ทราย เจริญปุระ | ส.ว.-นายกฯ มีทางอื่นให้ไปไหม?

ตั้งใจไว้เลยว่าจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ของสตีเวน คิง

-กลับมาจากป่าช้า-

หะแรกก็คุยกันในหมู่เพื่อนฝูง ว่าทุกคนคงรู้เนื้อหาของเรื่องนี้กันหมดแล้วกระมัง เพราะขึ้นหิ้งเป็นหนังสยองขวัญคลาสสิคไปแล้ว โดยฉบับเดิมนั่นมีทำภาคสอง (ซึ่งฉันว่าดูสนุกดีในความรีบๆ ร้อนๆ ของงานสร้าง) และปีนี้ก็เพิ่งโดนหยิบมาทำใหม่อีกครั้ง โดยบิดเปลี่ยนเนื้อหานิดหน่อย แต่ใจความสำคัญยังอยู่

คือการไม่ยอมตาย

การเล่นเป็นพระเจ้า

ฉันเลยคิดจริงจังถึงขั้นว่า ตรงพื้นที่ซึ่งจะเขียนชวนคุณทั้งหลายมาอ่าน จะเขียนชื่อนามสกุลของ ส.ว.แต่งตั้งทั้ง 250 คนลงไป

อือ กลับมาจากป่าช้าไง

นึกออกเนอะ

แต่แล้วความก้าวร้าวของฉัน (ซึ่งน่าจะถูกด่าแน่ๆ ถ้าขืนเขียนไปแบบที่ตั้งใจไว้) ก็ถูกระงับลงด้วยคำถามง่ายๆ จากน้องคนหนึ่ง

“พี่รีวิวเร็วๆ นะคะว่าหนังสือเป็นยังไง เพราะหนูดูหนังแล้วงงมาก”

เฮ่ย มีคนดูแล้วงงด้วยเหรอ?

ฉันไม่ได้ไปถามน้องคนนั้นต่อหรอก ว่าไอ้ที่บอกงงนั่นคือตรงไหน

แต่ก็เตือนตัวเองว่า เรื่องบางเรื่อง คนเราก็เข้าใจได้ไม่เท่ากัน

สิ่งที่ดีสำหรับบางคน อาจจะห่วยแตกกับอีกคน

มนุษย์บางคนต้องการคำตอบและความจริง แต่บางคนก็ยินดีกลืนภาพหลอน

มีภาษิตของชาติไหนสักอย่าง ที่บอกว่า, จงระวังความปรารถนาของตัวเอง

ตอนเด็กๆ ฉันไม่เห็นจะเข้าใจอะไรแบบนี้เลย

แค่อยากได้ อยากมี มันต้องระวังอะไรมากมาย

แค่อยากเฉยๆ เอง

พอโตขึ้นนิดก็เริ่มเข้าใจว่า เพราะบางความปรารถนานั้นเป็นจริงได้ แต่มันไม่เลือกวิธีการ

และพอสมปรารถนาขึ้นมา เราก็จะอดคิดไม่ได้ ว่ากูไม่น่าเลย

เหมือนกับเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่พ่อแม่อธิษฐานถึงลูกชายผู้ไปรบนั่นล่ะ ฉันจะไม่เล่าก็แล้วกันว่ารายละเอียดเป็นแบบไหน แต่เรื่องแบบนี้พอคิดขึ้นมาก็อันตราย เหมือนตำนานเก่าแก่ว่าด้วยกษัตริย์คนหนึ่งที่ขอให้ตัวเองจับอะไรก็เป็นทอง ซึ่งก็ทำได้จริง แต่พอไปจับแก้วน้ำจะดื่ม น้ำก็กลายเป็นทอง อาหารการกินจะตักเข้าปากก็เป็นทองคำไปสิ้น

เรียกว่าตายน้ำตื้นกันง่ายๆ จากความปรารถนาแบบไม่รอบคอบของตัวนี่เอง

ความรักทำให้คนตาบอด แต่ที่มืดบอดที่สุดคือการตะเกียกตะกายเพื่อให้ได้เป็นที่รักหรือที่ยอมรับของใครสักคน

ไอ้คำว่าเป็นที่รักนี่ก็อภิปรายกันต่อได้ ว่ารักแบบไหน

รักแบบมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องหรือเปล่า

เพราะจากวันที่ฉันผุดไอเดียที่ฉันจะเขียนชื่อ ส.ว.เป็นต้นฉบับถึงชื่อหนังสือ “กลับมาจากป่าช้า” วันนั้นแล้ว

จนมาถึงวันนี้ ก็ดูจะยังแบ่งสรรปันส่วนกันไม่ลงตัว ทั้งทวงสัญญา คืนสัญญา กลับคำ เว้าวอน อ้อนออด และข่มขู่

ดูไปก็น่าสมเพช ว่าเวลาที่เราอยากเป็นคนพิเศษ เป็นตัวเลือกแรกๆ โดยไม่มีความรักอย่างแท้จริงเป็นตัวเชื่อมประสานก็คงเป็นแบบนี้สินะ

โดนหลอกกันจนมืดบอด

ไม่ได้คิดอีกแล้วว่าคนจะเห็นเราแบบไหน

และไม่ได้สนใจว่าจะขายศักดิ์ศรีขนาดไหน

ฉันไม่พูดถึงเรื่องจิตวิญญาณล่ะนะ เพราะใครที่ได้ดูการโหวตเลือกในสภาชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนนั้นก็คงรู้สึกเหมือนฉัน ว่าเหมือนนั่งดูผีดิบในหนัง ที่ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากมาย นอกจากหิว

กลับมาที่หนังสือก่อนก็แล้วกัน ว่าเป็นแนวที่สตีเวน คิง ถนัดนั่นก็คือความลึกลับสั่นประสาท

ว่าด้วยครอบครัวเพียบพร้อมครอบครัวหนึ่งที่พ่อเป็นหมอ และย้ายเข้าไปอยู่บ้านใหม่ ในเมืองใหม่เพื่อรับหน้าที่แพทย์ในเมืองนั้น

ก็บังเอิญที่เขตบ้านนั้นไปติดกับสุสาน (ซึ่งในหนังสือแปลได้ล้อกับการสะกดผิดจากต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ดีว่า “สุขสาน”) สัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นแค่ปากทางเข้าของพื้นที่ต้องสาปมากกว่านั้น

ซึ่งเมื่อมองกลับไปที่คำถามของน้องคนนั้นว่า “งง” กับเนื้อเรื่อง ฉันว่าก็คงอยู่ที่การฝืนธรรมชาติอันเป็นจุดตัดสินของเรื่อง

มีหลายครั้งที่คนบอกฉัน ว่าฉันเก่งมาก เข้มแข็งมาก ซึ่งฉันก็รู้สึกเต็มตื้นด้วยความขอบคุณ

แต่อีกฝั่งของใจก็ถามว่า, แล้วฉันมีทางอื่นให้ไปไหม?

จริงๆ หนทางก็คงมีเป็นร้อยพัน แต่จะเพราะสันดานดั้งเดิม ความเชื่อ หรือภาพที่เราจินตนาการไว้มันก็ทำให้เราต้องเลือกทำอะไรซักอย่าง

ทางเลือกของมนุษย์นั้น เอาเข้าจริงก็มีน้อยกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับเรื่องการต้องเลือกระหว่างสองเส้นทาง

ทำหรือไม่ทำ

สุดท้ายมันก็อาจจะเป็นเรื่องนี้ เลือกสักหนทาง และสิ่งที่ตามมาหลังจากการเลือกนั่นแหละที่จะวัดใจว่าใครเข้มแข็งกว่ากัน กล้าหาญกว่ากัน หรืออดทนกว่ากัน

น้องอาจจะงงว่าทำไมการเลือกทางสักทางหนึ่งนำมาซึ่งหายนะของชีวิตได้อย่างไร

ก็เลยอยากจะบอกน้องไปว่า เอาแบบง่ายที่สุด และน่าจะเห็นได้ชัดในช่วงอายุของน้อง ไม่ต้องมองย้อนกลับไปไกล น้องลองไปเปิดย้อนหลังดูการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนดูค่ะ

อะไรแบบนั้นนั่นล่ะ

คือจุดเริ่มต้น

“กลับจากป่าช้า” (Pet Sematary) เขียนโดย สตีเวน คิง แปลโดย อรทัย พันธพงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยแพรวสำนักพิมพ์, มีนาคม 2562