“งูเห่า” ตัว ฮ.

เพียงแค่ประชุมวันแรก “งูเห่า” ก็ชูหัวแผ่แม่เบี้ยทั่วสภาผู้แทนราษฎร

คะแนนพลิกไปพลิกมาตลอด

ขึ้น-ขึ้น-ลง-ลง เหมือนกับ “น้ำ”

ตอนที่ลงคะแนนเลือก “ชวน หลีกภัย” ประธานสภา

เสียงสนับสนุนพุ่งไปถึง 258 เสียง

สูงกว่าเสียงของฝั่งพลังประชารัฐเยอะทีเดียว

แต่พอเลือก “สุชาติ ตันเจริญ” รองคนที่ 1

เสียงหนุนเหลือแค่ 248

หายไป 10

ชนะคู่แข่งจากพรรคอนาคตใหม่แค่ 2 คะแนน

คะแนนลดฮวบต่ำกว่าฐานเสียงที่มีอยู่

ทำเอา “สุชาติ” หนาวไปเลย

ดังนั้น พอถึงคิวของ “ศุภชัย โพธิ์สุ” รองคนที่ 2

การเช็กชื่อด้วยการให้ ส.ส.เขียนชื่อ-นามสกุล คนละบรรทัดจึงเกิดขึ้น

พร้อมคำขู่ว่ามีการถ่ายวิดีโอเก็บไว้

ลายมือใครไม่ลงคะแนนให้ เจอแน่

คะแนนก็พุ่งกลับมาเป็น 256 ทันที

แม้ว่าจะชนะในเกมการลงคะแนนแบบ “ลับ”

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า

1. แนวร่วมพรรคพลังประชารัฐไม่มีเอกภาพ

และ 2. “งูเห่า” ที่มีการพูดถึงกัน

ไม่ใช่ “ข่าวลือ”

แต่เป็น “เรื่องจริง”

ไม่มีใครรู้ “งูเห่า” นั้นเป็นใคร

และ “แรงจูงใจ” ของการแปรสภาพเป็น “งูเห่า” มีมูลค่าเท่าไร

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดให้ ส.ส.มีอิสระในการโหวต พรรคการเมืองไม่มีอำนาจเหนือ ส.ส.

กติกานี้เองทำให้การเมืองไทยหมุนวนกลับไปสู่อดีตในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ส.ส.สามารถยกมือสวนมติพรรคได้

โดนพรรคไล่ออกก็เข้าไปสังกัดพรรคอื่น

กติกาแบบนี้ ส.ส.คนไหนจะกลัวมติพรรค

และเปิดทางให้ “อามิสสินจ้าง” มีผลต่อการตัดสินใจ

การลงคะแนนเสียงนั้นมีแบบ “ลับ” และ “เปิดเผย”

“ลับ” คือลงคะแนนในคูหา

ไม่มีใครรู้

แต่ “เปิดเผย” ต้องขานชื่อเป็นรายบุคคล เพราะไม่มีระบบกดบัตรลงคะแนน

ขานชื่อตั้งแต่ ก. จนถึง ฮ.

ถ้ารัฐบาลและฝ่ายค้านนั่งเช็กคะแนนที่ลงไปแล้ว

เขาจะรู้ว่าต้องการเสียงอีกเท่าไรจึงจะชนะ

ส.ส.ที่มีอักษรท้ายๆ เช่น อ.อ่าง จึงมีมูลค่าสูงสุด

เพราะสามารถพลิกเกมได้ทันที

แพ้อยู่ก็ขอให้ “อ.อ่าง” เป็น “งูเห่า”

ดังนั้น ส.ส.คนไหนที่พร้อมจะร่ำรวยจากการเป็น “งูเห่า”

ให้รีบไปเปลี่ยนชื่อใหม่

ขึ้นต้นด้วย “ฮ.นกฮูก”

อ่านรายชื่อลงคะแนนเป็นคนสุดท้าย

รับรอง “รวย”…