ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘มนังคศิลาบาตร’ หรือจะไม่ใช่ ‘มโนศิลาอาสน์’ ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
“พระแท่นมนังคศิลาบาตร” (?) จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจาก: หนังสือพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี)

“แท่นศิลา” ที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ชะลอมาจากเมืองเก่าสุโขทัยคราวที่ยังผนวชก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.2376 ได้ชื่อ “มนังคศิลาบาตร” เพราะมีข้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีข้อความระบุว่า “มนังษีลาบาตร”

แน่นอนว่า ประวัติที่อ้างว่าพบอยู่ข้างๆ กันที่เนินปราสาท เมืองเก่าสุโขทัย ตามอย่างที่ระบุไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง เทสนาพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือวชิรญาณ เมื่อปี พ.ศ.2425 ยิ่งทำให้ชวนคิดไปได้ว่า มนังษีลาบาตรที่ว่าก็คือ แท่นศิลาที่พบอยู่ข้างๆ กันนี่เอง

ศาสตราจารย์ Goerge C?d?s ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านจารึกอุษาคเนย์ ชาวฝรั่งเศส ถึงกับได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้ในหนังสือประชุมจารึกสยาม ภาคที่ 1 จารึกกรุงสุโขทัย ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำราฉบับแรกได้ริเริ่มทำการลำดับการสืบสายสันตติวงศ์ของสุโขทัยตามระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ มาตรฐานตะวันตก เอาไว้ว่า “…มูลเหตุที่ให้จารึกไว้ คือเมื่อ พ.ศ.1214 ได้สกัดกระดานหินพระแท่นมนังศิลา…”

แต่พระแท่นหรือหลักศิลาที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ชะลอกลับมาจากสุโขทัยนั้น จะเป็น “มนังษีลาบาตร” ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงจริงหรือ ก็ในเมื่อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 3 บรรทัดที่ 10-13 เองได้ระบุว่า

“…1214 ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขไทยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขดานหิน ตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้…”

ถ้าเชื่อตามความในจารึกหลักนี้ พระแท่นมนังคศิลาบาตรจึงควรตั้งอยู่ในสวนตาล แล้วคงถูกย้ายมาอยู่ที่เนินปราสาท ซึ่งคือพื้นที่บริเวณหน้าวัดมหาธาตุ สุโขทัย ดังนั้น ถ้าจารึกพ่อขุนรามคำแหง ถูกสร้างขึ้นเพื่อฉลองพระแท่นมนังคศิลาบาตร จึงควรที่จะวางอยู่คู่กันมาแต่เดิม

และเมื่อเป็นของที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ไม่ได้ตั้งอยู่ที่เนินปราสาทมาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงเป็นไปได้ทั้งว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหง ถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่เดียวกันกับพระแท่นมนังคศิลาบาตร (คือสวนตาล?)

และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่า อาจจะถูกเคลื่อนย้ายกันมาจากคนละที่ ซึ่งก็อาจจะหมายความได้อีกว่า แท่นศิลาที่เรียกกันอย่างเคยปากว่าพระแท่นมนังคศิลาบาตรนี้ อาจจะไม่ใช่ขดานหิน “มนังษีลาบาตร” ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในจารึกหลักดังกล่าวเลยเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้น หากจารึกพ่อขุนรามคำแหงจะถูกสร้างขึ้นเพื่อฉลองพระแท่นมนังคศิลาบาตรจริงตามอย่างที่ C?d?s สันนิษฐานเอาไว้ พระแท่นองค์ที่ถูกกล่าวถึงอยู่ในจารึกหลักนั้น ก็อาจจะเป็นคนละพระแท่นเดียวกันกับ พระแท่นมนังคศิลาบาตรองค์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้

พ.ศ.2452 หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ที่เกิดในกรุงเทพฯ อย่าง Cornelius Beach Bradley ได้เขียนบทความเรื่อง “The Oldest Known Writing in Siamese : The Inscription of Phra Ram Kamhaeng of Sukhothai 1293 A.D.” ลงในวารสารของสยามสมาคม ตอนหนึ่งในข้อเขียนชิ้นนี้ได้สันนิษฐานว่า คำว่า “มนัง” ใน “มนังษีลาบาตร” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้นมาจากคำว่า “มโน” Bradley จึงแปลคำ “มนังษีลาบาตร” ว่า “ความคิดฝังในศิลา”

คุณหมอ Bradley มาถูกทางแล้วที่สันนิษฐานว่า “มนัง” มาจากคำว่า “มโน” เพราะในภาษาบาลีมีคำว่า “มโนศิลา” อยู่ด้วย จึงไม่แปลกอะไรนักที่ความเห็นของ Bradley จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการ

แต่สิ่งที่ Bradley เข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นอย่างมากก็คือ คำว่า “มโนศิลา” ในภาษาบาลีนั้นเป็นชื่อเรียก “สารหนูชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสีแดง” ไม่ได้แปลตรงตัวว่า “ความคิดฝังในศิลา” อย่างที่ Bradley ได้สันนิษฐานเอาไว้เลยสักนิด

นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวไทยอย่าง รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ก็ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อจาก Bradley เอาไว้ว่า “…คำว่า มนังษีลาบาตร นั้น ผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ 1 คงจะได้ความคิดมาจากแท่นหิน “มโนศิลาอาสน์” ที่กล่าวถึงในหนังสือ ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2345…”

แต่ “มโนศิลาอาสน์” ในหนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ที่พิริยะอ้างถึงนั้นก็หมายถึง “อาสนะที่ทำขึ้นจากมโนศิลา” อยู่นั่นเอง เพราะเนื้อความในหนังสือไตรภูมิฉบับรัชกาลที่ 1 เล่มนี้ มีข้อความระบุอยู่ชัดเจนว่าเป็นอาสนะที่มี “สีแดง” ซึ่งก็คือสีของมโนศิลา ไม่ได้หมายถึงความคิดฝังในศิลาอย่างที่ Bradley เสนอไว้ ดังมีความว่า

“…ณ เบื้องบนแผ่นศิลาลาดนั้น มีมโนศิลาอาสน์อันใหญ่ มีประมาณได้ 3 โยชน์ มีพรรณอันแดงงามพิเศษ…”

ข้อสังเกตของอาจารย์พิริยะน่าสนใจนะครับ โดยเฉพาะเมื่อจุดยืนของ อาจารย์ท่านชัดเจนอยู่แล้วว่า จารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของที่รัชกาลที่ 4 สร้างขึ้น ไม่ใช่จารึกที่มีมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย

การที่อาจารย์พิริยะอ้างถึง มโนศิลาอาสน์ ว่าเป็นคติที่เพิ่งมีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเป็นสิ่งที่สอดรับกันดีกับความคิดเห็นที่ชวนให้เชื่อได้ว่า จารึกหลักนี้ทำขึ้นในยุครัตนโกสินทร์เท่านั้น

แน่นอนว่า ต้องมีผู้ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์พิริยะอยู่มาก โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์อย่าง ม.ร.ว.ศุภวัฒย์ เกษมศรี ที่เคยแสดงความเห็นไว้ในงานอภิปราย “ศิลาจารึกหลักที่ 1 จริงหรือปลอม?” ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมโบราณคดีแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ดังมีใจความว่า

“…”มนังศิลาบาตร” คุณพิริยะมีความเห็นว่ามาจากคำ “มโนศิลาอาสน์” ในไตรภูมิโลกวินิจฉัยที่เพิ่งแต่งในรัชกาลที่ 1 ผมว่าคงจะไม่จริง เพราะคำ “มโนศิลาอาสน์” มีมาก่อนอยู่ในมหาวงศ์ลังกา พระภิกษุสงฆ์ทุกยุคสมัยท่านอ่านภาษาบาลีออกกันทั้งนั้น พระมหาวงศ์เข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว ไม่เชื่อก็ไปดูชินกาลมาลีปกรณ์ยังอ้างถึงมหาวงศ์ นอกจากนี้คำ “มโนศิลา” มีในอปัณณกชาดกเอกนิบาต ซึ่งแต่งก่อนสุโขทัยนานนัก ทำไมเราคิดว่าคนสุโขทัยอ่านบาลีไม่ออก ทำไมคนกรุงเทพฯ ผู้ทำปลอมต้องรอจนรัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้แต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัยขึ้นก่อน ถึงจะได้ชื่อ “มนังศิลาบาตร” ผมเห็นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ได้ถนัดนัก…”

ใน อปัณณกชาดก ปรากฏคำว่า “มโนศิลา” จริงอย่างที่คุณชายศุภวัฒย์ว่าไว้ (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะไม่ได้กล่าวถึงมโนศิลาอาสน์เสียหน่อย?)

แต่ผมค้นคำว่า “มโนศิลาอาสน์” ไม่พบในหนังสือมหาวงศ์ และรวมไปถึงหนังสือจูฬวงศ์ ซึ่งเป็นภาคจบของมหาวงศ์ที่หนังสือมหาวงศ์ฉบับแปลไทยนำมารวมไว้เป็นเล่มเดียวกันก็ไม่ปรากฏคำนี้ด้วย

ทั้งในมหาวงศ์และจูฬวงศ์ ผมพบเฉพาะคำว่า “มโนศิลา” เช่นเดียวกับใน อปัณณกชาดก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก ในเมื่อคำดังกล่าวเป็นคำบาลีที่ใช้เรียกชื่อ “สารหนูสีแดง” อย่างเป็นธรรมดาสามัญ ถ้าจะมีในชาดกเรื่องอื่นๆ หรือหนังสือเก่าที่เขียนด้วยภาษาบาลีอีกกี่ร้อยเล่มก็ไม่เห็นว่าจะแปลกตรงไหน?

ลักษณะอย่างนี้ต่างจากคำว่า “มโนศิลาอาสน์” ซึ่งหมายถึง “อาสนะที่ทำจากมโนศิลา” และมีปกรณัมรับรองเป็นการเฉพาะ อย่างที่ปรากฏอยู่ในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา เพราะการสร้าง “ขดานหิน” โดยนำชื่อในปกรณัมมาใช้ย่อมมีการอ้างอิงถึงเรื่องราว และความศักดิ์สิทธิ์ของชื่อนั้นไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม แท่นศิลาที่ทุกวันนี้เรียกกันจนเคยปากว่า “พระแท่นมนังคศิลาบาตร” นั้นไม่ได้สร้างขึ้นมาจาก “มโนศิลา” และที่จริงแล้วแท่นศิลาดังกล่าวก็ไม่ได้มีโทนสีออกไปทาง “แดง” เลยเสียด้วยซ้ำ

ปราชญ์ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทราบดีอยู่แล้วว่า “มโนศิลา” เป็น “สีแดง” เห็นได้จากความบรรยายในหนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ที่กล่าวว่ามโนศิลาอาสน์นั้น “มีพรรณอันแดงงามพิเศษ”

ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ทุกสมัยก็คงจะอ่านบาลีออกกันทั้งนั้นอย่างที่คุณชายศุภวัฒย์ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วปราชญ์ในยุคสุโขทัยก็คงจะเข้าใจดีว่า มโนศิลานี้มีสีแดง

ถ้าอย่างนั้นแล้วทำไมจึงเรียกแท่นศิลานี้ว่า พระแท่นมนังคศิลาบาตร ที่แปลว่า พระแท่นที่สร้างขึ้นจากมโนศิลา ทั้งๆ ที่แท่นศิลานี้ไม่ได้มีสีแดงเสียหน่อย?

เราอาจจะทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ “แท่นศิลา” ที่รัชกาลที่ 4 ชะลอกลับมานี้ไม่ใช่ “มนังษีลาบาตร” ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง หรือไม่ก็มีใครสักคนที่พยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้กับที่มาของจารึกหลักดังกล่าว จึงผูกโยงเรื่องราวให้เข้ากับแท่นศิลาที่มีประวัติการค้นพบชัดเจนอยู่แล้วเท่านั้นเอง?