบคั้นให้ยอมเปลี่ยนใจมารับใช้ผู้นำเกาหลีเหนือ เรียกว่าให้แปรพักตร์จากบ้านเกิดนั่นเอง ซึ่งอันนี้ก็สามารถใช้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ดีได้ว่า แม้แต่คนเกาหลีใต้ยังหนีประเทศตัวเองมาฝักใฝ่เกาหลีเหนือเลย

การผจญภัยในเกาหลีเหนือของ 2 สามีภรรยานั้น สนุก ลุ้น ชวนติดตามเหมือนหนังเจมส์บอนด์ และหนังสายลับของฮอลลีวู้ดเลยละ ลองหาอ่านดูนะครับ

นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นถึง “อำนาจของสื่อ” ว่ามีอิทธิพลทางความคิดของผู้คนและสังคมอย่างมาก ยิ่งเวลาผ่านมาจนถึงวันนี้ ที่โลกของสื่อพัฒนาไปไกลมากจนยากต่อการควบคุมและตามทัน เราจึงได้เห็นว่ามีคนใช้สื่อโดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียเพื่อสร้าง “อะไร” ขึ้นมาให้คนหลงเชื่ออยู่ตลอดเวลา

ผิดกันกับภายนตร์ของคิม จอง อิล ที่เขาใช้สื่อเพื่อสร้างชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ตอนนี้มีบางคนใช้สื่อเพื่อสร้างความแตกแยกอันใหญ่หลวงให้กับคนในชาติของเรา

โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะขาดความรู้เท่าทัน ยั้งคิด และมีจิตแบบสังคมไทยมากพอ จึงนับว่าอันตรายอย่างยิ่ง