จรัญ มะลูลีม : วิถีปฏิวัติอิสลามอิหร่านในความท้าทายใหม่

จรัญ มะลูลีม

40 ปีการปฏิวัติ
ตามแนวทางอิสลาม

ปี2019 อิหร่านเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปีของการปฏิวัติตามแนวทางอิสลาม (Islamic Revolution) ไปเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางการเผชิญการกดดันอย่างหนัก ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐ

สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) ได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ปกครองด้วยแนวทางของศาสนา (Theocratic Regime) อันเป็นรัฐที่ได้รับสถาปนาขึ้นโดยการนำของอายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ อัล-มูซาวี อัล-โคมัยนี (Ayatullah Ruhullah Al-Musavi al-Khomerni) ในปี 1979 หลังจากประชาชนนับล้านได้ออกมารวมตัวกันในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศ และร่วมกันออกมาใช้โวหารต่อต้านประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้นำของอิหร่านในปัจจุบันกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบมาจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐและพันธมิตรของสหรัฐและความตึงเครียดทางสังคม ที่ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่อำนาจของทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐที่เพิ่มความเป็นปรปักษ์กับอิหร่านมากยิ่งขึ้น

 

ไม่ว่าสถานการณ์ในอิหร่านจะผันแปรหรือเผชิญกับความกดดันอย่างไรก็แล้วแต่ แต่อิหร่านก็ยังคงรักษาเสน่ห์แห่งการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามเอาไว้ได้ยาวนานถึง 4 ทศวรรษ และระหว่างขวบปีเหล่านี้อิหร่านได้ผ่านสงคราม 8 ปี (1980-1988) กับอิรักมาแล้ว

แม้จะดูเหมือนว่าในภูมิภาคตะวันออกกลางอิหร่านเกือบจะถูกโดดเดี่ยวและเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แต่ที่น่าสนใจคืออิหร่านได้เปลี่ยนความท้าทายเหล่านี้มาเป็นโอกาสอย่างกรณีสงคราม 8 ปีกับอิรักได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในบางภาคส่วนของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

ตัวอย่างเช่น การลงทุนในด้านการศึกษาและการดูแลสุขภาพอนามัยมีผลไปในทางบวกอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในปี 2018 อิหร่านกลายเป็นสังคมที่มีคนรู้หนังสือถึงร้อยละ 93 และมากกว่าร้อยละ 60 ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นสตรี การเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และคนส่วนใหญ่ในสังคมได้รับการดูแลด้านการสาธารณสุขเป็นอย่างดี

แม้ว่าสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้จะมีความเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ลงนามข้อตกลงกับหลายฝ่ายว่าด้วยนิวเคลียร์ในปี 2015 ทั้งนี้ ชนชั้นนำในรัฐบาลอิหร่านคาดหมายว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้อิหร่านเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจกับโลกส่วนใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตที่เปลี่ยนไป

ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rouhani) ได้เพิ่มการลงทุนมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ แต่สภาวะคลี่คลาย (de”tente) ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐต้องมาจบลงเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ

ฝ่ายบริหารของสหรัฐได้ยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและเริ่มการแซงก์ชั่นกับอิหร่านอีกครั้งหลังจากการแซงก์ชั่นดังกล่าวถูกยกเลิกไปในสมัยของโอบามา

นอกจากนี้ สหรัฐยังร่วมมือกับคู่ปรปักษ์ของอิหร่านในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบียเพื่อทำให้ซาอุดีอาระเบียมีอำนาจมากขึ้นในตะวันออกกลางและเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับอิหร่านที่เข้าไปมีบทบาทด้านการต่างประเทศอย่างสำคัญทั้งในอิรักและซีเรีย

ในเวลาเดียวกันอิสราเอลพันธมิตรคู่ใจของสหรัฐและปรปักษ์สำคัญของอิหร่านก็ถล่มที่มั่นของอิหร่านในซีเรียหลายครั้ง แต่อิหร่านก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้

การประท้วงอันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศแม้จะจบลงได้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเข้าไปทำให้การประท้วงยุติลง แต่ก็สร้างผลสะเทือนทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

เกิดขบวนการที่เรียกกันว่า Green Movement ในปี 2009 ตามมาด้วยการประท้วงรัฐบาลในปี 2017 มีการท้าทายข้อกำหนดทางศาสนาโดยสตรีอิหร่าน จนนำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วงถึง 7,000 คน

การเข้าแทรกแซงจากประเทศภายนอกอย่างสหรัฐและพันธมิตรอาหรับบางประเทศไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอิหร่านมากนัก นโยบายที่เป็นปรปักษ์ของสหรัฐที่พยายามดึงพันธมิตรเข้าร่วมต้านอิหร่านทำให้อิหร่านต้องตั้งมั่นและยืนหยัดสู้ต่อไป หลังจาก 40 ปีแห่งการโค่นระบอบชาฮ์ (Shah) แห่งราชวงศ์ปาห์ลาวีของอิหร่านลงไป

ทั้งนี้ อิหร่านจะต้องให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชนตัวเองและความไม่ลงรอยกับประเทศภายนอกให้มากขึ้น

 

ในงานเฉลิมฉลอง 40 ปีของอิหร่านในปี 2019 อิหร่านพยายามให้ประชาชนระลึกถึงวันที่ตัวประกันของสหรัฐในอิหร่านถูกจับกุมและถูกปิดตาอยู่ในสถานทูตสหรัฐ โดยตัวประกันเหล่านี้ต้องถูกคุมขังอยู่นานถึง 444 วันในฐานะจารกรรม

ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐที่เคยมีอิทธิพลครอบคลุมสังคมอิหร่านในสมัยของจิมมี่ คาร์เตอร์ เปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้

40 ปีแห่งการปฏิวัติเป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปี เมื่อมีการปฏิวัติช็อกโลกในปี 1979 รู้จักกันในนามการปฏิวัติตามแนวทางอิสลาม เป็นการโค่นล้มระบอบการปกครองของชาฮ์ ปาห์ลาวี ที่สืบทอดกันมายาวนาน 2,500 ปี จากชายชราผู้ทรงอิทธิพลซึ่งเรียกกันตามเกียรติที่ได้รับว่า ซัยยิด อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ อัล-มูซาวี อัล-โคมัยนี ชายสูงวัยที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่านได้สำเร็จในปี 1979 ในวัยที่เขามีอายุ 79 ปีพอดี

เมื่อ 40 ปีก่อนที่ผ่านมาท้องถนนของอิหร่านล้วนเต็มไปด้วยผู้คนนับล้านที่มาร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จในการปฏิวัติ อีกเดือนหนึ่งต่อมาภาพของตัวประกันสหรัฐที่ถูกจับเป็นตัวประกันในฐานะจารกรรมได้ถูกเผยแพร่ออกสู่สายตาผู้คนจำนวนมาก ซึ่งไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ของอิหร่านเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนรูปภูมิภาคนี้ไปตลอดกาล โดยเฉพาะการก้าวพ้นจากอิทธิพลของสหรัฐ

การเฉลิมฉลองการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามมีขึ้นทุกปีในวันที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ อันเป็นวันที่อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี เดินทางกลับจากฝรั่งเศสมายังกรุงเตหะรานเมืองหลวงของอิหร่าน หลังจากต้องลี้ภัยอยู่ในประเทศนี้ยาวนานถึง 14 ปีก่อนที่จะกลายมาเป็นผู้นำการปฏิวัติตามแนวทางอิสลาม

ซึ่งนักคิดทางสังคมและการเมืองของฝรั่งเศสอย่างมิเชล ฟูโกล์ เรียกการปฏิวัตินี้ว่าเป็นการแตกออกของดวงวิญญาณใหม่

 

10 วันของการเฉลิมฉลองนี้รู้จักกันดีในชื่อสิบวันแห่งรุ่งอรุณ (Ten Days of Dawn) ซึ่งจะจบลงในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันที่ชาฮ์ มุฮัมมัด เรซา (ริฏอ) ปาห์ลาวี (Shah Muhammad Reza Pahlavi) และรัฐบาลของเขาต้องล่มสลายไปหลังจากมีการปะทะกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่และนักต่อสู้ฝ่ายปฏิวัติท่ามกลางการประท้วงที่มีอยู่ทั่วประเทศ

จากส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองจะพบว่าตึกรามบ้านช่อง สถาบันและที่ทำงานต่างๆ จะประดับด้วยธงชาติที่ประกอบไปด้วยสีเขียว-ขาวและแดง ในขณะที่ตามท้องถนนจะเต็มไปด้วยดวงไฟที่ประดับประดาอยู่ทั่วไป

เพื่อระลึกถึงการกลับมาจากฝรั่งเศสของอายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้ขับขี่รถอยู่ตามท้องถนนต่างก็เปิดไฟและบีบแตรการเฉลิมฉลองของพวกเขา ในขณะที่บนท้องฟ้าเฮลิคอปเตอร์ได้โปรยปรายดอกไม้ลงมาตลอดเส้นทาง 21 ไมล์ จากสนามบินไปยังสุสานเบฮิสตี ซาเราะฮ์ (Behesht-e-Zahra) ที่อยู่ทางใต้ของกรุงเตหะราน ซึ่งที่นี้อายะตุลลอฮ์โคมัยนีได้กล่าวสุนทรพจน์กับประชาชนเป็นครั้งแรก และที่นี่เป็นที่ที่เรือนร่างของบิดาแห่งการปฏิวัติตามแนวทางของอิหร่านได้ฝังร่างลงบนพื้นปฐพีของแผ่นดินแม่ของเขา

เจ้าหน้าที่ของอิหร่าน รวมทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุด อายะตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ต่างก็มาเยือนหลุมฝังศพของอายะตุลลอฮ์-โคมัยนี เพื่อแสดงให้เห็นความเคารพต่ออิหม่ามโคมัยนีอย่างต่อเนื่องและตลอดไป