บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์ : “จุดแข็ง จุดอ่อน” และ “จุดขาย” ท่องเที่ยวบาหลี

การเปิดเกมพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แสวงหาเงินตราต่างประเทศแดนอิเหนา อินโดนีเซีย เริ่มต้นใกล้เคียงกับไทยเราที่กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 60 ปีหน้านี้

ถ้ามองภาพรวมด้านท่องเที่ยวอินโดนีเซียกับไทย ค่อนข้างละม้ายคล้ายกันในเรื่องธรรมชาติป่าเขาเขตร้อน ทะเลอันดามันแห่งคาบสมุทรอินเดีย

แต่ของเขามีเกาะกลางทะเลมากสุดในโลกถึง 17,500 เกาะ มีประชากรหนาแน่นกว่า 262 ล้านคน ติดอันดับ 4 ของโลก ร้อยละ 85.2 เป็นมุสลิม ร้อยละ 8.9 เป็นคริสต์โปรเตสแตนต์ ร้อยละ 3 เป็นคาทอลิก

ฮินดูร้อยละ 1.8 พุทธมีแค่ร้อยละ 0.8 เท่านั้นเอง

แล้วก็มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทโบราณสถานสำคัญ คือบุโรพุทโธที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1293 ทางภาคกลางเกาะชวา เมืองมาเกอลัง

บ้านนี้มีผลไม้เขตร้อนไม่ต่างบ้านเรา เช่น ทุเรียน ทุเรียนน้ำ เงาะ มังคุด ลองกอง แล้วก็สละ (Sala) ที่บ้านเราถ้าเป็นพันธุ์สุมาลีจะหวานฉ่ำ เนินวงจะหวานอมเปรี้ยว ส่วนของเขา เนื้อจะกรอบและอ่อนหวานอ่อนเปรี้ยว

วัฒนธรรมหลายอย่างก็อยู่ในสายเดียวกัน มีโขนที่ไทยนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนอินโดฯ เป็นโขนรามายณะ มีพระราม พระลักษมณ์ นางสีดา ทศกัณฐ์ และไพร่พลยักษ์ ไพร่พลลิง

นอกจากนี้ มีหนังตะลุง หนังใหญ่ กีฬาว่าวพื้นเมือง และอีกมากมายที่สืบทอดกันมานานและถูกนำมาใช้เป็นทรัพยากรขายท่องเที่ยว ที่ต่างคนต่างเคยขายกันมา

แต่พอรวมเป็นอาเซียนหนึ่งเดียวในตลาดโลก ก็ช่วยกันขายให้คนต่างภูมิภาคมาเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียน

 

ถึงกระนั้น…ไทยกับอิเหนาก็ยังถูกจัดให้เป็นมวยถูกคู่ในโลกท่องเที่ยว มีตัวอย่างให้เห็น เมื่อครั้งไทยเกิดวิกฤตทางการเมือง จะปฏิวัติเงียบ ปฏิวัติซ้อนหรือรุนแรงถึงขั้นเผาบ้านเผาเมือง

ช่วงนั้นทัวร์เอเย่นต์รายน้อยใหญ่จากตลาดต่างประเทศมักจะเบนเข็มไปเที่ยวเพื่อนบ้านอินโดนีเซียแทนทันที เพราะไม่อยากมาดมกลิ่นคาวเลือดบ้านเรายามนั้น

ทำนองเดียวกันเมื่อแผ่นดินเพื่อนบ้านเร่าร้อน จากภัยก่อการร้ายของฝ่ายตรงข้ามจนเกิดสงครามกลางเมือง หรือจะเป็นภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ ทัวร์เอเย่นต์ก็จะหันหลังแล้วก็หันมาเที่ยวไทยแทนทันทีเช่นกัน

มาดูสถิติทัวร์ต่างชาติระหว่าง “เขา” กับ “เรา” ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวของเขาบอกว่า เมื่อปี 2560 มีต่างชาติเดินทางไปเที่ยว 14 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 จีนขยับแซงมาเลเซียมาเป็นตลาดหลักอันดับ 1 รองลงมาคือสิงคโปร์แล้วก็มาเลเซีย

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด รัวกลองไว้ก่อนแล้วว่า ปีนี้ 2562 จะทำตัวเลขให้ได้ 20 ล้านคน ด้วยการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ขณะที่ปีเดียวกันนั้นไทยมีทัวร์ต่างชาติ 35.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77 คาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 40 ล้านคนแน่นอน

ส่วนเพื่อนจากแดนอิเหนามาเที่ยวบ้านเรา 5.74 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 และเราไปเที่ยวบ้านเขาเฉลี่ยปีละประมาณ 1.4 แสนคน

สาเหตุแห่งปัญหาท่องเที่ยวอินโดฯ เติบโตช้า นักวิเคราะห์ตลาดมองว่า เพราะคนถิ่นนี้หมู่มากเป็นมุสลิมติดอันดับโลกและเคร่งในจารีต จึงอาจเป็นกำแพงกั้นโลกท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์บางส่วนกับคนยุคนี้

 

เคยมีปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งจากงานส่งเสริมการขายท่องเที่ยวประจำปี ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Associaion of Travel Agents – JATA) เป็นเจ้าภาพ

คืนนั้นหลังการเจรจาซื้อขายท่องเที่ยวปิดตลาดลงแล้ว ไทยถือโอกาสจัดงาน “Thailand Night” ตามธรรมเนียม เพื่อเชิญผู้ร่วมงานจากทุกประเทศไปรับรู้สินค้าท่องเที่ยวตัวใหม่ของไทย พร้อมดื่มและชิมอาหารไทย

คืนเดียวกันนั้น…มีงาน “Indonesia Night” จัดขึ้นที่ห้องติดกับห้องราตรีไทย ผลคือแขกส่วนใหญ่เลือกไปชุมนุมอยู่ห้องไทยแลนด์ เพราะมีเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์บริการ!

จะอย่างไรก็ตาม…ในการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ ผู้นำอินโดนีเซียเคยย้ำกับเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่เสมอว่า จะไม่ขอเร่งเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวจนเกินขีดความสามารถรองรับ เพราะไม่อยากให้เกิดอุปสรรคปัญหาทำลายบรรยากาศทางการท่องเที่ยวของตนเอง

 

อินโดนีเซียได้ยกตัวอย่างเกาะบาหลีแห่งเมืองเด็นปาซาร์ ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก โดยมีพื้นที่ 5,634,40 ตร.ก.ม. ประชากร 5 ล้านคน ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 นับถือศาสนาฮินดู

บาหลีเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับแนวหน้าในกลุ่มอาเซียนก็ว่าได้ และคนทั่วโลกก็รู้จักเป็นอย่างดี มี “จุดเด่น” ที่เป็น “จุดแข็ง” และ “จุดขาย” ตรงเป็นเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ที่ปรากฏโบราณสถานทรงคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย อย่างวัดทานาห์ ลอต ริมทะเล วัดอูลูบาตูเหนือชะง่อนผา วัดเบซาห์กิห์อายุกว่าพันปีกลางเมือง

บ้านเรือนล้วนสไตล์ฮินดูประดับด้วยอิฐหินศิลาไม่ดัดแปลงให้ดูเป็นทัศนะอุจาด สภาพเดิมงดงามและวิถีครองเสน่ห์มาอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น โรงแรมและรีสอร์ตริมทะลบ้านเราหลายแห่งยึดเอาบาหลีเนสสไตล์มาเป็นต้นแบบฟ้องสายตาอยู่มากมาย

ที่น่าชื่นชม…บาหลีมีการควบคุมไม่ให้มีอาคารทรงสูง ทำลายภูมิทัศน์มุมเมือง เหมือนเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลบ้านเรา…

นี่คือจุดแข็งบาหลีที่ขายดิบขายดีมาโดยตลอด!

 

ด้านวัฒนธรรม ทุกครัวเรือนจะนิยมยกศาลพระภูมิให้เสมือนวัดอยู่ร่วมรั้วเดียวกัน และจะให้บุตรชายคอยดูแลบูชา ส่วนบุตรสาวจะออกเรือนไปอยู่หนใดไม่มีใครคัดค้าน

บาหลีมีพิธีชานัง (Chanang) ให้ครัวเรือนจัดหาดอกไม้สีขาว ชมพู หรือแดงประดับธูป-เทียนนำไปวางไว้กับพื้นหน้าประตูบ้านหรือร้านค้า เพื่อความเป็นสิริมงคลในแต่ละวัน เสริมคุณค่าความเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีเอกลักษณ์ชวนให้น่าสนใจ

เมืองนี้มีชายหาดกูตาเป็นแหล่งยอดนิยมสูงสุด เที่ยวได้ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน และมีตลาดชุมชนอูบุดให้คนมาเที่ยวเลือกจับจ่ายสินค้าพื้นเมือง ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านที่พักมีโรงแรม 5 ดาว 128 แห่ง 4 ดาว 196 แห่ง คิดเป็นห้องพัก 6,000 ห้อง

ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวผลักดันให้มีคนไปเที่ยวในปี 2560 จำนวน 14.4 ล้านคน เป็นต่างชาติ 5.6 ล้านคน โดยน่าจะสืบเนื่องจากมาตรการยกเว้นวีซ่า และมากสุดคือออสซี่ รองลงมาเป็นจีนกับญี่ปุ่น

มีไทยผสมโรงอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

 

และถึงบาหลีจะโดดเด่นบนเวทีโลกท่องเที่ยว ทว่า…เพราะถิ่นนี้ตั้งอยู่บนแนวเส้นภูเขาไฟ มีภูเขาไฟ 130 ลูกที่ยังไม่ดับ กับรอยแยกเปลือกโลกลึกลงไปในทะเล จึงมักเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติภูเขาไฟปะทุ แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นบ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน

เมื่อ 56 ปีที่แล้วบาหลีเคยเกิดภูเขาไฟระเบิด ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 5 หมื่นคน ไม่นานต่อมาเกิดดินถล่มใส่ชุมชนบนเกาะอีกครั้ง มีผู้เสียชีวิตไปอีก 12 ราย

เดือนมิถุนายน 2559 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ริกเตอร์ โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิต ปีถัดมาต้นเดือนสิงหาคม แผ่นดินไหวรุนแรงอีกครั้งนอกชายฝั่งทางทิศตะวันตก คราวนี้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยบาดเจ็บอีกร่วมร้อย ปีเดียวกันภูเขาไฟอากุงทางฝั่งตะวันออกบาหลี เหนือน้ำทะเล 3 พันเมตร เกิดปะทุทำเอาผู้คนกว่า 1.4 แสนคนในรัศมี 12 ก.ม.รอบภูเขาไฟได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่ก่อให้เกิดวิบากกรรมกับการขายท่องเที่ยวบาหลี ในทุกครั้งที่เกิดภัยธรรมชาติ

ที่น่าสลดไม่ต่างกันก็เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2545 ได้เกิดเหตุสังหารหมู่ขึ้นในย่านท่องเที่ยวกูตา โดยฝีมือกลุ่มก่อการร้าย มีผู้ถูกสังเวยชีวิตรวมนักท่องเที่ยวราว 202 คน บาดเจ็บอีกกว่า 240 คน

รัฐบาลต้องเร่งกู้สถานการณ์อยู่นาน บาหลีจึงฟื้นกลับมาขายท่องเที่ยวได้ ทำให้ไทยน่าทวนความจำ 11 เมษายน 2552 ที่เมืองพัทยาถูกคนกลุ่มหนึ่งบุกทำลายการประชุมระดับนานาชาติ จนผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ ต้องพากันวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนเอาชีวิตรอด

วันนั้น…ภาพลักษณ์ประเทศไทยป่นปี้ในสายตาชาวโลกไม่มีชิ้นดี สรุปเป็นว่าไทยก็เคยมี “จุดอ่อน” ในเมืองท่องเที่ยว ไม่ต่างชะตากรรมบาหลีเลยแหละ!