รัฐบาลประยุทธ์ 2 : เปิดโผ ครม.ประยุทธ์ แรงบีบผ่านดีล “พปชร.” จัดเก้าอี้

แม้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบ 5 ปี ภายหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีรัฐบาลใหม่มาบริหารบ้านเมือง สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ บรรจงเขียนขึ้นนั้นยืดเวลาในการดำเนินการตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งออกไปให้ยาวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่ถึงเวลานี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือหัวหอกในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติโหวต “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของพรรค พปชร.

ซึ่งเป็นการตั้งรัฐบาลจากแนวร่วมหลายพรรค ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 116 เสียง, ประชาธิปัตย์ 53 เสียง, ภูมิใจไทย 51 เสียง, ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง, ชาติพัฒนา 3 เสียง, พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง, รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคเล็กอีก 11 พรรค พรรคละ 1 เสียง รวม 254 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภา

แต่เนื่องด้วยมีเวลานานโขในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล การต่อรองตำแหน่งต่างๆ ที่ควรจะลงตัว จึงยังไม่ลงตัวเสียที เพราะเมื่อมีเวลาให้คิดมาก เล่ห์เหลี่ยมและโอกาสการต่อรองก็มากขึ้นตามตัว

โดยเฉพาะการตกลงกับพรรคขนาดกลาง ซึ่งถือเป็นคีย์แมนสำคัญอย่างพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะรู้ทั้งรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าถึงอย่างไรเสีย ทั้งสองพรรคการเมืองนี้จะต้องจับมือกับพรรค พปชร.เป็นแน่แท้

แต่กระนั้นสองพรรคก็ยังลีลาสงวนท่าทีให้ประชาชนเห็นว่ายังไม่ปักใจเลือกข้าง

 

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยจงใจให้คนเชื่อว่าที่ตอบรับร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.ช้านั้น เป็นเพราะได้เคยให้สัญญากับประชาชนไว้แล้วว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. การเลือกข้างมาเป็นกองหนุน “บิ๊กตู่” จึงเป็นเรื่องที่กล้ำกลืนฝืนทนจิตใจของทั้งสองพรรค

ทว่าความจริงแล้ว ปัญหาอยู่ที่การต่อรองตำแหน่งต่างๆ ยังไม่ลงตัวมากกว่า

เพราะปัญหาของการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ต่างจากในอดีตที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง เริ่มจากพรรค พปชร.ซึ่งไม่ใช่พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่ง ดื้อรั้นจะตั้งรัฐบาลให้ได้ เมื่อ พปชร.มีแค่ 116 เสียง เปรียบกับพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.ถึง 136 เสียง จึงเป็นเรื่องลำบากในการรวมเสียงให้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แม้จะรวมได้จริง แต่เสียงที่เกินขึ้นมาก็ไม่ได้มากมายอะไร เรียกว่าแค่ปริ่มน้ำ ถือเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

อีกประเด็นหนึ่งคือผู้มากบารมีนอกพรรค พปชร.เป็นคนคุมเกมต่อรองจัดสรรตำแหน่ง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้พรรคร่วมไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อพรรค พปชร. เพราะแม้ต่อรองกันแล้วเสร็จบนโต๊ะ แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้หากผู้มากบารมีนอกพรรคเห็นว่าสมควรที่จะปรับเปลี่ยนแปลง

ดังจะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์พูดกับแกนนำพรรค พปชร.เสมอว่าให้เอาผู้มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ มาเจรจา

 

อีกประเด็นที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ พรรค พปชร.ต้องการยึดกระทรวงเกรดเอ ไม่ว่าจะเป็นคลัง เกษตรฯ มหาดไทย พาณิชย์ คมนาคม อุตสาหกรรม ไว้เป็นของตัวเอง เพื่อบริหารงานแบบมีเอกภาพอย่างที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ทำอยู่ในเวลานี้ โดยมีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพียงคนเดียวขับเคลื่อนกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

ในการแบ่งกระทรวงเบื้องต้น พรรค พปชร.เหมากระทรวงสำคัญเกือบทั้งหมด โดยแบ่งเป็นโควต้า เช่น โควต้า พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม

โควต้าของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกอบด้วย นายสมคิด รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ โควต้ากลุ่ม กปปส.-กทม., รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยิ่งจะตั้งรัฐบาลอยู่ทนโท่ ปัญหาภายในพรรค พปชร.เหมือนจะยิ่งทวีขึ้นทุกขณะ เพราะในขณะที่กลุ่มก้อนต่างๆ ภายในพรรคได้ตำแหน่งกันสมใจหวัง แต่ไม่ใช่กับกลุ่มสามมิตรที่นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายอนุชา นาคาสัย

เพราะเริ่มแรกก่อนเข้าพรรค พปชร. นายสมศักดิ์ประกาศชัดเจนว่าต้องการคุมงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเดินหน้านโยบายโคบาลประชารัฐ เหมือนนโยบายโคล้านตัวในอดีต

แต่เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นว่ามีแววสูงที่พรรคแกนนำรัฐบาลจะยกกระทรวงนี้ให้พรรคประชาธิปัตย์ไป เพราะ ปชป.ก็ต้องการสานผลงานเด่นด้วยกระทรวงเกษตรฯ เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความอึมครึมเกิดขึ้นในพรรค พปชร. เมื่ออยู่ๆ ก็มีกระแสข่าวว่านายสมศักดิ์พร้อมขน 30 ส.ส.หนีจากพรรค พปชร.ทันที หากไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวงเกษตรฯ แม้นายสมศักดิ์จะออกมาปฏิเสธภายหลังว่าไม่เป็นความจริง ยืนยันไม่หนีจากพรรค พปชร.แน่นอน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าใครเป็นคนปล่อยข่าว เพราะข่าวที่ปรากฏนั้นถูกนำเสนอโดยเพจการเมืองเล็กๆ เหตุใดนายสมศักดิ์จึงต้องให้ความสำคัญชี้แจงแถลงไขด้วยตัวเอง

พร้อมกับประกาศจะสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อให้ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเดินหน้าทำงานตามที่ได้สัญญากับประชาชนไว้

อีกสัญญาณที่บ่งบอกถึงความไม่ปกติของกลุ่มสามมิตรในพรรค พปชร. คือภายหลังแถลงจากการร่วมแถลงข่าวตั้งรัฐบาลกับ 5 พรรคเล็ก เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ นายสุริยะและนายสมศักดิ์รีบบึ่งรถออกจากโรงแรมเดอะสุโกศล มาที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว เพื่อประชุมลับกับแกนนำกลุ่มสามมิตรและ ส.ส.สามมิตรร่วม 30 คน

ภายหลังการประชุม “นายสุริยะ” ให้สัมภาษณ์โดยเรียกร้องให้ผู้บริหารพรรค พปชร.คงกระทรวงสำคัญๆ ไว้เอง เพราะถ้าไม่เก็บกระทรวงสำคัญไว้เลย ก็จะไม่มีผลงานไว้สู้ในศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

นั่นเพราะการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้พรรค พปชร.ถูกบีบอย่างหนักจากพรรคร่วม โดยเฉพาะพรรค ปชป.ที่แม้จะได้นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาแล้ว ก็ยังจะเอากระทรวงสำคัญไว้คุมเอง โดยพรรค ปชป.ต้องการ รมว.ศึกษาฯ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ต้องชิงกับกลุ่มสามมิตร รวมถึง รมว.คลัง ที่นายสมคิดหมายมั่นเก็บไว้ให้คนในพรรค พปชร.

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล จะนั่งรองนายกฯ ควบกระทรวงสาธารณสุข หวังเดินหน้านโยบายกัญชา นอกนั้นเป็นตำแหน่ง รมช. เช่น รมช.สาธารณสุข รมช.คมนาคม รมช.มหาดไทย เป็นต้น ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปครอง และอาจได้ตำแหน่งรองนายกฯ บวกกับ รมช.อีกหนึ่งตำแหน่ง

แกนนำ พปชร.ยอมรับเองว่าการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ไม่ง่าย เพราะนอกจากการต่อรองอย่างหนักหน่วงของพรรคร่วมแล้ว คนในพรรคเองยังกดดันกันไม่แพ้พรรคอื่นเลย