โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/มงคลเหรียญ รุ่น 2 หลวงปู่จันทร์ เขมิโย อดีตเจ้าคณะนครพนม

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

มงคลเหรียญ รุ่น 2

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

อดีตเจ้าคณะนครพนม

 

“หลวงปู่จันทร์ เขมิโย” หรือ “พระเทพสิทธาจารย์” อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม พระเถระชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา

พระเครื่องแต่ละรุ่น โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก เป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดาเซียนพระนักสะสมพระเครื่อง

ดังนั้น ในปี พ.ศ.2512 นายวรรณดี ตั้งตรงจิตร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนมขณะนั้น ขออนุญาตวัดจัดสร้างพระเครื่อง คือ เหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่น 2 ไว้แจกเป็นสิ่งที่ระลึกในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของตน ส่วนหนึ่งได้ถวายวัดไว้แจกเป็นที่ระลึก

เหรียญรุ่นนี้มีลักษณะเป็นรูปอาร์ม มีหู จัดสร้างเป็นเนื้อเงิน เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงรมดำ จัดสร้างรวมกันจำนวน 2,512 เหรียญ เท่า พ.ศ.ที่สร้าง

ด้านหน้ามีเส้นสันขอบนูนรอบเหรียญ ใต้หูห่วง มีตัวหนังสือนูนคำว่า “วัดศรีเทพนครพนม” ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหลวงปู่ครึ่งองค์ ด้านล่างสุดมีตัวหนังสือนูนคำว่า “พระเทพสิทธาจารย์”

ด้านหลังเหรียญแบนราบ มีลายเส้นนูนเป็นรูปยันต์พระเจ้า 5 พระองค์ ภายในโครงยันต์สี่เหลี่ยมไขว้กับสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีอักขระในช่องสี่เหลี่ยมเล็กนับได้ 25 ตัว ด้านล่างเป็น “๒๕๑๒” พุทธศักราชที่สร้างเหรียญ

เป็นเหรียญที่พิเศษกว่าเหรียญรุ่นอื่น เนื่องจากนายวรรณดีนำเหรียญไปให้พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ประกอบพิธีนั่งอธิษฐานจิตปลุกเสกก่อน จึงนำมาให้หลวงปู่จันทร์ปลุกเสกอีกครั้ง โดยนิมนต์พระอาจารย์ฝั้นร่วมพิธีด้วย

ถือเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงที่นับวันจะหายาก

เหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่น 2 (หน้า-หลัง)

 

มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2424 ปีมะเส็ง ที่บ้านท่าอุเทน หมู่ 3 ต.ท่าอุเทน อ.เมือง จ.นครพนม บิดามารดาชื่อนายวงศ์เสนา และนางไข สุวรรณมาโจ

ช่วงวัยเยาว์ สุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์เป็นโรคหอบหืด บิดาจึงให้ไปอยู่กระท่อมปลายนา

ขณะอายุ 10 ขวบ บิดาล้มป่วยและเสียชีวิต จึงได้บวชเป็นสามเณรหน้าไฟ ที่วัดโพนแก้ว ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยมีพระขันธ์ ขันติโก เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะอยู่ที่วัดโพนแก้ว ได้ศึกษาอักษรขอมและอักษรธรรม ฝึกอ่านเขียนสวดมนต์น้อย มนต์กลาง และมนต์หลวง ตามลำดับ

อายุ 19 ปี ลาสิกขาไปประกอบอาชีพค้าขาย

ครั้นอายุ 20 ปี เมื่อ พ.ศ.2445 จึงตัดใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ที่พัทธสีมาวัดโพนแก้ว โดยมีพระเหลา ปัญญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระเคน อุตตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระหนู เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า เขมิโย

 

พํานักอยู่วัดได้ 2 เดือน กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาที่วัดอินทร์แปลง อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อติดตามพระเคน ครูผู้สอนคัมภีร์มูลกัจจายน์

พ.ศ.2445 พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้เป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมพระป่า และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปัญโญ) วัดปทุมมาราม ผ่านมาพักปักกลดบริเวณโรงฆ่าสัตว์เทศบาลเมืองในปัจจุบัน

พระปัญญาพิศาลเถร และพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เสาร์ ให้คัดพระภิกษุ 4 รูปผู้เฉลียวฉลาด โดย 1 ในนั้นมีพระจันทร์ พระลา พระหอม และสามเณรจูม (พระธรรมเจดีย์) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ถวายเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์ ออกธุดงค์ผ่านดงสัตว์ป่านานาชนิด บำเพ็ญเพียรสมาธิภาวนา ก่อนมุ่งสู่ จ.อุบลราชธานี

ช่วงที่พำนักที่วัดนี้ 4 เดือนเต็มเพื่อฝึกซ้อมบทสวดมนต์ พระอาจารย์เสาร์นำประกอบพิธีญัตติหลวงปู่จันทร์ เป็นพระธรรมยุต ณ อุโบสถวัดศรีอุบลรัตนราม (วัดศรีทองเดิม) จ.อุบลราชธานี มีพระปัญญาพิศาลเถร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาเดิมว่า เขมิโย

พ.ศ.2449 กราบลาพระอาจารย์มาจำพรรษาที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดร้างเดิมชื่อวัดศรีคุณเมืองนาน 3 ปี ปรับปรุงพัฒนาวัดขณะพรรษาที่ 7

พ.ศ.2453 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ฝากตัวเป็นศิษย์กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี) ที่สำนักวัดเทพศิรินทราวาส ศึกษานักธรรมตรี-โท และบาลี 3 ประโยค

เป็นช่วงที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ขาดพระผู้ใหญ่ปกครอง จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบึก (อำเภอเมืองในปัจจุบัน) พ.ศ.2459 ได้นำแผนการศึกษาของรัชกาลที่ 5 จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแผนใหม่และนักธรรมบาลีขึ้นเป็นแห่งแรก มีพระเณรและคฤหัสถ์ชาย เรียนรวมกัน

 

ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2459 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม

พ.ศ.2460 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2502 เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2474 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสารภาณพนมเขต

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสารภาณมุนี

พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารภาณมุนี

พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เวลา 08.00 น. มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 92 ปี พรรษา 72