สงครามเกิด “ความจริง” หาย ศึก “ไซเบอร์” ปฏิบัติการ “ไอโอ” เร่งฝึก “นักรบไซเบอร์” รับมือ

AFP PHOTO / LIONEL BONAVENTURE

เป็นสงครามที่ไม่มีในตำราพิชัยสงคราม เป็นสงครามที่ท้าทายอำนาจรัฐได้แยบยลและไร้ตัวตน ปรากฏการณ์กลุ่มต้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข พ.ศ. … ที่ สนช. ลงมติเอกฉันท์ให้ผ่าน โดยผู้คัดค้านส่วนใหญ่มีความกังวลในมาตรา 14 และมาตรา 20

“แต่วันนี้ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น มีคณะกรรมการพิจารณาถึง 9 คน มีผู้แทนจากภายนอกด้วย เดิมฉบับปี 2550 เจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นผู้พิจารณา ต้องเข้าใจว่าถ้าเราไม่มีกฎหมายอะไรเลย หรือไม่เขียนให้เกิดความชัดเจน ถ้าเขาทำแบบนี้จะทำอย่างไรต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าว

แถมถูกโยงไปกับซิงเกิลเกตเวย์ ทำให้กระแสต้านติดลมบน แม้ไม่แรงจนปลิว แต่ก็สะเทือนฝ่ายความมั่นคงไม่น้อย เพราะมีกระบวนการ “แฉ” ข้อมูลหน่วยงานรัฐ และหนีไม่พ้นกองทัพที่โดนด้วย

การแฮ็กเกอร์จึงเกิดขึ้น ผ่านมือไร้ตัวตน นักรบไซเบอร์ทำงาน คิดค้นโปรแกรมขึ้นมาแฮ็ก หรือเจาะเข้าผ่านช่องว่างของเว็บไซต์ราชการ ทำให้กลุ่มแฮ็กเกอร์ไปเปลี่ยนภาพหน้าเว็บเพจ หรือลวงข้อมูลชั้นต้นบนเว็บออกมาได้

อีกทั้งการใช้ระบบกด F-5 พร้อมกันตามเวลานัดก็ทำให้เว็บที่โดนเป็นอัมพาตไปหลายชั่วโมง และมีทีท่าจะลุกลามไปเว็บสถาบันทางการเงิน-เศรษฐกิจด้วย

สงครามครั้งนี้จึงใหญ่นัก

พนักงานสอบสวนบก.ปอท. นำตัว นายณัฐดนัย คงดี อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 778/59 ถ.เจริญพัฒนา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม.ผู้ต้องหาคดีแฮกข้อมูลลับของกองทัพ มาขออำนาจศาลฝากขังเป็นครั้งแรก
พนักงานสอบสวนบก.ปอท. นำตัว นายณัฐดนัย คงดี อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 778/59 ถ.เจริญพัฒนา แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม.ผู้ต้องหาคดีแฮกข้อมูลลับของกองทัพ มาขออำนาจศาลฝากขังเป็นครั้งแรก

สงครามที่ต้องจับอาวุธ-ยุทโธปกรณ์เผชิญหน้ากัน จนถึงสงครามไซเบอร์ สิ่งที่เหมือนกันคือ สงครามชุดข้อมูล ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม การสร้างชุดข้อมูลข่มขวัญ จนหลายครั้งเป็นข้อมูลที่ยากจะเชื่อถือ

“กองทัพทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก จากสมัยก่อนเรารบด้วยปืนใหญ่และรถถัง แต่ปัจจุบันไซเบอร์ถือเป็นการรบรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการรบระหว่างกองทัพที่เราพัฒนาควบคู่มาเรื่อยๆ” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. กล่าว

กลายเป็นปฏิบัติการด้านการข่าว (Information Operations : IO) ที่น่าสนใจ การตอบโต้กันไปมา จนกลายเป็นเรื่อง “การเมือง” มากกว่าเรื่องทาง “เทคนิค” มีเป้าประสงค์เพื่อโจมตีหวังผลทางการเมืองไปในตัว

“กลุ่มเห็นต่างก็จะโจมตีหน่วยงานราชการทั้งหมด ซึ่งกองทัพบกก็มีหน้าที่ชี้แจงให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร และสร้างระบบป้องกันให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เจาะข้อมูลชั้นความลับออกไปได้” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าว

กรณีพลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway เผยแพร่ภาพพร้อมอ้างว่าเป็นข้อมูลการจัดซื้อของกองทัพบก อุปกรณ์เครื่องถอดรหัส SSL แม้ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่าไม่มีการจัดซื้อทั้งปี 2559-2560 ตามที่อ้าง เพราะเป็นระบบเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่กองทัพบกไม่มีความจำเป็นต้องใช้

“ข้อมูลจากเพจดังกล่าว เป็นการตกแต่งข้อมูล สังเกตเห็นว่ารายการยุทโธปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่นั้นเป็นเครื่องมือของทหารช่าง และมาต่อท้ายด้วยเครื่องถอดรหัส SSL โดยปกติทางทหารไม่ได้ดำเนินการแบบนี้ที่จะนำเครื่องมือช่างมารวมกับเครื่องมือสื่อสาร” พล.อ.เฉลิมชัย เผย

แต่หลายฝ่ายก็อดคิดไม่ได้ว่า จะเป็นการซ่อนรายการจัดซื้อมาไว้ที่หมวดทหารช่างหรือไม่ เพื่อ “ตีเนียน” ไปก่อน หากเอาไว้ในส่วนวัสดุอุปกรณ์ของทหารช่างก็จะพบได้ง่าย เพราะตกเป็นเป้ามาแต่แรก

 

แม้จะมีการจับกุมผู้ต้องสงสัย “แฮ็ก” ได้แล้ว 9 คนก็ตาม และอยู่ระหว่างการขยายผล หลังตรวจพบเครื่องมือในการแฮ็กเว็บไซต์และอาวุธปืนด้วย

“ถ้าผิดกฎหมายก็จับหมด จับได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เกี่ยวข้องกับใครก็จับ การปล่อยข้อมูลของรัฐมันถูกหรือไม่ จะให้ท้ายว่าเขาเก่งหรือ การเอาข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลของรัฐออกมามันถูกต้องหรือไม่ สังคมต้องเข้าใจ ต้องหยุดกระบวนการเหล่านี้ให้ได้” นายกฯ กล่าวย้ำ

แต่นักรบนิรนามในสงครามไซเบอร์ ย่อมทำให้สงสัยได้ว่าบุคคลที่จับมานั้นจะถูกตัว ไม่ใช่แพะ หากไม่ใช่แพะจริงก็น่าสนใจว่า เครื่องมือทางเทคนิคที่ปูพรมสแกนของฝ่ายความมั่นคง ไม่ธรรมดา

“ไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ซึ่งทุกอย่างมีหลักฐานชัดหมด มีปืน ทุกอย่างมีเครื่องไม้เครื่องมือครบ” พล.อ.ประวิตร แย้ง

38-12-e1480493105148

ล่าสุดเจ่าหน้าที่ได้เปิดเผยถึงโครงสร้างของกลุ่มแฮ็กเกอร์ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนกลุ่มคนที่จับได้ พบว่าแบ่งการทำงาน 2 ระดับ คือ ระดับสั่งการ และระดับปฏิบัติการ ซึ่งจากการสืบสวนพบว่ากลุ่มระดับสั่งการมีทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ

“บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ปฏิเสธที่จะบอกว่ามีผู้ร่วมขบวนการจำนวนเท่าใดและจะโยงกลุ่มการเมืองหรือไม่ ที่สำคัญกลุ่มในระดับปฏิบัติเป็นเยาวชน ซึ่งทุกคนก็คิดเป็น แต่ก็ยังหลงเชื่อ ส่วนใหญ่อายุ 17-20 ปี เด็กเหล่านี้จะมีความรู้ขนาดไหนถ้าไม่ถูกหลอกให้หลงเชื่อ ก็คงไม่ทำแบบนี้

“จะมีกลุ่มที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นเหยื่อ หลอกให้ส่งข้อมูล จากนั้นกลุ่มนี้จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปส่งต่อเพื่อให้ทุกคนหลงเชื่อและเข้าใจข้อมูลที่บิดเบือน ทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ เผย

ที่สำคัญกลุ่มคนที่เป็นเหยื่อจะเจาะระบบข้อมูลตามเว็บไซต์หน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองทัพ เจ้าหน้าที่ด้านไซเบอร์ยืนยันตรงกันว่า แฮ็กเกอร์เหล่านี้เข้าถึงข้อมูลได้ในระดับผิวเผินเท่านั้น ไม่ได้เข้าถึงชั้นความลับ

“แฮ็กเกอร์พวกนี้ทำได้เพียงรั้วบ้าน ไม่สามารถเข้ามาในรั้วบ้านได้” จนท.มอนิเตอร์ กล่าว

มองได้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเป็น “เหยื่อ” ของการโดน “หลอก” นอกจากเรื่องคดีความทางกฎหมายแล้วนั้น สิ่งสำคัญคือการ “รับฟัง” ข้อเสนอของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ที่ต้องแยกระหว่างผู้ที่ไม่ละเมิดกฎหมายและผู้ที่แสดงออกภายใต้กฎหมาย ว่ามีข้อเสนอและจุดประสงค์ต่อเรื่องกฎหมายนี้และซิงเกิลเกตเวย์อย่างไร ก็จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นจริง หรือหาจุดสมดุลร่วมกันให้ได้ ไม่เช่นนั้นกระบวนการแฮ็กเกอร์ก็จะยังคงมีต่อเนื่อง

ไม่ใช่เพียงการ “ถูกหลอก” เป็นวาทกรรมโจมตีคู่ตรงข้าม สุดท้ายแล้วก็จะเป็นเพียงปฏิบัติการไอโอกันไปมาเท่านั้น แม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปฏิบัติการไอโอในสนามรบไซเบอร์ได้ ในยุคข้อมูลข่าวสารที่ไหลไปมารวดเร็ว

การฝึกนักรบไซเบอร์ของกองทัพจึงมีความสำคัญ เพราะทั่วโลกล้วนมีนักรบไซเบอร์ประจำการ เช่น กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งหน่วยบัญชาการไซเบอร์ขึ้นมา โดยมีนายทหารระดับ “พล.อ.” เป็นผู้บังคับบัญชา

“สหรัฐเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ มีนักรบไซเบอร์เป็นหมื่นๆ คน แต่ของเราเพิ่งเริ่มต้น เทคโนโลยีก็พัฒนาไม่มากนัก ดังนั้น งานพวกนี้ของเราก็ไม่เยอะ จึงจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กันไป และผมอยากให้แยกแยะมิติด้านความมั่นคงกับปัญหาในโซเชียลมีเดียนั้นแตกต่างกัน” พล.อ.สุรพงษ์ ผบ.สส. กล่าว

ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนพบว่ากลุ่มระดับสั่งการมีทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงเป็นอีกปฏิบัติการที่สำคัญ

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ย้ำถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทุกประเทศและประเทศในอาเซียนให้ความสำคัญ และพยายามป้องกันระบบและข้อมูลของประเทศตนเอง จากการโจมตีจากภายนอกประเทศ จึงต้องเตรียมความพร้อม ทั้งด้านกำลังพลและเครื่องมือ เพื่อรองรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะกระทำต่อระบบเครือข่าย การติดต่อ สื่อสารข้อมูล หรือต่อระบบอินเตอร์เน็ต

23-13
ด้าน “บิ๊กปุย” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.สส. ได้อ้างงานเขียนของ โทมัส ฟรีดเเมน เรื่อง Thank you for being late ขอบคุณที่มาช้าไปหน่อย ซึ่งแต่ก่อนเปลี่ยนเทคโนโลยีแต่ละครั้งใช้เวลา 7-15 ปี ซึ่งก็ต้องพัฒนากฎกติกาป้องกันและควบคุมรองรับไว้ ส่วนคอมพิวเตอร์นั้นพัฒนาไปรวดเร็วมาก ดังนั้น กฎกติกาก็ต้องพัฒนาตามไปให้ทันด้วย เพื่อปกป้องคนดีคนบริสุทธิ์จากพวกอาชญากรรมที่พยายามแสวงหาประโยชน์ในเทคโนโลยีใหม่ๆ

ร่างกฎหมายต่อไปที่ต้องจับตามองคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หนึ่งในแพ็กเกจ “ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล” จึงมีการมองว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข เป็นเพียงการระบุบทลงโทษ แต่ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ คือกฎหมายที่จะมาควบคุม

“พ.ร.บ.ไซเบอร์ นี่แหละของจริง” จนท.มอนิเตอร์ กล่าว

ปฏิบัติการไอโอระหว่างฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายต่อต้านยังคงมีอีกยาว จนทำให้ประชาชนทั่วไปยากจะตัดสินว่าชุดข้อมูลไหน “จริง” ชุดข้อมูลไหน “เท็จ” เป็นสงครามไซเบอร์ในการแย่งมวลชนไปในตัว แรงกดดันบนโลกไซเบอร์อาจนำมาสู่การลงมาบนพื้นถนนก็ได้ เพราะมีความ “เร็ว-แรง-ไร้ทิศทาง-ยากจะคุม”

เพราะ สงครามเกิด “ความจริง” หาย!!