เตือนส่งออกต้นปีหน้า8กลุ่มสินค้าต้องติดฉลากเป็นภาษาเมียนมา

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของเมียนมา (Myanmar’s Central Committee for Consumer Protection) ออกประกาศเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้าจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ประกาศฯ ฉบับที่ 1/2018 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2561 ว่าด้วยการกำหนดสินค้าที่ต้องติดฉลากและคำแนะนำในการใช้สินค้าเป็นภาษาเมียนมา และ (2) ประกาศฯ ฉบับที่ 1/2019 ลงวันที่ 17 มกราคม 2562 ว่าด้วยการกำหนดแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้าภาษาเมียนมา กำหนดประเภทสินค้าที่ต้องติดฉลากเป็นภาษาเมียนมา ใน 8 กลุ่มสินค้า ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าสำหรับเด็ก เครื่องมือเทคโนโลยีและการสื่อสาร ยาและอาหารเสริม สารเคมี เครื่องสำอาง อุปกรณ์อาบน้ำ และเครื่องมือทางการเกษตรและอุปกรณ์ออกกำลังกาย

นายอดุลย์ กล่าวว่า ภายใต้ประกาศได้ กำหนดให้แสดงเนื้อหาสำคัญ ได้แก่ คำแนะนำสำหรับการใช้งาน  วิธีการเก็บรักษา คำเตือนและข้อควรระวัง และผลข้างเคียงจากการใช้ (ถ้ามี) โดยสินค้าบางประเภทอาจไม่จำเป็นที่จะต้องระบุรายละเอียดสินค้าให้ครบทั้ง 4 ข้อ และมีข้อกำหนดในการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า ปริมาณ และขนาดของสินค้า

“ได้มีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาปรับตัว จนรัฐบาลเมียนมาได้ผ่อนปรน และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 1 ปี คือ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563 จากเดิมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติเรื่องการติดฉลากสินค้าแต่ละประเภท ขอให้ผู้ประกอบการไทยหารือผู้นำเข้าเมียนมา รวมทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลสินค้าแต่ละชนิด เพื่อจะได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง เนื่องจากสินค้าบางชนิดอาจใช้การติดสติ๊กเกอร์แทนการพิมพ์ฉลากใหม่ได้ เช่น สินค้าอาหารและเครื่องดื่มขอให้สอบถาม Food and Drug Administration (FDA) กระทรวงสาธารณสุข สินค้าปุ๋ย/ยาปราบศัตรูพืช หารือกระทรวงเกษตร เพราะบรรจุภัณฑ์ปุ๋ยจะต้องเป็นการสกรีนฉลากภาษาเมียนมาลงบนถุงปุ๋ย ไม่สามารถใช้สติ๊กเกอร์ติดแทนได้ เป็นต้น

มติชนออนไลน์