ไซเบอร์ วอชท์เมน : สารพัดประเด็น จาก “RIPTHAILAND” ถึงปมภาพไร้คำบรรยายของ “ช่อ”

การถ่ายทอดประชุมสภาเลือกนายกรัฐมนตรีที่ถูกถ่ายทอดผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เป็นจุดสำคัญของการเมืองไทยซึ่งประชาชนติดตามมากที่สุด

เพราะเป็นการชี้ชะตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาลทหาร คสช.ที่รัฐประหารโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2557 จนถึงตอนนี้ จะอยู่ต่อ หรือออกไปและได้คนใหม่มาแทน ซึ่งผู้ท้าชิงตำแหน่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตัวแทนแนวร่วม 7 พรรคฝ่ายต้านสืบทอดอำนาจ

แต่แล้ว ก่อนสิ้นสุดคืนวันที่ 5 มิถุนายน ด้วยเสียง ส.ส.ฝ่ายสนับสนุน คสช. (รวมถึง ส.ส.) ที่ได้จากสูตรคำนวณของ กกต.) 251 เสียง และ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช. 249 คน ต่างประสานเสียงอย่างแข็งขันเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ณ เวลานั้นเอง ปฏิกิริยาของประชาชนเมื่อทราบผลการเลือกนายกฯ ว่า ได้คนเดิม ทั้งที่ 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้บริหารประเทศดีขึ้นแม้แต่น้อย นอกจากสร้างภาพหลอกลวงประชาชน ก็ได้บรรยายตัดพ้อต่อสิ่งที่ได้รับ และติดแฮชแท็ก #RIPTHAILAND เพื่อสะท้อนและส่งเสียงถึงคนอื่น

นั่นทำให้เป็นจุดเริ่มต้นวิวาทะทางการเมือง ท่ามกลางข่าวการจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ยังไม่ราบรื่น

 

แฮชแท็ก #RIPTHAILAND ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมากขึ้นจนถึงวันถัดมา พร้อมความเห็นของผู้ใช้โซเชียลที่ไม่พอใจต่อการขึ้นดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ และวิจารณ์กลไกอย่างการเลือกตั้งอันน่ากังขาและ ส.ว.แต่งตั้งที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอดีตนายทหารและตำรวจ ไม่นับ ส.ว.ที่มาจาก สนช.ที่ คสช.แต่งตั้ง ที่ส่งเสริมการสืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงโอกาสที่ประเทศไทยอาจไม่ได้กลับสู่ประชาธิปไตย และทหารยังไม่ออกจากการเมือง

และยังมีอีกหลายความเห็นสนับสนุนนายธนาธรควรเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่สัญญาว่าจะคืนความสุขและความเจริญ แต่ 5 ปีในการบริหารกลับทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทุนใหญ่ที่สนับสนุน คสช.กลับได้ประโยชน์

เรียกว่า เศร้าใจกับประเทศไทย เรียกว่า 5 ปีในการนั่งบริหารรัฐบาลว่าแย่แล้ว ขืนอยู่ต่อจะแย่หนักขนาดไหน

 

แต่ท่ามกลางกระแสและความเห็นที่วิจารณ์การสืบทอดอำนาจอยู่นั้น ก็ได้มีวาทะจากดารานักแสดงคนหนึ่งที่โพสต์ข้อความเชิงถากถางกระแส RIPTHAILAND ว่า “ไม่ว่าใครจะมานั่งรัฐบาล เราทุกคนก็ต้องทำมาหากินอยู่ดี” นั่นกลับยิ่งเพิ่มความไม่พอใจและคอมเมนต์ถล่มความคิดของนักแสดงคนนี้รัวๆ

แม้จะมีเพื่อนร่วมวงการ รวมถึง “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อป้ายแดงจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาโพสต์ปกป้องนักแสดงคนดังกล่าว

แต่สำหรับ น.ส.วทันยาโพสต์ข้อความที่ให้กำลังใจนักแสดงเจ้าของวาทะเจ้าปัญหา กลับใส่โลโก้พรรคฝ่ายตรงข้ามซ้อนข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์นักแสดงรายนี้ เสมือนกับจงใจบอกว่า คนที่ออกมาวิจารณ์ เป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว นั่นทำให้ น.ส.วทันยาถูกวิจารณ์ด้วยอีกคน

เผลอๆ อาจหนักกว่านักแสดงที่ไปให้กำลังใจเสียอีก

วิวาทะ RIPTHALAND ยังไม่จบก็มีประเด็นจากอดีตนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลแห่งบุรีรัมย์อย่างเนวิน ชิดชอบ ก็ออกมาแสดงความเห็นต่อแฮชแท็กดังกล่าวว่า

“หลายวันก่อน มีกระแสคำฮิต #RIPTHAILAND บนโลกโซเชียล เห็นแล้วตกใจครับ คนไทยจำนวนมากชื่นชอบ และกด like ให้กับ #RIPTHAILAND เป็นคำฮิตติดอันดับโลก ประเทศไทยเป็นอะไร หรือทำอะไรผิด ทำไมต้องใช้ถ้อยคำแสดงความไว้อาลัยเสมือนหนึ่งประเทศไทยได้ตายจากไปแล้ว ไม่เป็นไร จะโกรธ จะเกลียด จะสาปแช่งผม หรือใครที่ทำให้ท่านไม่พอใจ อย่างไร หนักหนาแค่ไหน เอาให้เต็มที่ แต่ขอร้องว่า อย่าโกรธ เกลียด สาปแช่งประเทศไทย”

แล้วนายเนวินก็ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า จงใจบิดความหมายของ RIPTHAILAND ว่า ด่าสาปแช่งประเทศ หรืออาจถึงขั้นมองว่าเป็นพวกชังชาติ

ทั้งที่ความหมายของแฮชแท็กดังกล่าว คือไว้อาลัยกับประเทศ ที่ยังต้องอยู่ภายใต้ผู้นำรัฐบาลทหารที่กลายเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้มาด้วยกลไกซึ่งเอื้อต่อตัวเองทั้งสิ้น

และทำให้เกิดความเห็นที่ว่า นายเนวินพยายามเบี่ยงเบนความสนใจออกจากประเด็น ศึกแย่งชามข้าวในการจัดตั้งรัฐบาลว่าพรรคไหนจะได้นั่งตำแหน่งอะไรมากกว่า

ดูเหมือนยิ่งเบี่ยงประเด็น กลับยิ่งทำให้เป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ชัดขึ้นและขยายผลไปถึงผู้สนับสนุน คสช.คนอื่นอีก

 

ในขณะที่ปมวิจารณ์การสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และศึกพรรคร่วมรัฐบาลแย่งกระทรวงกันแบบไม่อายชาวบ้านเป็นไปอย่างดุเดือด

เพจโซเชียลของฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายขวาจัดก็ขุดภาพของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ สมัยรับปริญญาตรีเมื่อปี 2553 ซึ่งหลายคนก็ทราบว่าภาวการณ์ตอนนั้น การเมืองไทยอยู่ในขั้นแบ่งขั้วออกเป็น 2 สีและจบลงด้วยการนองเลือด ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตของคนเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 100 คน

ภาพที่ไร้คำบรรยายแต่ใช้ภาษากายสื่อสารดังกล่าว ถูกฝ่ายขวาทั้งจัดตั้งโดยผู้มีอำนาจและมวลชนสนับสนุน หรือแม้แต่นักการเมืองพรรคฝ่ายหนุนสืบทอดอำนาจ ใช้เป็นอาวุธโจมตี น.ส.พรรณิการ์ด้วยข้อหาสุดคลาสสิคในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม นั่นคือ ไม่จงรักภักดี เกิดปฏิบัติการล่าแม่มดลุกลามพรรคต้นสังกัด จนถึงครอบครัวของ น.ส.พรรณิการ์

แม้ต่อมา น.ส.พรรณิการ์จะมาชี้แจงตอนหลังพร้อมกับขอร้องว่า “อย่านำประเด็นดังกล่าวมาโจมตีกันทางการเมืองอีกเลย รวมถึงขอร้องให้ผู้ที่ตามขุดคุ้ยเพื่อนของช่อทุกคนในรูป ยุติการกระทำดังกล่าว อย่าให้พวกเขาเดือดร้อนเพียงเพราะเป็นเพื่อนของนักการเมืองคนหนึ่ง

คำขอร้องนี้ไม่ใช่เพื่อตัวช่อเอง แต่เพื่ออนาคตที่มั่นคงยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหลายคนมักนำสถานะของสถาบันมารับใช้ตัวเอง เพียงเพื่อหวังทำลายล้างศัตรูทางการเมืองของตน โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางการเมืองที่ต้องสูญเสียไป”

แต่ต่อให้อธิบายยังไง คนที่สำนึกคิดเต็มไปด้วยอคติ เวลาจะเกลียด ก็จะเกลียดอยู่ดี แม้คำอธิบายเหล่านี้จะมีเหตุผลหนักแน่นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยที่มีผู้คนเติบโตกับชุดความคิดอันหลากหลายและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มากกว่าเคร่งครัดกับความเชื่อเดิมเหมือนคนรุ่นก่อน ก็แสดงความคิดเห็นต่อกรณีภาพของ น.ส.พรรณิการ์ในเชิงเห็นใจและให้กำลังใจ พร้อมกับตั้งคำถามการใช้ประเด็นดังกล่าวมาทำลายทางการเมืองกันเป็นสิ่งถูกต้องแล้วหรือไม่

ดูเหมือนการสร้างกระแสความเกลียดชังชักจูงคนจำนวนมากเพื่อทำลายล้างทางการเมือง จะไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่อย่างน้อยก็มากพอเป็นข้ออ้างให้กลไกอำนาจรัฐ ใช้อำนาจที่ตีความเข้าข้างตัวเอง จัดการฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจถึงขั้นยุบพรรคได้

 

นี่คือ บรรยากาศวิวาทะทางการเมืองบนโลกโซเชียลที่เกิดขึ้น หลังวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่า ศึกแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีระหว่างพรรคจะจบลงยังไง และการเมืองไทยภายใต้อดีตผู้ก่อการรัฐประหารที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยกลไกที่ตัวเองออกแบบไว้ จะอยู่ได้นานแค่ไหน

ไม่ใช่แค่นักการเมืองในสภาที่ร่วมตรวจสอบและอภิปรายตั้งคำถาม ประชาชนก็พร้อมตรวจสอบแล้วเช่นกัน