เศรษฐกิจ / เอกชนไม่ทนสภาพการณ์ตั้ง รบ.ใหม่ แบบกว่าถั่วจะสุก…มีหวัง ศก.มอดก่อน ชิงทำสมุดปกขาวรอท่าชงมาตรการแก้ไขด่วน!!

เศรษฐกิจ

 

เอกชนไม่ทนสภาพการณ์ตั้ง รบ.ใหม่

แบบกว่าถั่วจะสุก…มีหวัง ศก.มอดก่อน

ชิงทำสมุดปกขาวรอท่าชงมาตรการแก้ไขด่วน!!

 

แม้ประเทศไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบวกกับเกมการเมืองที่คุกรุ่น ถึงจะได้นายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นทางการแล้ว และคาดหมายว่าการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีจากหลายพรรคร่วมรัฐบาลจะเรียบร้อย หลังเล่นชักเย่อแย่งกระทรวงกันอย่างยืดเยื้อ

สร้างความเอือมระอาต่อประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง และกระทบต่อความเชื่อมั่นอย่างมาก

สอบถามความเห็นจากภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของประเทศ ต่างมีอาการกล้ำกลืนกันถ้วนหน้า

เสียงเรียกร้องเดียวที่ภาคเอกชนคาดหวังให้เกิดขึ้นโดยเร็วในเวลานี้ คืออยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) แสดงความเห็นต่อรัฐบาลครึ่งใบของ พล.อ.ประยุทธ์ว่า กรณีรัฐบาลชุดใหม่มีนายกรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ยังไม่ลงตัว จนรัฐมนตรีชุดปัจจุบันต้องทำงานต่อไป

ในมุมเอกชนมองว่าแม้จะทำงานได้เช่นปัจจุบัน เพราะนโยบายต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบ ประเทศไทยเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งควรเข้าบริหารงาน เนื่องจากยังมีอีกหลายนโยบาย หลายภารกิจที่รอให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการ ประกอบกับรัฐมนตรีหลายกระทรวงน่าจะมีนโยบายใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนตามที่หาเสียงไว้

“โครงการที่คั่งค้างอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แม้จะได้ผู้ชนะประมูลแล้ว แต่ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาผลักดัน อาทิ การผลักดันรถไฟเพื่อเชื่อมกับรถไฟในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 เมืองการบินและสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และศูนย์ซ่อม-สร้างอากาศยาน ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาผลักดันให้สำเร็จได้ชื่อผู้ชนะประมูลเช่นกัน” ประธาน ส.อ.ท.แสดงความเห็น

สุพันธุ์ยังชี้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชน อารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอย เพราะหากมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่ละกระทรวงจะมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก นอกจากความเชื่อมั่นในประเทศ การมีรัฐบาลใหม่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนไทย ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สุพันธุ์ยังมองว่า ประเด็นงบประมาณ 2563 ที่ล่าช้าออกไป 3 เดือนทำให้คาดว่าจะไม่ทันบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถือเป็นเรื่องน่าห่วงต่อการเบิกจ่าย การลงทุนของรัฐอยู่แล้ว ยิ่งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปอาจทำให้สถานการณ์ของงบประมาณยิ่งประสบปัญหามากขึ้น

ด้วยความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่ามีสัญญาณลบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังยืดเยื้อ เบื้องต้นเดือนมิถุนายนจะคงตัวเลขเศรษฐกิจทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ไว้ที่ 3.7-4% และตัวเลขการส่งออกไว้ที่ 3-5% ดังเดิม แต่แนวโน้มต้องปรับลดลงทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ กกร.ต้องการให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็วเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังถดถอย จึงเตรียมยื่นหนังสือปกขาวข้อเสนอเอกชนต่อรัฐบาลชุดใหม่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

“กกร.เตรียมยื่นสมุดปกขาวที่รวบรวมข้อเสนอจากสมาคมธนาคารไทย จาก ส.อ.ท.และจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้กับรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก” ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร.แสดงความเห็น

ขณะเดียวกัน กกร.จะขอให้รัฐบาลจัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย

 

อย่างไรก็ตาม พิจารณารายละเอียดของร่างสมุดปกขาว เบื้องต้นในส่วนของ ส.อ.ท.ได้เสนอให้ภาครัฐดำเนินการ 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

  1. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐ และเร่งการพัฒนา Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงปรับวิธีการบริหารศูนย์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีของภาครัฐ
  2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย โดยการตั้งกองทุนนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล้านบาท และการตั้งศูนย์บิ๊กดาต้าภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร
  3. ยกระดับเอสเอ็มอีและส่งเสริมสินค้าไทย หรือเมดอินไทยแลนด์ และยกระดับสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล จัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการซื้อสินค้าเมดอินไทยแลนด์ รวมทั้งส่งเสริมการตลาด ด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ และภาครัฐเพิ่มวงเงินจัดซื้อสินค้านวัตกรรม
  4. เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยรัฐจัดให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและปฏิรูปบุคลากรภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม

และ 5. ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ

 

รวมถึงเสนอให้ภาครัฐฟื้นการประชุม กรอ.อย่างจริงจัง!!

โดยเสนอ 3 เรื่องหลัก คือ

  1. จัดการประชุม กรอ.ส่วนกลางจำนวน 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ และให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงาน และเอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับภาครัฐให้มีความคล่องตัว พัฒนาวิธีการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชนให้สะดวกยิ่งขึ้น
  2. ผลักดันผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุม กรอ.จังหวัดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อให้สถาบันภาคเอกชนทั่วประเทศมีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น จากการสะท้อนปัญหาและความต้องการของภาคเอกชนในพื้นที่

และ 3. ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเข้าไปทำงานร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง

 

ประเด็นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยในส่วนของเอสเอ็มอีนั้น ในมุมของ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญอย่างมาก

โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมสำหรับเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล้านบาท ลักษณะระดมเงินทุนจากภาคเอกชนด้วยกันเอง แต่ต้องการให้ภาครัฐคือกรมสรรพากร สนับสนุนด้านภาษีให้ผู้บริจาคเงินสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า

เพราะปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรมแต่ขาดเงินทุนในการดำเนินงานในต่างประเทศ ส.อ.ท.จึงมองว่าควรมีกองทุนที่มาร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง

ถึงแม้ปัจจุบันจะมีกองทุนที่ร่วมลงทุนอยู่จำนวนมากแล้วก็ตาม แต่พบว่าเป็นกองทุนปิดที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนได้

    แม้ กกร.จะมีไทม์ไลน์ยื่นสมุดปกขาวช่วงปลายมิถุนายนนี้ เพื่อหวังให้รัฐบาลรับฟังและลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศร่วมกัน แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันต้องลุ้นต่อว่าไทม์ไลน์ของรัฐบาลชุดใหม่จะเริ่มสตาร์ตเดินหน้าบริหารประเทศได้เมื่อใด