แมลงวันในไร่ส้ม /ไตรมาสแรก 2562 ฝ่าคลื่น ‘การเมือง’ ‘สื่อ’ หืดขึ้นคออีก

แมลงวันในไร่ส้ม

ไตรมาสแรก 2562

ฝ่าคลื่น ‘การเมือง’

‘สื่อ’ หืดขึ้นคออีก

 

การเมืองเริ่มเดินเข้าใกล้ระบบปกติ แม้เส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยยังอีกยาวไกล แต่ก็ทำให้สื่อมีข่าวสารมานำเสนอได้มากขึ้น

ต้องยอมรับว่าหลังรัฐประหาร 2557 สื่อต่างๆ แป้กไปตามๆ กัน เพราะข้อจำกัดในการเสนอข่าวสารมีมากมาย โดยเฉพาะจากประกาศฉบับต่างๆ แทบกระดิกตัวไม่ได้

ส่วนสื่อที่สนับสนุนการชัตดาวน์ ขับไล่ “ยิ่งลักษณ์-ระบบทักษิณ” ต่างส่งเสียงเชียร์เป็นการใหญ่ว่า รัฐบาลลุงตู่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การปฏิรูป ขจัดทุจริตคอร์รัปชั่น การโกงกินทุกรูปแบบ

คึกคักกันอยู่พักหนึ่งก็หงอยๆ กันไป ส่วนหนึ่งกลายเป็นสมาชิกสภาแต่งตั้ง หรือเข้าไปอยู่ในเครือข่ายของ คสช.ที่เรียกว่า แม่น้ำ 5 สาย

ส่วน “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อันเป็นคำขวัญในการชุมนุมของ กปปส. และ คสช.รับช่วงมาดำเนินการ ผลคือบรรดากองเชียร์ค่อยๆ ทยอยกันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่พอใจว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย ส่วนการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ก็กลายเป็นการเอาผิดเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเท่านั้น

สื่อเป็นกลไกสำคัญในการนำพาประเทศมาถึงจุดที่เกิดการรัฐประหาร และประสบปัญหาจากการรัฐประหาร เพราะสื่อจะแสดงบทบาทไม่ได้อย่างเต็มที่ในสภาพที่ขาดเสรีภาพ

ตลอด 5 ปี สื่อในประเทศไทย ใช้เครื่องไม้เครื่องมือและกำลังคนที่ต้องลงทุนไปมากมาย ทำข่าวอยู่ไม่กี่ประเภท

ขณะที่คนอ่านเสื่อมศรัทธา หันไปอ่านสื่อออนไลน์ที่เร็วกว่า มีให้เลือกมากกว่า และไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยสภาพการดิสรัปต์ของเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจ และวิกฤตศรัทธาที่มีต่อสื่อ ทำให้สื่อต่างๆ ปิดตัวเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะนิตยสาร รวมถึงนิตยสารการเมืองที่ปิดตัวเกือบทุกฉบับ ส่วนหนังสือพิมพ์ทยอยปิดตัว เริ่มจากบ้านเมือง ล่าสุดได้แก่ โพสต์ทูเดย์ ซึ่งพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และเดอะเนชั่น ซึ่งกำหนดปิดตัวในวันที่ 28 มิถุนายน

ส่วนทีวีดิจิตอลที่อาการหนักมาหลายปี รัฐบาลใช้คำสั่ง 4/2562 ใช้มาตรา 44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และผู้ประกอบการโทรคมนาคม เมื่อ 11 เมษายน

ให้ทีวีดิจิตอลไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลือรายละ 13,622 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่าใบอนุญาต ให้คืนใบอนุญาตได้ และได้รับค่าชดเชย ส่งผลให้เหลือช่องทีวีน้อยลง

และถึงวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้คืนใบอนุญาตให้บริการ มีผู้ขอคืนทีวีดิจิตอล 7 ช่อง ได้แก่ 1.ไบรท์ทีวี 20 2.วอยซ์ทีวี21 3.MCOT family 4.ช่อง 13 Family 5.ช่อง 28 “3SD”  6.ช่องสปริงนิวส์ 19 และ 7.สปริง 26 ของกลุ่มเนชั่น

และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งแผนเยียวยาผู้บริโภคและพนักงานที่จะเลิกจ้าง เพื่อให้ กสทช.พิจารณาจ่ายค่าชดเชยต่อไป

 

ในระหว่างความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงการสื่อ ผลประกอบการ 3 เดือนแรกของปี 2562 กลุ่มสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีตัวเลขไม่สวยงาม บ่งบอกว่า ยังต้องหืดขึ้นคอกันต่อไป

เริ่มจาก บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เจ้าของทีวีดิจิตอล 3 เอชดี 3 เอสดี และ 3 แฟมิลี่ คลื่นวิทยุ ค่ายเพลง ฯลฯ มีรายได้ 2,023 ล้านบาท ลดลง 14.8% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้ 2,375 ล้านบาท

ช่อง 3 ขาดทุนสุทธิ 128.04 ล้านบาท เป็นสภาพที่ย่ำแย่มากกว่าปี 2561 ที่ขาดทุน 125.99 ล้านบาท และกำลังเตรียมคืนช่อง 3 เอสดีและแฟมิลี่

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จํากัด (มหาชน) เจ้าของค่ายเพลง, ค่ายหนัง, ทีวีดิจิตอลช่องวัน One 31 และช่อง GMM 21, คลื่นวิทยุ ฯลฯ รายได้ 1,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้ 1,601 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 59 ล้านบาท เรียกว่าดีขึ้น พลิกสถานการณ์จากปี 2561 ที่ขาดทุน 38 ล้านบาท

บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของทีวีดิจิตอลเวิร์คพอยท์, ค่ายภาพยนตร์ ฯลฯ รายได้ 733.07 ล้านบาท ลดลง 17% จากไตรมาสแรกของปี 2561 ที่มีรายได้ 885.06 ล้านบาท กำไรสุทธิ 74.52 ล้านบาท ลดลงถึง 55% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 165.60 ล้านบาท

บริษัท อสมท จํากัด (มหาชน) หรือ MCOT เจ้าของทีวีดิจิตอล MCOT HD และ MCOT Family, สำนักข่าวไทย, สถานีวิทยุ ฯลฯ มีรายได้ 594.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้ 562 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังขาดทุนสุทธิ 31.86 ล้านบาท ดีกว่าปี 2561 ขาดทุน 107 ล้านบาท

บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO เจ้าของทีวีดิจิตอล Mono29 ที่เคยเรียกเรตติ้งจากการออกอากาศภาพยนตร์เก่าอย่างเดียว มีรายได้ 570.06 ล้านบาท ลดลง 9.90% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้ 632.73 ล้านบาท

ไตรมาสแรกปีนี้ โมโนขาดทุนสุทธิ 112.36 ล้านบาท ต่ำลงจากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่ขาดทุน 19.47 ล้านบาท

บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ POST ที่เพิ่งปิดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ไป ยังเหลือบางกอกโพสต์ และนิตยสาร รายได้ 208.3 ล้านบาท ลดลง 25.30% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้ 278.80 ล้านบาท

ขาดทุนสุทธิ 96.5 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 2561 ที่ขาดทุน 58.9 ล้านบาท

บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์มติชน ประชาชาติธุรกิจ และข่าวสด รวมถึงเว็บไซต์ และนิตยสารในเครืออีกหลายฉบับ รายได้ 183.57 ล้านบาท ตัวเลขลดลง 7.80% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้ 199.11 ล้านบาท

ขาดทุนสุทธิ 7.59 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2561 ที่ขาดทุน 25.15 ล้านบาท

บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของทีวีดิจิตอล AmarinTV, นิตยสารในเครือ รายได้ 695.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.54% จากงวดเดียวกันของปี 2561 ที่มีรายได้ 513.39 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 29.16 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 2561 ที่ขาดทุน 19.05 ล้านบาท

ในภาพรวมของสื่อที่เข้าตลาดหุ้น มีเพียงแกรมมี่กับเวิร์คพอยท์ที่ทำกำไรได้ ส่วนช่องอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าตลาดหุ้น ก็ยังอยู่ในสภาพต้องต่อสู้เช่นเดียวกัน

 

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสื่อ สถานการณ์การเมืองก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นเดียวกัน

หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้ง 2 ขั้วการเมือง ที่ขั้วหนึ่งเป็นตัวแทน คสช. อีกขั้วเป็นตัวแทนกลุ่มการเมือง มีเสียงก้ำกึ่ง

ทำให้การผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ไม่ราบรื่นนัก

ขณะที่อีกขั้ว ประกาศคัดค้านการสืบทอดอำนาจ

บทบาทสื่อในสถานการณ์รอบนี้ มีส่วนคล้ายเหตุการณ์ในช่วงคัดค้านและขับไล่นายทักษิณ ชินวัตร

เกิดการใส่ร้ายป้ายสี ใส่ไคล้โจมตี เพื่อบดขยี้อีกฝ่ายอย่างรุนแรง และน่าจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของสื่อที่ย่ำแย่อยู่แล้วอีกระลอก

การชิงอำนาจในรอบนี้จะลงเอยด้วยชัยชนะของขั้วไหนก็ตาม แต่ในภาพรวม สื่อเองจะต้องแบกรับความเสียหายไปอีกไม่น้อย