จัตวา กลิ่นสุนทร : “รัฐบุรุษชื่อเปรม”

แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวกระจิริดของสังคมประเทศนี้ แต่ก็อดที่จะภาคภูมิใจไม่ได้ว่าบนเส้นทางของการทำงานเพื่อดำรงชีวิต กลับได้ใกล้ชิดคนใหญ่คนโตระดับประเทศถึงระดับภูมิภาคจำนวนไม่น้อย

สำหรับ ฯพณฯ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เจ้าของคำพูด ซึ่งท่านเน้นย้ำสม่ำเสมอว่า “เกิดมาต้องแทนคุณแผ่นดิน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นสัญลักษณ์ของคนดี คนซื่อสัตย์แห่งแผ่นดิน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเด็กน้อยต่ำเตี้ยซึ่งไม่ได้เป็นทหาร กลับเคยได้รู้จัก ได้สัมผัสพูดคุยกับท่าน กระทั่งในที่สุดได้ทำงานให้กับท่านจนสำเร็จตามเป้าหมาย

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นมีผู้เสนอจะทำ แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่สำเร็จ

คิดว่าอาจไม่ได้เขียนถึงหรือได้พบเจอะเจอกับท่านอีกแล้วเมื่อวันเวลาผันผ่านอย่างรวดเร็วจนตัวเลขอายุของ พล.อ.เปรมก่อนถึงวันเสียชีวิต ขาดอีกเพียง 1 ปี จะครบ 100

ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะตัวเลขอายุของหนุ่มน้อยที่ท่านเคยพูดคุยด้วยครั้งแรกเมื่อเกือบ 40 ปี ถึงวันนี้ก็สูงลิ่วเข้าสู่ปัจฉิมวัยเช่นเดียวกัน

 

เรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน ย่อมทราบดีกันแล้วว่าท่านรับราชการทหาร (ทหารม้า) ขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ปี พ.ศ.2519 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี) พ.ศ.2520 เป็นผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ.2521 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2522 เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 16) ปี พ.ศ.2523 และอยู่ในตำแหน่งนี้ 8 ปี 5 เดือน (พ.ศ.2523-2531)

ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี พ.ศ.2531 และยกย่องเป็นรัฐบุรุษในปีเดียวกัน รวมทั้งโปรดเกล้าฯ เป็นประธานองคมนตรี ปี พ.ศ.2541

และท่านเป็น “ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน”

 

ปีพ.ศ.2523 นอกจากเลขานุการส่วนตัวแล้ว ได้เดินทางติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) บุคคลสำคัญของโลก และศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ของแผ่นดิน (เสียชีวิต) ไปยังเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland)

โดยอาจารย์คึกฤทธิ์เดินทางไปถวายพระพรเนื่องในวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปในภารกิจเดียวกัน โดยมีนายทหารคนสนิท 2 นาย จำได้ว่าชื่อไพโรจน์ พานิชสมัย กับบุญสืบ คชรัตน์ ยศขณะนั้นเป็นนายพันกับนายร้อย

และต่อมานายทหารทั้ง 2 ท่านเกษียณอายุราชการในตำแหน่งพลเอกแห่งกองทัพบก

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปีแรก (2523) มี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (เสียชีวิต) ร่วมรัฐบาล ท่าน พล.อ.ชาติชายเดินทางล่วงหน้าไปรอรับนายกรัฐมนตรียังสนามบินซูริก สวิตเซอร์แลนด์ พร้อมพาไปพักผ่อนยังบ้านพักริมทะเลสาบเจนีวา

ก่อนเดินทางด้วยรถยนต์ไปยังเมืองโลซานน์ ซึ่งมีขบวนผู้หลักผู้ใหญ่ นักธุรกิจพ่อค้าวาณิชอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางไปรอรับคณะของนายกรัฐมนตรีด้วย

อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปด้วยภารกิจสำคัญเดียวกัน เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วมีการจัดเลี้ยงน้ำชาและอาหารว่างยามบ่ายยังโรแรมแห่งหนึ่ง จำชื่อไม่ได้แล้ว

คณะของอาจารย์ย่อมได้รับเชิญด้วย โรงแรมสวยงามมาก บรรยากาศก็ยอดเยี่ยม เมื่อนั่งสนทนาจิบชาพร้อมมองไปเบื้องหน้าจะเห็นเทือกเขาแอลป์ มีหิมะสีขาวแต่งแต้มส่วนยอดสวยงาม

คณะของอดีตนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้ติดตามเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมขบวนทั้งหลายนั่งเรียงแถวหันหน้าสู่ทิวทัศน์เบื้องหน้า ผมต้องนั่งอยู่เกือบปลายแถวซึ่งเป็นด้านขวามือของท่าน พล.อ.เปรมที่นั่งสนทนากันเงียบๆ กับอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ไม่รู้ว่าซุบซิบเรื่องอะไรกันเพราะค่อนข้างไกลจากที่ผมนั่ง และเสียงสนทนาของผู้ห้อยโหนวิ่งเต้นติดตามดักหน้าดักหลังอะไรกันหรือขึ้นหรือไม่? อย่างไรไม่ทราบ พล.อ.เปรมท่านจึงลุกขึ้นด้วยอาการเหมือนจะเบื่อๆ ประมาณนั้น ท่านได้เดินมานั่งลงที่เก้าอี้ว่างข้างๆ ผม

ท่านถามผมว่าชื่ออะไร มาจากไหน กับใคร ผมก็ตอบไป นึกในใจว่าท่านจำผมไม่ได้เองว่าผมเคยสัมภาษณ์พิเศษขณะท่านเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่ผมไม่ได้บอก แม้ขณะนั้นผมจะเป็นบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ แต่ก็ยังอดประหม่าไม่ค่อยได้

 

งานเลี้ยงจบลงด้วยเวลาไม่นานเพราะทุกท่านมีภารกิจ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรี พร้อมนายทหารคนสนิทจะต้องเดินทางกลับเมืองไทยโดยแทบไม่ได้พักค้างคืนในประเทศนั้น

ส่วนท่านอื่นๆ จะไปไหนอย่างไร ติดตามขบวนท่านนายกรัฐมนตรีกลับเมืองไทยด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ

แต่ทีมของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (London-England) ก่อนจะไปเยี่ยมเยียนญาติยังโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (Copenhagen-Denmark) ก่อนกลับเมืองไทยโดยสายการบินไทย

ก่อน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีก้าวขึ้นรถจากโรงแรมในสวิตเซอร์แลนด์สู่สนามบินซูริก ท่านหันมาเอ่ยคำลาว่า “ผมไปก่อนนะคุณจัตวา” ซึ่งผมได้แต่ยืนตัวเย็นวาบเนื่องจากคนที่เดินมาส่งท่านได้ยินกันหมดทั้งกลุ่มรวมทั้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์

ในที่สุดก็เป็นไปตามที่ผมคิดว่าจะต้องโดนแซว ถูกกระแหนะกระแหนแน่ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ไปถึงเมืองไหนท่านก็เล่าให้ผู้หลักผู้ใหญ่ฟังว่า นายกฯ เขาจะไป เขายังลามัน… แต่ไม่ลาผม… (5555)

ผมคิดเอาเองเมื่อได้ทักทายพูดคุยกับท่าน ซึ่งความจริงเป็นครั้งที่ 2 เท่ากับว่าได้รู้จักกับป๋า หรือ พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีแล้ว (ท่านใช้คำแทนตัวท่านเองว่าป๋า เรียกผู้อาวุโสน้อยกว่าว่าลูก) คิดดูกันเอาเองว่าจะเป็นปลื้มสักแค่ไหน

เพราะถ้าจะนับเรื่องเวลาแล้ว ปรากฏว่าจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 39 ปี

 

ปีพ.ศ.2529 ผมก้าวขึ้นเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ซึ่งเส้นทางของงานน่าจะเกี่ยวข้องกันมาก แต่กลับไม่ค่อยได้สัมผัสกับท่านนายกรัฐมนตรี เพราะเข้าไม่ถึง ได้แต่ส่งผู้สื่อข่าวไปเฝ้าข่าวเสียมากกว่า

จนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านกล่าวว่า “ผมพอแล้ว” ก้าวลงจากตำแหน่งไปเมื่อ พ.ศ.2531 ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองทั้งหมดพร้อมใจกันยกตำแหน่งให้กับท่านเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง

วันหนึ่ง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ นายทหารคนสนิท ซึ่งเป็นฝ่ายเสนาธิการของท่าน พล.อ.เปรม ขอนัดหมายกลุ่มคอลัมนิสต์หลายคนต่างค่ายมาร่วมรับประทานอาหารเพื่อขอคำปรึกษาหารือเรื่องการจัดทำหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม”

ซึ่งมีคนเคยเสนอจะจัดทำให้ท่าน พล.อ.เปรมมานานมากแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสักที

พล.อ.มงคลมีความเห็นว่า ผลงานทางด้านการทหารและการบริหารประเทศ ตลอดจนเกียรติประวัติต่างๆ ทั้งในส่วนของชีวิต พล.อ.เปรมเอง รวมทั้งผลงานที่เกี่ยวพันกับประเทศชาติ ควรต้องได้รับการรวบรวมไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาถึงชีวิตของบุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นเพียงลูกชายพัศดีเรือนจำในต่างจังหวัด แต่มีความมานะพยายามในการศึกษา และทำงานจนกระทั่งประสบความสำเร็จในฐานะนักการทหารและนักปกครองชั้นเยี่ยม ได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงซึ่งบุคคลธรรมดาน้อยคนนักจะได้รับถึงสามตระกูล–

 

ในที่สุดทุกท่านลงความเห็นว่าควรให้ผมเป็นผู้ดำเนินการ เพราะว่างจากตำแหน่งบรรณาธิการสยามรัฐ แต่ยังเป็นสมาชิกวุฒิสภาใกล้ๆ เกือบครบเทอมแล้ว อาจจะพอมีเวลา

เมื่อหนีไม่ออกต้องรับเป็นบรรณาธิการ ซึ่งค่อนข้างหนักใจทีเดียว เนื่องจากในช่วงเวลานั้นการหาข้อมูลทั้งหลายไม่เหมือนเช่นทุกวันนี้ ต้องระดมนักศึกษาและบัณฑิตใหม่ๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยช่วยกันระดมค้นหาข้อมูลมากลั่นกรอง

ต้องขอเวลานัดสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้องและรู้เรื่องราวของท่าน พล.อ.เปรมจำนวนไม่น้อย กระทั่งต้องวางแผนเรื่องกระบวนการผลิต

ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมทั้งนักเขียนหลายท่านช่วยกัน ก่อนจะเป็นผู้ตัดต่อเรียบเรียง จำได้ว่าใช้เวลากว่า 2 ปี

ในที่สุดหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ก็สำเร็จออกมาเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง โดย “มูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” คือเจ้าของลิขสิทธิ์

เป็นหนังสือปกแข็งหุ้มด้วยปกนอกพิมพ์สี่สีอาบพลาสติกสวยงาม มีความหนา 760 หน้า ปรากฏโฉมตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 รวมทั้งมีการพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์มติชนอีกครั้งหนึ่ง

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ พาทีมผู้จัดทำทั้งหมดเข้าพบเจ้าของชื่อหนังสือ “รัฐบุรุษชื่อเปรม” ยังบ้านพัก ท่านกล่าวขอบคุณทุกท่าน และเซ็นหนังสือให้กับผมในฐานะ “บรรณาธิการ” ว่า “ผมหวังว่าคุณจัตวาจะภูมิใจที่ทำหนังสือเล่มนี้สำเร็จ แม้จะเหนื่อยและยากมาก” ขอบคุณอย่างสูง

ลงชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (1 ต.ค.39)

ผมเก็บหนังสือเล่มนั้นไว้ในตู้กระจกในห้องนอนตลอดมา