หัวรถจักรไอน้ำ ซี 56 รุ่นสงครามญี่ปุ่นบนคู่รางไทย-พม่า ถึงวันคืนถิ่น…ไปแล่นท่องเที่ยว จ.ชิซุโอกะ

สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มจากอังกฤษกับฝรั่งเศสเปิดศึกเยอรมนี ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นเพื่อนน้ำมิตรนาซีเมื่อปี 2482 และญี่ปุ่นก็กำลังต้องการขยายอิทธิพลหมายครอบครองเอเชีย

ปี 2484 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกฝั่งทะเลอ่าวไทย ทางภาคกลางและใต้ไม่เว้นทางบก ปีถัดมา…กดดันให้ไทยยอมประกาศสงครามกับพันธมิตร เพื่อความอยู่รอดไทยจึงยอมทำตาม

ปีเดียวกันนั้น…ญี่ปุ่นเกิดต้องการใช้ไทยเป็นฐานไปถล่มอังกฤษในพม่า แล้วไปรบอังกฤษที่อินเดียขณะเป็นเจ้าอาณานิคมอินเดีย ด้วยญี่ปุ่นเห็นว่าการส่งยุทธปัจจัยทางทะเลจากสิงคโปร์ไปย่างกุ้ง ย่อมเสี่ยงกับการถูกทหารพันธมิตรโจมตี

จึงเลือกสร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุก ผ่าน จ.กาญจนบุรี เลียบลำแควน้อยผ่านเทือกเขาตะนาวศรี ถึงพรมแดนด่านเจดีย์สามองค์ แล้วต่อไปถึงทันบิวซายัดพม่า ระยะทาง 415 ก.ม. …จะปลอดภัยกว่า

บันทึกประวัติศาสตร์คราวนั้น จารึกไว้ด้วยเลือดปนน้ำตาแห่งความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นว่า การก่อสร้างทางรถไฟสายนี้เมื่อปี 2485 แล้วเสร็จปี 2486 ต้องใช้แรงงานชาวเอเชียกับเชลยศึกชาวตะวันตกมากถึง 261,700 คน

แต่ละคนต้องทนต่อสู้กับไข้ป่าและการทารุณเกินมนุษย์จากทหารญี่ปุ่น

ต้องสังเวยชีวิตไปกว่า 1 แสนคน จนเกิดนิยาม “ทางรถไฟสายมรณะ” ไม้หมอน 1 ท่อนคือมนุษย์ 1 ชีวิต

 

ลองมาทบทวนอดีตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุโดยอาศัยเอกสารการรถไฟโออิกาวา ชื่อ Returned C 56 Steam Locomotive หรือการคืนถิ่นหัวรถจักรไอน้ำ ซี 56 ซึ่งระบุว่าญี่ปุ่นขณะนั้นได้ชื่อว่าคือผู้ผลิตรถไฟหัวรถจักรไอน้ำตระกูลซี 56 ที่คนญี่ปุ่นเรียก “SL”

ผลิตขึ้นโดยโรงงานมิตซูบิชิ จ.ชิซุโอกะ ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศญี่ปุ่น และเป็นจังหวัดอันเป็นที่ตั้งภูเขาไฟฟูจิ กับแหล่งปลูกชาเขียว ผลิตภัณฑ์ลือชื่อท้องถิ่นแห่งนี้

หัวรถจักร SL มีคุณสมบัติคือใช้พลังความร้อนจากเตาเผาไปต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอ แล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนหัวรถจักรลากจูงตู้โดยสาร สร้างสำเร็จปี 2478 เริ่มให้บริการในท้องถิ่นญี่ปุ่นก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาจะเกิด

เมื่อกระแสนิยมมากขึ้น ญี่ปุ่นจึงส่ง SR ให้ประเทศต่างๆ ใช้งาน รวมถึงไทยกับพม่าเมื่อปี พ.ศ.2486 เพื่อใช้ลากจูงตู้โดยสารลำเลียงเสบียงกรังกับทหารญี่ปุ่นไปรบอังกฤษที่พม่า

หัวรถจักรไอน้ำปฏิบัติภารกิจให้กองทัพญี่ปุ่นในไทยได้แค่ 2 ปี พอปี 2488 หลังมะกันนำฝูงบินขนปรมาณูบินลัดฟ้ามาหย่อนใส่เมืองฮิโรชิมากับนางาซากิก่อนฟ้าสางจนราบเป็นหน้ากลอง พร้อมสูญเสียชีวิตมนุษย์กับความพิกลพิการมากมาย

ก่อให้เกิดอนุสรณ์สถานตำนานหนูน้อยซาดาโอะกับนกกระเรียน แสดงสัญลักษณ์เรียกร้องสันติภาพโลก ขึ้นหน้าบอมบ์โดมกลางเมืองฮิโรชิมา

ความหายนะคราวนั้น…ทำให้พระจักรพรรดิญี่ปุ่นตัดสินพระทัย ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้เป็นบทเรียนอันแสนสาหัสสำหรับชาวญี่ปุ่นทุกรุ่น…ที่ยากจะลืมเลือน!

หลังสงครามจบ…การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้นำหัวรถจักรไอน้ำ ซี 56 กลับมาลากจูงตู้โดยสารอีกพักใหญ่ ขณะญี่ปุ่นมีใช้งานอยู่ 70 คัน และปลดระวางลงเมื่อปี 2516 หลังใช้งานนานถึง 78 ปี หรือเกือบ 8 ทศวรรษ

หัวรถจักรไอน้ำสายเลือดบูชิโด แล่นปู๊น! ปู๊น! อยู่ในไทยถึงปี 2520 ภารกิจสุดท้ายได้แก่ แล่นรับ-ส่งผู้โดยสารจากสถานีชุมพรไปสถานีทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แล้วปลดระวางตามญี่ปุ่น

สรุปรวมทำคุณประโยชน์ให้กิจการรถไฟไทยเป็นเวลา 46 ปีเต็มๆ

คงเหลือหัวรถจักรหมายเลข ซี 5622 ซึ่งบูรณะให้เหมือนใหม่ตั้งแสดงไว้ตรงลานด้านข้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว ต.ท่ามะขาม อ.เมืองกาญจนบุรี เป็นอนุสรณ์แห่งมหาสงครามญี่ปุ่น

ต่อมา…ญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าของ SL ได้แจ้ง ร.ฟ.ท. ขอรับม้าเหล็ก 2 คันกลับคืนถิ่นแผ่นดินแม่ ร.ฟ.ท.รับดำเนินการให้และนำหัวรถจักรทั้งสองลงเรือสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ส่งคืนให้ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2522

ไปถึงท่าเรือโยโกฮามาเมื่อ 25 มิถุนายนปีนั้น แล้วลำเลียงต่อไปยังโรงซ่อมบำรุงการรถไฟโออิกาวา จ.ชิซุโอกะ ทั้งสองถูกซ่อมบำรุงอยู่ครึ่งปี บูรณะเครื่องจักรทุกตัวที่สึกหรอ เปลี่ยนล้อตามมาตรฐานรางญี่ปุ่น เปลี่ยนสีตัวถังจากน้ำเงินเข้มเป็นดำขลับ กับกันชนหน้าพ่นสีแดงทับ

หนึ่งในนั้นถูกส่งไปตั้งแสดงไว้ที่เมืองหลวงโตเกียว เพื่อเตือนความจำเหล่าลูก-หลานให้รำลึกถึงวีรกรรมม้าเหล็กแทนม้าศึกคือกองทัพญี่ปุ่นผู้ผจญสงคราม

ส่วน SR อีกคันคือ ซี 56 หมายเลข 735 ในชื่อใหม่ “โพนี่ (Pony)” หรือม้าแกลบ ได้ฤกษ์แล่นปู๊น! ปู๊น! อีกครั้ง เป็นขบวนท่องเที่ยวประจำท้องถิ่นชิซุโอกะ ซึ่งขบวนนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมโรมานซ์ทางรถไฟ 1 ใน 10 ของญี่ปุ่น

และเป็น 1 ใน 2 ขบวนนำเที่ยว ที่ใช้ SR โบราณลากจูงขบวน โดยโพนี่ประจำการบนเส้นทางสายนี้จากสถานีคานายาไปสถานีเซ็นซู จ.ชิซุโอกะ ระยะทาง 35.9 ก.ม. แล่นเลียบแม่น้ำโออิกาวา ผ่านไร่ชาสำหรับผลิตชาเขียวชื่อดังระดับประเทศญี่ปุ่น

โพนี่ใช้เวลาแล่นนำเที่ยว 1 ชั่วโมง 20 นาทีต่อเที่ยว หยุดแวะรับ-ส่งทุกสถานี 19 แห่ง และบริการเฉพาะวันหยุดวันละ 1-3 เที่ยว ขึ้นอยู่กับฤดูกาลช่วงร้อนหรือหนาว

โพนี่เคยผ่านสงครามในไทย ทำให้มีเรื่องเล่าขานเชิงตำนานชวนสนใจแก่นักท่องเที่ยวระหว่างเดินทาง จึงน่าจะเป็นการนำเสนอขายท่องเที่ยวไทยได้ช่องทางหนึ่ง

แต่น่าเสียดาย…ไทยมีสำนักงาน ททท.สาขาโตเกียวตั้งอยู่ย่านฮิบิยาใกล้ย่านการค้ากินซ่า ทำหน้าที่รุกตลาดท่องเที่ยวญี่ปุ่นเที่ยวไทย และรับผิดชอบพื้นที่ถึง จ.ชิซุโอกะ แล้วยังมีสำนักงานสาขาที่โอซาก้ากับฟูกูโอกะ

ทว่า…ทั้ง 3 แห่งกลับไม่มีบทบาทที่จะเจาะตลาดกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวตัวจริง ให้เกิดความคิดวางแผนมาเที่ยวเมืองไทยตามรอยสงคราม และรอยโพนี่หลังสงครามเลิก

อีกเรื่องที่ชวนน่าเสียดาย…กรณีการปลดระวางหัวรถจักรไอน้ำที่เหลือในไทยลงแต่ปี 2520 ร.ฟ.ท.ก็ไม่คิดที่จะบูรณะกลับมาใช้เพื่อการท่องเที่ยวเหมือนโออิกาวาโมเดล มีบ้างที่นำมาประกอบฉากการแสดงแสง สี เสียง บนสะพานข้ามแม่น้ำแคว และนำเที่ยวอยุธยาเป็นครั้งคราว

ปัจจุบันกิจการรถไฟไทยกำลังตกต่ำย่ำแย่ จากกรณีสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามามีอิทธิพลเหนือผู้บริโภค แถมมีรถบัสปรับอากาศเป็นตัวสอดแทรก เพิ่มการแข่งขันภายใต้ระบบโลจิสติกส์แนวใหม่อย่างรุนแรง ส่งผลให้สถานะรถไฟไทยทรุดหนักลงไปอีก

กระนั้น…ก็ยังดีที่ทุกวันนี้ ร.ฟ.ท.ยังคงอนุรักษ์เส้นทางสายสั้นๆ ไว้บริการ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่บ้าง เพียงขาดการพัฒนาภาพลักษณ์ “ถึงก็ชั่ง ไม่ถึงก็ชั่ง” ด้วยการทดลองขนเอาหัวรถจักรไอน้ำที่พอฟื้นฟูได้มาแล่นเป็นขบวนพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวช่วงวันหยุด

โดยมีเส้นทางแล่นบริการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น ขบวนรถไฟสายมรณะกาญจนบุรี, เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเที่ยวพัทยา-พลูตาหลวง, สายอรัญประเทศเชื่อมปอยเปต จ.บันเตียเมียนเจย ที่มีแผนจะขยายไปถึงเสียมเรียบรับเออีซี

เส้นทางระหว่างประเทศอีกแห่ง คือจากสถานีหนองคายสู่ท่านาแล้ง สปป.ลาว

ไม่รู้นะ…

ถ้า ร.ฟ.ท.รู้จักอนุรักษ์พร้อมพัฒนาเช่นโออิกาวาโมเดล แสดงความสง่างามขบวนรถไฟนำเที่ยวที่มีหัวรถจักรไอน้ำโบราณปรากฏอยู่หัวขบวน ก็จะเป็นสีสันผลักดันให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟแบบโรมานซ์เชิงคุณภาพ โดยทำตลาดอย่างมืออาชีพ ขยันรุกตลาดอย่างเข้มข้น พัฒนาบริการให้ก้าวหน้า พร้อมร่วมงานส่งเสริการขายท่องเที่ยวทุกเมื่อ

เชื่อว่า…วิธีนี้น่าจะเกิดมิติใหม่ให้กิจการรถไฟไทย!