Footnotes on Institution นิทรรศการที่ตั้งคำถามถึงสถานการณ์ของสถาบันศิลปะในประเทศไทย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเราได้ไปดูงานนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา ก็เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันอีกตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Footnotes on Institution

นิทรรศการกลุ่มโดย 5 ศิลปินร่วมสมัยอย่าง ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, สะรุจ ศุภสุทธิเวช, อภิชาติ ฐิติวงศ์วรสกุล และ พงศกรณ์ ญาณะณิสสร

โดยมีพอใจ อัครธนกุล เป็นภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรผลงานและกำหนดทิศทางของนิทรรศการ

นิทรรศการในครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินทั้ง 5 ทั้งจากในอดีตและที่ผลิตขึ้นใหม่ เพื่อพูดถึงความเป็นสถาบันศิลปะในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้สถาบันศิลปะในฐานะสื่อในการทำงาน การหยิบยืมประวัติศาสตร์, อิทธิพล และวิธีคิดของสถาบันศิลปะเหล่านั้นมาใช้ รวมไปถึงการทำผลงานศิลปะเพื่อรำลึกถึงสถาบันศิลปะที่ปิดตัวไปแล้ว

หรือสถาบันศิลปะที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากอยู่ในปัจจุบัน

โดยปกติ เมื่อพูดถึงสถาบันทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ เรามักจะนึกถึงมันในฐานะพื้นที่ที่ใช้ในการแสดงงานศิลปะ

แต่ในความเป็นจริงแล้วสถาบันศิลปะมีบทบาทในอีกหลายแง่มุม แม้แต่ในแง่มุมทางการเมืองก็ตาม และด้วยความที่ผู้มีอำนาจในประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ส่งผลให้สถาบันทางศิลปะในบ้านเราต้องดำรงอยู่อย่างยากลำบากกระท่อนกระแท่นและมีอายุขัยที่สั้นอย่างยิ่ง

ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นการวิเคราะห์ถึงบทบาทและสถานการณ์ของสถาบันศิลปะในประเทศไทย

หรือแม้แต่ตั้งคำถามกับเราว่า “สถาบันศิลปะ” ของสังคมไทยในปัจจุบันนั้นมีความหมายว่าอะไรกันแน่?

“นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากความสนใจเกี่ยวกับสถาบันศิลปะ ทั้งตัวอาคาร การทำงาน อายุขัย การเกิดและการตายของมัน ก่อนหน้านี้เราเคยบ่นๆ กับใครสักคนว่า สถาบันศิลปะของไทยไม่มีความมั่นคงเลย”

“ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีสถาบันศิลปะเกิดขึ้นและตายไปในเวลาไม่นาน ขนาดสถาบันใหญ่ๆ อย่าง Bacc (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ก็ต้องเจอกับปัญหาเรื่องงบประมาณ เขาก็ตอบเราว่า จริงๆ แล้วสถาบันศิลปะอาจจะไม่ใช่อะไรที่อยู่ยั่งยืนตลอดไปหรือเปล่า? มันอาจเป็นเหมือนคนเราที่มีอายุขัย มีวันตายก็ได้”

“คำตอบนี้ทำให้เราสนใจว่า สถาบันศิลปะมันควรจะมีอายุเท่าไหร่กันแน่? ประกอบกับในช่วงนี้มีข่าวว่าจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะขึ้นในบ้านเราหลายแห่ง และเราเองก็มีประสบการณ์ตรงในส่วนนี้ ว่ามันมีความยากลำบากต่างๆ มากมาย เราจึงอยากเอาประสบการณ์เหล่านั้นมานำเสนอ”

“แต่ด้วยความที่มันเป็นประเด็นใหญ่มากๆ จนทำให้งานชิ้นเดียวหรือศิลปินคนเดียวไม่สามารถพูดถึงได้หมด เราก็เลยรวบรวมเอาชิ้นส่วนทางความคิดของศิลปินหลายคนที่ทำงานเกี่ยวกับสถาบันทางศิลปะมารวบรวมกันไว้ในลักษณะเหมือนกับรวม Footnote (เชิงอรรถ) (อันเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ)”

“ถึงแม้ผลงานเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกทำขึ้นเพื่อตอบประเด็นของเราโดยตรง แต่เมื่อเราจับชิ้นส่วนเหล่านี้มาอยู่รวมกัน มันก็อาจจะมีบทสนทนาที่น่าสนใจที่อาจจะช่วยตั้งคำถามหรือเพิ่มข้อคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ของสถาบันศิลปะไทยก็ได้”

พอใจ อัครธนกุล ภัณฑารักษ์สาวกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้

เริ่มด้วยผลงานของลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล อย่าง Present Perfect (2019) ผลงานที่ทำต่อเนื่องจากผลงาน After Care (2015) ที่เขาเคยทำขึ้นสมัยที่ทำงานเป็นผู้ประสานงานให้หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ จุฬาฯ

ลัทธพลสร้างผลงานชุดนี้ขึ้นจากการเก็บร่องรอยทางประวัติศาสตร์จากหลากสถาบันทางศิลปะหลายแห่งในประเทศไทยด้วยวิธีการง่ายๆ

ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล: Present Perfect (2019)

อย่างการเอากระดาษทาบบนผนังหอศิลป์เหล่านั้นแล้วใช้ดินสอฝน (แบบเดียวกับที่เด็กๆ เล่นเอาดินสอฝนลายเหรียญหรือใบไม้บนกระดาษนั่นแหละ)

ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล: Rest (2017-9)

แต่ที่น่าสนใจก็คือ แทนที่จะแสดงภาพที่เขาฝนมา เขากลับพลิกเอาด้านหลังของกระดาษมาใส่กรอบแสดงแทน สิ่งที่ปรากฏอยู่บนกระดาษ จึงไม่ใช่ลายของผนังที่เกิดจากการฝนดินสอ หากแต่เป็นร่องรอยขรุขระของผนังจากการฝนที่ดูคล้ายกับการปั๊มนูน

เทคนิคนี้ยังเก็บฝุ่นและรอยเปื้อนจากผนังเอาไว้บนกระดาษสีขาว จนทำให้ดูคล้ายกับว่าเขาตัดผนังเหล่านั้นมาใส่กรอบแสดงเอาไว้จริงๆ

ยิ่งกว่านั้นเขายังไม่ระบุว่ากระดาษแผ่นไหน ฝนมาจากที่ใด ทำให้ผู้ชมอย่างเราไม่อาจแยกแยะได้ว่ามันเป็นผนังจากหอศิลป์แห่งไหนบ้าง (ยกเว้นบางคนที่เคยทำงานที่หอศิลป์เหล่านั้น อย่างทีมงานติดตั้งนิทรรศการนี้ที่จำได้น่ะนะ)

หรือผลงานอีกชิ้นของเขาอย่าง Rest (2017-2019) ซึ่งเป็นผลงานที่ลัทธพลเคยแสดงในนิทรรศการ Occasionally Utility (2017) ที่ Gallery VER ที่เขานำแท่นวางผลงานศิลปะ ที่ปกติไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่าการเป็นที่วางตั้งผลงานศิลปะ ไม่มีคุณค่าและความหมายใดๆ

ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล : Rest (2017-9)

แต่ลัทธพลนำเอาแท่นเก่าๆ ที่เขาเก็บมาจากหลังหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาซ่อมแซมและขัดถูจนเรียบกริบเป็นมันเงา

แล้วนำไปวางบนแท่นวางผลงานศิลปะไม่ต่างกับศิลปวัตถุที่มีคุณค่าชิ้นหนึ่ง

นอกจากนี้ เขายังวางแท่นที่ว่าในแนวนอน เพื่อแสดงนัยยะถึงการพักผ่อนจากหน้าที่ตามปกติของมัน

ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นการพูดถึงบทบาทหน้าที่และการดูแลรักษาวัตถุใช้งานในสถาบันศิลปะแล้ว ยังพูดถึงการแบ่งชนชั้นของวัตถุในพื้นที่ทางศิลปะอีกด้วย

ด้วยความที่นอกจากลัทธพลจะเป็นศิลปินแล้ว เขายังเคยทำงานที่สถาบันศิลปะมาหลายแห่ง ทำให้เขาสามารถถ่ายทอดสิ่งละอันพันละน้อยในแง่มุมที่ผู้ชมงานอย่างเรามักมองข้ามไปได้อย่างน่าสนใจ

ตามมาด้วยผลงานของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ที่หยิบเอาผลงาน Passage (2002) ที่เคยร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่ม Present Perfect ในหอศิลป์พีระศรี (ซึ่งปิดทำการไปแล้วในเวลานั้น) ในปี 2002 กลับมาแสดงใหม่

โดยทำการตีความและปรับเปลี่ยนผลงานให้เข้ากับบริบทของพื้นที่แสดงงานในปัจจุบัน และจากชิ้นส่วนผลงานที่ยังหลงเหลืออยู่ที่เขาเก็บสะสมเอาไว้ นิพันธ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของผลงานชิ้นนี้ว่า

นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : Passage (2002) (re-make in 2019)

“ตอนนั้นเราทำงานชิ้นนี้ในพื้นที่ชั้น 2 ของหอศิลป์พีระศรี ซึ่งไม่ใช่พื้นที่แสดงงาน แต่เป็นสำนักงานของหอศิลป์ ตอนเราไปเจอมันมีแต่ขยะเต็มไปหมด เราก็รื้อเอาข้าวของและขยะที่อยู่ในนั้นมาทำงาน ทั้งหน้ากากรางไฟที่เอามาพลิกแขวนจนกลายเป็นเหมือนเรือ และวางขั้วหลอดไฟ สตาร์ตเตอร์ ฯลฯ ที่เก็บได้จากในห้อง กับงานเก่าที่เป็นภาพพิมพ์จากจีวรขนาดโปสการ์ดไว้ข้างใน ข้างใต้รางปูด้วยผ้าโรยด้วยสีฝุ่นเป็นรูปท้องฟ้าที่ได้มาจากภาพถ่ายท้องฟ้าหน้าหอศิลป์ในเวลานั้น”

นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : Passage (2002) (re-make in 2019)

“หลังจากนิทรรศการจบ เราก็เก็บเอาชิ้นส่วนบางส่วนของงานชิ้นนั้นเอาไว้ ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านั้นก็ถูกเอามาประกอบกันเป็นผลงานในนิทรรศการนี้ ยกเว้นกระจกที่ปูในโครงเหล็กของหน้ากากรางไฟที่เป็นของใหม่ และภาพวาดท้องฟ้าด้วยสีฝุ่นก็ทำในขนาดเล็กลง แล้วก็มีเศษกระจกที่ได้มาจากการที่เราเข้าไปที่หอศิลป์พีระศรีอีกครั้ง แล้วตัดสินใจเก็บอะไรบางอย่างออกมา เพื่อเป็นพยานที่ยืนยันถึงเวลา ซึ่งในปัจจุบัน หอศิลป์พีระศรีก็ยังไม่ถูกรื้อ มันยังคงอยู่ตรงนั้น แต่ไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว”

นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ : Passage (2002) (re-make in 2019)

“สำหรับเรา มันเป็นอะไรบางอย่างที่ยืนยันว่าสถานการณ์เกี่ยวกับสถาบันทางศิลปะมันไม่มีความมั่นคง มีลักษณะชั่วคราวมากกว่า ซึ่งงานที่แสดงคราวนี้ก็จะมีลักษณะชั่วคราวทั้งหมดเหมือนกัน”

การนำผลงานของนิพันธ์ชิ้นนี้กลับมาแสดงอีกครั้ง นอกจากจะเป็นการรำลึกซ้ำถึงหอศิลป์ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตที่ปิดตัวไปตั้งแต่อตีตกาลนานนมแล้ว มันยังเป็นอนุสรณ์ถึงสถานะอันง่อนแง่นคลอนแคลนของสถาบันศิลปะในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

(ยังมีต่อสัปดาห์หน้า)

นิทรรศการ Footnotes on Institution จัดแสดงที่แกลเลอรี่เว่อร์ ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15), ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม พ.ศ.2562, เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2103-4067

ขอบคุณภาพจากแกลเลอรี่เว่อร์