E-DUANG : ปรากฎการณ์ ของ “อีช่อ” เงาสะท้อน โซเชียล มีเดีย

ทั้งๆที่การเปล่งประกาศคำว่า “อีช่อ”ออกมาก็เหมือนกับการเปล่ง ประกาศคำว่า “อีโง่”

นั่นก็คือ มาจากความเกลียด

นั่นก็คือ ต้องการด้อยค่า หรือ “ดิสเครดิต” บุคคลอันเป็นเป้าหมาย

แต่แทนที่”อีช่อ”ซึ่งเป็นเป้าหมายจะ “ด้อยค่า”

รูปธรรมที่น่าหัวร่อเป็นอย่างยิ่งก็คือ บุคคลอันเป็นต้นตอแห่งคำว่า “อีช่อ” กลับต้องวิ่งไปหาตำรวจเพื่อแจ้งความ ร้องทุกข์ว่าได้รับความเดือดร้อน

ปรากฏว่า หากเป็นไปตามคำร้องทุกข์แจ้งความน่าจะมีจำเลยไม่น้อยกว่า 1,000 คน

นี่คืออาการพลิกกลับของปรากฏการณ์แห่ง”อีช่อ”

 

ทันทีที่คำว่า “อีช่อ” ปรากฏขึ้นในสังคม แม้เจ้าตัวคนพูดจะออกมาให้นิยามความหมายไปในอีกแนวทางหนึ่ง แต่สังคมกลับมีบทสรุป ในลักษณะ”ร่วม”อย่างมิได้นัดหมาย

นั่นก็คือ รู้ว่าเป้าที่แท้จริงเป็นใคร

นั่นก็คือ รู้ด้วยว่า”อีช่อ”เป็นใครและมีบทบาทอย่างไรในทางการเมือง

และเหตุใดจึงเกิดการเปล่งคำว่า “อีช่อ”ออกมา

เห็นได้จากผู้สื่อข่าวจำนวนมากได้ติดตามไปสอบถามความ เห็นจากบุคคลอันรับรู้กันว่าเป็น “อีช่อ”

เป็น “สังคม” ต่างหากที่บังเกิดความตื่นตัว

1 สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวของบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งสือเก่าและสื่อใหม่

1 สะท้อนความเห็นไปยังรากฐานที่มาของคำว่า”อีช่อ”

เป็นปฏิกิริยาในทางประณามหยามเหยียด ด่าว่าโจมตีด้วยถ้อยคำอันดุเดือดและรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปรากฏขึ้นของ คำว่า “อีช่อ”ในเบื้องต้น

ปฏิกิริยาในเชิง”ลบ”นี้เองคืออุณหภูมิความรู้สึกของสังคม

 

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า โลกใน”โซเชียล มีเดีย” เป็นโลกที่มีลักษณะประชันกัน มิได้เป็นโลกการสื่อสารทางเดียว

ตรงกันข้าม พื้นที่ของ”โซเชียล มีเดีย”นำไปสู่การสื่อสารหลายช่องทาง

เป็นไปตามกฎของฟิสิกส์ครบถ้วน มีแรงกดก็มีแรงต้าน