จี้ ‘สอศ.’ ขึ้นเงินเดือนครูเอกชน ‘นายกสวทอ.’ วอนรัฐเพิ่มยอดผู้เรียน เพิ่มสัดส่วนอาชีวะเอกชนนั่ง ‘กอศ.’

จี้ ‘สอศ.’ ขึ้นเงินเดือนครูเอกชน ‘นายกสวทอ.’ วอนรัฐเพิ่มยอดผู้เรียน เพิ่มสัดส่วนอาชีวะเอกชนนั่ง’กอศ.’

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เชิญผู้แทนสถานศึกษาอาชีวะเอกชน เข้ามาหารือกรณีที่ตัวแทนสวทอ. และสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า นักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยอาชีวะเอกชนหลายแห่งลดลง อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะปิดกิจการ โดยเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ย้ายไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงอยากกลับไปอยู่ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ตามเดิม โดยจากการหารือร่วมกันพบว่า สถานศึกษาอาชีวะเอกชนอยู่สังกัดหน่วยงานใดก็ได้ แต่ขอให้หน่วยงานรัฐพัฒนาและช่วยเหลือ 3 ด้าน คือ เพิ่มจำนวนผู้เรียน พัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะมากขึ้น และพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ประกอบการ

นายอดิศร กล่าวต่อว่า เรื่องการเพิ่มจำนวนผู้เรียน นายบุญรักษ์ ให้แนวปฏิบัติว่าต่อไปสอศ.จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำวิชาชีพเข้าสอนในโรงเรียนสังกัดสพฐ. ซึ่งหากสถานศึกษาอาชีวะเอกชนสนใจ สามารถเข้ามาสนับสนุนได้ แต่ต้องลงทุนเอง เนื่องจาก สอศ.ไม่มีงบให้ ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ จะประชุมประธานอาชีวศึกษาจังหวัด เพื่อกำหนดกลุ่มสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ ที่จะต้องทำงานร่วมกัน

“ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่น่ากังวลว่าอาชีวะเอกชนสามารถร่วมกำหนดกลุ่มสถานศึกษามากน้อยแค่ไหน และนโยบายที่ให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนสมทบกับสถานศึกษาอาชีวะรัฐ ในการสอนระดับปริญญาตรี อาจจะทำไม่ทันในปีการศึกษา 2562 แต่ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของความเสมอภาค คาดว่าในวันที่ 6-7 มิถุนายนนี้ จะประชุมร่วมกันเพื่อร่างหลักสูตรและแนวทางการเข้าร่วมสมทบกัน” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศร กล่าวต่อว่า สอศ.ได้ทำความเข้าใจกับสถานศึกษาอาชีวะเอกชน ว่าไม่เคยทอดทิ้งและคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ เช่น เครื่องแบบครูอาชีวะเอกชน ที่มีการเรียกร้องกันมานาน ขณะนี้ สอศ.จัดทีมศึกษาด้านกฎหมาย เพื่อออกระเบียบหลักเกณฑ์อยู่ ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูอาชีวะเอกชน นอกจากนี้ เลขาธิการ กอศ.แนะนำว่าการสื่อสารของ สอศ.ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรอบคอบ และครอบคุลม และต่อไปให้สถานศึกษาอาชีวะทุกแห่งติดตั้งวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งตนกังวลว่าสถานศึกษาอาชีวะเอกชน จะได้รับการติดตั้งวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จาก สอศ.ด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเวลาประชุมแต่ละครั้ง ต้องเดินทางเข้าไปร่วมประชุมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาขนาดใหญ่ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

“อยากให้ สอศ.พัฒนาประสิทธิภาพเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เป็นต้น ให้สม่ำเสมอ เมื่อครั้งที่อยู่สังกัด สช. เราได้งบสม่ำเสมอ แต่เมื่อมาอยู่กับ สอศ.กลับได้ล่าช้ามาโดยตลอด อีกทั้ง 5 ปี ที่ผ่านมาครูอาชีวะเอกชน ไม่ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น จึงอยากให้ สอศ.ใส่ใจด้วย และตอนนี้ สอศ.อยู่ระหว่างการสมัครและคัดเลือก กรรมการ กอศ. จึงอยากให้มีตัวแทนอาชีวะเอกชนเข้าไปเป็นกรรมการ กอศ.ด้วย เพื่อจะได้สะท้อนปัญหาและแนวคิด ซึ่งที่ผ่านมาอาชีวะเอกชนเข้าไปในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น ไม่ได้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง” นายอดิศร กล่าว

มติชนออนไลน์