Animal Farm | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก /นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Animal Farm

การ์ตูนที่รักเคยเขียนถึงหนังการ์ตูนเรื่อง Animal Farm เมื่อสิบปีก่อน แล้วรวมเล่มเอาไว้ในหนังสือการ์ตูน INTER ที่รัก สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน และพิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2552

ก่อนการรัฐประหาร 5 ปี

เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่มีเหตุให้ควรหยิบแผ่นดีวีดีนี้ออกมาดูใหม่เมื่อครบ 5 ปีรัฐประหาร แต่ที่น่าแปลกใจมากกว่าคือ ท่านผู้นำเป็นคนแนะนำให้อ่าน และส่วนที่น่าแปลกใจที่สุดคือ เคยมีการจับกุมผู้อ่านหนังสือ 1984 ของผู้เขียนคนเดียวกัน

สมัยก่อนเราคงหาหนังการ์ตูนเรื่องนี้ดูยาก สมัยนี้หาดูได้ในยูทูบ มีทั้งที่มีและไม่มีบรรยายภาษาอังกฤษ

ได้ยินว่ามีแบบบรรยายภาษาไทยด้วย

 

หนังเริ่มต้นด้วยดอกไม้สีชมพูในฤดูใบไม้ผลิ เป็นภาพวาดบนแผ่นเซลล์สองมิติแบบการ์ตูนสมัยเก่า ก่อนที่จะตัดเข้าเรื่องอย่างรวดเร็วด้วยการบรรยายถึงมิสเตอร์โจนส์นั่งกินเหล้าในผับกับมิสเตอร์ทรอย จากนั้นมิสเตอร์โจนส์ก็เมากลับฟาร์มเพื่อตรวจตราสัตว์ในฟาร์ม หนังกวาดภาพแนะนำตัวละครสำคัญในฟาร์มให้แก่คนดูทีละตัว

สำหรับท่านที่ไม่เคยอ่านหนังสือ ควรอ่านให้จบก่อนมาดูหนัง และจะดีกว่ามากหากไม่ถูกสปอยล์ตอนจบก่อนอ่าน ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งเรียนมัธยมศึกษา แม้จะมิได้มีความคิดทางการเมืองกว้างไกลอะไรมากมายแต่ก็พอเข้าใจ

จึงรู้สึกประหลาดใจกับการแนะนำหนังสือเล่มนี้ในครั้งนี้ สารภาพด้วยความซื่อว่าไม่แน่ใจว่านี่เป็นเรื่องขำขันของใครหรืออย่างไร

ย่อหน้าต่อไปนี้จะสปอยล์ตอนจบของหนังการ์ตูน หนังมิได้จบเหมือนหนังสือ เมื่อฉายถึงตอนจบของหนังสือ หนังยืดออกไปอีกสามนาที สัตว์ในฟาร์มพบว่าพวกหมูเปลี่ยนไป อะไรที่เคยสัญญา ความสุขที่ว่าจะให้ ที่แท้เป็นไปเพื่อความสุขส่วนตนของพวกหมูเอง

สัตว์ในฟาร์มจึงพร้อมใจกันออกจากที่คุมขังด้วยใบหน้าเหี้ยมเกรียม แล้วเดินไปที่ประชุมของพวกหมูในตอนท้าย

 

นวนิยายเรื่อง Animal Farm นี้เขียนโดยนักเขียนชาวอังกฤษ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เมื่อปี 1945 ก่อนหน้าหนังสือ Nineteen Eighty-Four ซึ่งมักถูกเขียนสั้นๆ ว่า 1984 ในภายหลัง หนังสือเล่มหลังนี้ตีพิมพ์ในปี 1949 ห่างกันเพียงสี่ปีเท่านั้น

หนังสือแอนิมอลฟาร์มออกวางตลาดเพียงไม่กี่วันก่อนการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ว่ากันว่าหนังสือเกือบจะออกขายมิได้ เพราะตอนนั้นโซเวียตยังมีความสำคัญต่อสัมพันธมิตรมากอยู่ นั่นเป็นเวลาที่วินสตัน เชอร์ชิล, โจเซฟ สตาลิน และแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เพิ่งเอาชนะอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้ไม่นาน  ด้วยข้อเท็จจริงนี้จะช่วยให้เราดูฉากเกือบสุดท้ายในหนังการ์ตูนได้อรรถรสขึ้น

ตัวหนังการ์ตูนมีความยาวเพียง 70 กว่านาที ออกฉายในปี 1954 ควรรู้ว่าดิสนีย์ปล่อย Peter Pan ออกมาในปี 1953 และ Lady and The Tramp ปี 1955 เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยีแอนิเมชั่นของหนังทั้ง 3 เรื่อง จะพบว่าต่างกันมาก แต่หนังการ์ตูนแอนิมอลฟาร์มก็มิได้แย่  ที่แท้แล้วดีมากทีเดียว

ผู้อำนวยการสร้างคือ Louis de Rochement มีประวัติว่าทำงานให้กับซีไอเอมาก่อน ทำให้มีเสียงว่าหนังเรื่องนี้มีเจตนาชวนเชื่อ (propaganda) แฝงอยู่ด้วย

ปีที่หนังฉายคือปี 1954 เป็นปีที่สงครามเย็นเริ่มต้นมานานพอสมควรแล้ว สงครามเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ซึ่งถูกตัดที่เส้นรุ้ง 38 องศาเหนือเมื่อปี 1949 เพิ่งสงบลงในปี 1953 เป็นปีที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามที่เดียนเบียนฟู เวียดนามถูกตัดด้วยเส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือ แบ่งประเทศออกเป็นสองเสี่ยง เวียดนามใต้และเวียดนามเหนือ สงครามเวียดนามของจริงกำลังจะเริ่มต้น

นี่คือบริบทของโลกรอบแอนิมอลฟาร์ม

 

หนังลดตัวละครไปบางตัว ลดบัญญัติเจ็ดประการเหลือห้าประการ แต่โครงเรื่องไม่เสียหาย มีคำแก้ต่างว่าหนังมิได้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ต่อต้านเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism)

เรามาดูตอนจบกันอีกครั้งหนึ่ง “สัตว์ข้างนอกมองจากหมูไปยังมนุษย์ และมนุษย์ไปยังหมู และจากหมูไปยังมนุษย์อีก แต่แยกไม่ออกแล้วว่าอันไหนเป็นอันไหน” เป็นสำนวนแปลของวิเชียร อติชาตการ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พ.ศ.2518 ผู้เขียนต่อต้านสตาลิน แต่เขามิได้หมายถึงสตาลินที่เป็นบุคคลเพียงคนเดียว

มากกว่าสตาลินคือผู้คนที่อยู่โดยรอบ ผู้สมรู้ร่วมคิด และผู้ที่วางเฉย

คือบรรดาน้ำหล่อเลี้ยงให้เผด็จการอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือโจเซฟ สตาลินก็ตาม นโปเลียนก็เช่นกัน ผู้ปกครองเหล่านี้ใช้อำนาจเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองและเพื่อพวกพ้องในตอนท้าย หากไม่มีพวกพ้อง พวกเขาก็ไม่สามารถอยู่ได้

จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ลงวันที่ 17 มีนาคม 1945 เป็นหลักฐานว่าเขาเปรียบเทียบหมูนโปเลียนกับสตาลินจริงๆ

 

ย้อนกลับไปดูตัวละครในตอนต้นเรื่องอย่างเร็วๆ อีกครั้งหนึ่ง

มิสเตอร์โจนส์คือพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 3 ซึ่งมีพฤติกรรมลืมให้อาหารสัตว์ในฟาร์ม หมูสโนว์บอลซึ่งจะริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพื่อสัตว์ในฟาร์มคือทร็อตสกี ซึ่งจะลี้ภัยไปตายในเม็กซิโก หมารับใช้ของนโปเลียนคือหน่วยงานเคจีบี

หมูสควีลเลอร์ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่นโปเลียน คือบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งของคณะรัฐบาล Vyacheslav Motolov และหนังสือพิมพ์ Pravda สิ่งที่โฆษกและหนังสือพิมพ์ทำคือ ทำให้ประชาชนหวาดกลัวมิสเตอร์โจนส์มากยิ่งขึ้น ทำให้นโปเลียนมีความชอบธรรมที่จะคงไว้ซึ่งอำนาจเพื่อป้องกันมิให้มิสเตอร์โจนส์กลับมา และหากการกระทำเช่นนั้นต้องคงไว้ซึ่งอภิสิทธิ์บางประการให้แก่หมู่คณะ เหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็น

หมูชราที่กล่าวปลุกใจสัตว์ในฟาร์มคือคาร์ล มาร์กซ์ และวลาดิเมียร์ เลนิน มิสเตอร์เฟรเดอริกเจ้าของฟาร์มข้างเคียงเป็นฮิตเลอร์และนาซี

มิสเตอร์พิลคิงตันเป็นอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมาปรากฏตัวเล่นไพ่กับนโปเลียนในตอนจบ ทุกคนเล่นโกงกันหมด นี่คือสงครามเย็น

แต่ในหนังการ์ตูนจะมีเพียงนโปเลียนและสมาชิกพรรคหมูในงานเลี้ยงตอนท้าย แล้วตามด้วยการลุกฮือของสัตว์ในฟาร์มดังที่เล่าแล้ว

“ผมเคยเห็นเด็กคนหนึ่ง ประมาณสิบขวบ กำลังขับรถเทียมม้าคันใหญ่ไปตามถนนแคบๆ เขาหวดม้าด้วยแส้เมื่อมันพยายามจะหันเลี้ยว นั่นทำให้ผมตระหนักว่า ถ้าเพียงแต่สัตว์รู้ว่าพวกมันแข็งแรงมากเท่าไร พวกเราจะไม่มีทางควบคุมมันได้แน่นอน และคนเราก็ใช้แรงงานมันเหมือนที่คนรวยทำกับกรรมาชน”

จอร์จ ออร์เวลเขียน ไว้ในหน้าคำนำของหนังสือฉบับยูเครน

 

แม่ไก่ในฟาร์มทำลายไข่ของตนเองแทนที่จะส่งมอบให้แก่นโปเลียน แบบเดียวกับที่ชาวยูเครนเผาผลิตผลการเกษตรของตนเอง ไม่ยอมส่งมอบให้โซเวียตในทศวรรษที่ 1930 แล้วแม่ไก่ก็ถูกทำโทษถึงตายเหมือนที่ชาวยูเครนเคยประสบ

ม้าบ๊อกเซอร์และลาเบนจามินจะได้รับบทเด่นในหนัง เป็นแรงงานที่อุทิศหยาดเหงื่อทุกหยาดหยดเพื่อประเทศชาติ และเป็นประชาชนที่ใครจะอย่างไรก็ได้ไม่ว่าอะไร เป็นพวกที่มีความอดทนสูงมากเป็นพิเศษ จนกว่าจะถึงตอนจบ

ยังมีสัตว์ในฟาร์มที่เป็นแม็กซิม กอร์กี้ นักเขียนที่ชื่นชอบรัฐบาล สัตว์ในฟาร์มเพื่อนบ้านที่เป็นจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ซึ่งเคยไปเยือนรัสเซียแล้วกลับมาเขียนชื่นชม มีแมวปัญญาชนที่รักษาตัวรอดเป็นยอดดี และมีแกะที่หลงใหลบัญญัติ 7 ประการเหมือนประชาชนที่คลั่งไคล้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล

บัญญัติ 5 ประการในหนัง ได้แก่ สัตว์ไม่นอนบนเตียง สัตว์ไม่ดื่มเหล้า สี่ขาดีสองขาเลว สัตว์ไม่ฆ่าสัตว์อื่น และสัตว์ทั้งหมดเท่าเทียมกัน

แต่แล้วนโปเลียนก็เปลี่ยนข้อกำหนดนี้ในตอนท้าย รวมทั้งข้อสุดท้ายที่เรารู้จักกันดี

All animals are equal, but some animals more equal than others.

“สัตว์ทุกตัวเสมอภาคกัน แต่มีสัตว์บางตัวเสมอภาคกว่าสัตว์อื่น”