คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน “นักเขียนในช่วงหยุดพักร้อน”

แม้ผู้เขียนจะรู้จักกับ “อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์” เป็นการส่วนตัวจากที่เคยร่วมงานเป็นคณะกรรมการประกวดเรื่องสั้นเวทีหนึ่งมาด้วยกัน

แต่สารภาพตามตรงโดยไม่เยินยอว่าทันทีที่ผู้เขียนอ่าน “คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน” จบลงกลับพบว่าอ่านสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ และคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปโดยไม่เปล่าประโยชน์

เพราะนอกจากเราจะได้รับรู้ความกดดันที่ตัวละครอย่างนาย “ธีร์” ต้องเผชิญกับปัญหาสารพันต่างๆ ในการทำงานแล้ว (ซึ่งแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งในนวนิยายเล่มนี้ก็คือประสบการณ์ชีวิตของอดิศรเอง)

เรายังได้รับรู้แง่มุมอันเป็นประโยชน์จากอาจารย์สมัยมหาวิทยาลัยของนายธีร์ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน เหตุและผลที่หัวหน้างานคนปัจจุบันต้องคอยเคี่ยวเข็ญกระตุกกระตุ้นเตือนอยู่หลายครั้งหลายครา

มุมมองที่ในตอนแรกคนอ่านจะเห็นเพียงด้านเดียวจากฝั่งของผู้เล่า และเมื่อคายคำสารภาพออกมาจนหมดแล้ว ต่อมาคนอ่านก็จะได้รับสารอีกด้านจากหัวหน้างานที่ถูกนายธีร์พาดพิงมาบอกเล่ากลับบ้าง (ซึ่งดูจะมีน้ำหนักคะคานได้เป็นอย่างดี)

ตรงนี้จะทำให้คนอ่านชั่งน้ำหนักได้เองว่าเราควรจะเลือกมองในด้านการทุ่มเทการทำงานอย่างหนัก มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังแล้วยังถูกหัวหน้างานตำหนิว่ากล่าวตักเตือนสารพัดอย่างไม่เป็นธรรม?

หรือจะเลือกฟังความอีกด้านที่แม้จะเล่าความในใจเพียงไม่กี่หน้ากระดาษในฐานะหัวหน้างานที่ครั้งหนึ่งเคยคาดหวังกับ “เพชรในตม” คนนี้มาก่อนแล้วเกิดผิดหวังที่ไม่ได้ครึ่งอย่างที่เคยหมายมั่นปั้นมือเอาไว้แต่ทีแรก

คําสารภาพของมนุษย์เงินเดือน จึงเป็นคล้ายกระบอกเสียงของอดิศร ซึ่งเล่าเรื่องราวความในใจของพนักงานเงินเดือนชื่อธีร์ ตั้งแต่ความรู้สึกย่ำแย่ของการทำงานที่กำลังเผชิญ ก่อนจะเล่าย้อนกลับไปสู่สมัยเรียนมัธยมจากเด็กที่เคยเรียนดี การเรียนกลับค่อยๆ ตกต่ำ ทรุดฮวบ

“โรงเรียนให้ผมออกเพราะเกรดเฉลี่ยสูงไม่ถึง หากผมต้องการเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่นี่” จนกลับมาฮึดสู้ใหม่อีกครั้ง ผลการเรียนดีขึ้น สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่สุดท้ายก็เรียนต่อไม่ไหว (เนื่องจากเกรดเฉลี่ยที่ย่ำแย่มาตลอดสามเทอมรวด) จนต้องเปลี่ยนสายมาเรียนคณะบริหารธุรกิจแทน

และในช่วงเวลาที่หยุดพักการเรียนหนึ่งเทอมครานั้น ได้เป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ทำให้เขาได้พบเจอโลกใบใหม่

ในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา

“ผมรู้สึกว่าการได้อ่านหนังสือเหล่านี้เป็นความรู้สึกพิเศษเหลือเกิน อยากจะเป็นคนส่งมอบความรู้สึกแบบนี้ให้กับคนอื่นได้บ้าง ไม่ได้หมายถึงการแนะนำหนังสือที่ตัวเองอ่านให้ใครรู้จัก แต่หมายถึงการรังสรรค์ผลงานของตัวเองขึ้นมาเป็นเล่มหนังสือให้คนอื่นๆ ได้อ่าน เป็นนักเขียนได้ก็คงดี ความคิดนี้เกิดขึ้นตอนนั้นเอง” (หน้า 73)

ในส่วนของความในใจตอนนี้ของนายธีร์น่าสนใจ (ซึ่งความจริงก็คืออดิศรเอง) เพราะด้านหนึ่งนักอ่านหลายคนที่กลายมาเป็นนักเขียนก็เคยผ่านจุดนี้กันมาทั้งนั้น ส่วนใหญ่เริ่มจากการอ่านแล้วจึงอยากเขียนตามลำดับ

โรล็องด์ บาร์ตส์ เคยพูดถึงนักเขียนเอาไว้ตอนหนึ่งใน “นักเขียนในช่วงวันหยุดพักร้อน” ว่า

“โดย “ธรรมชาติ” แล้ว นักเขียนย่อมต้องเขียนหนังสืออยู่เสมอไม่ว่าในสถานการณ์ใด” บาร์ตส์ขยายภาพของการเป็นนักเขียนชัดขึ้นไปอีกว่า “หากจะเปรียบให้งามสง่ากว่านี้ก็คือ นักเขียนตกอยู่ใต้อำนาจของเทพที่สิงสถิตอยู่ภายใน ซึ่งพรั่งพรูถ้อยคำออกมาตลอดเวลาโดยไม่นำพาว่าจะเป็นช่วงหยุดพักร้อนของผู้ที่เป็นร่างทรงในอาณัติหรือไม่ นักเขียนอาจกำลังพักผ่อนวันหยุด แต่เทพแห่งการกวียังตื่นตัวอยู่เสมอ และเนรมิตแรงบันดาลใจแก่นักเขียนโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

(มายาคติ, โรล็องด์ บาร์ตส์ น.41)

ช่วงระหว่างพักการศึกษาของนายธีร์ ซึ่งมีเพื่อนหยิบยื่นหนังสือมาให้ลองอ่านก่อนที่จะติดงอมแงมจนเขาต้องไปยืมห้องสมุดมาอ่านต่ออีกหลายเล่มและมีแรงบันดาลใจที่อยากเป็นคนเขียนหนังสือนั้น น่าจะเป็นรอยต่อที่จุติความเป็นนักเขียนที่ฝังอยู่ในตัวของเขาให้ค่อยๆ เผยออกมา

แต่ความต้องการดังกล่าวก็ติดตรงที่เงื่อนไขของคนอยากเป็นนักเขียนอาชีพส่วนใหญ่เป็นกัน โดยเฉพาะในบ้านเรา นั่นคือ “ความไม่มั่นคง” ของชีวิต

ครั้งหนึ่งนายธีร์เคยยกมือขึ้นถามอาจารย์ผู้สอนว่า

“หากเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วอาจจะไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ล่ะ”

คำตอบจากอาจารย์ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนก็ให้บทเรียนอันมีค่าแก่เขา โดยนำประสบการณ์ตรงของตัวเองมาบอกเล่าให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตว่า “ถ้าเป็นคุณ” คุณอยากจะเลือกทางไหน

“สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายผมชอบเล่นเปียโนมากและก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง ตอนนั้นมันก็มีทางแยกเหมือนกันว่าหรือผมจะควรไปเรียนทางด้านดนตรีไปเลยดี แต่ผมก็นั่งคิดกับตัวเองว่า ถ้าจะเลี้ยงชีพได้ด้วยการเล่นเปียโนจริงๆ ผมต้องเก่งขนาดไหน และตัวเองตอนนี้เก่งขนาดไหน จะมีโอกาสมากแค่ไหนที่ผมจะพัฒนาตัวเองถึงขั้นที่ยึดเป็นอาชีพได้ ผมรู้เลยว่ามีคนหยิบมือเดียวที่หากินด้วยอาชีพนี้ได้ ต้องเก่งกว่าทุกคน ในขณะที่อีกเส้นทางหนึ่ง ตอนนั้นคือการเรียนบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน มันเป็นเส้นทางที่รู้แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นอาชีพได้ คนแทบจะหลับตานึกออกเลยว่าไปทำงานอะไรได้บ้าง ตลาดต้องการแรงงานแบบนี้ คุณไม่ต้องเก่งมากหรอก ยังไงก็หากินได้”

(หน้า 83-84)

ซึ่งนี่เป็นด่านสำคัญที่ “นักเขียน” ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ไม่ได้ด้วยการเขียนงานเต็มตัวเพียงอย่างเดียว

นายธีร์จึงต้องมีงานประจำรองรับและอาศัย “การตื่นตัว” อยู่เสมอในการเขียนงานเป็นอาชีพเสริมอีกทาง จนเป็นเหตุให้นายธีร์ต้องมาแบกรับภาระหนักอึ้ง ปัญหางานที่ต้องสะสางและโดนหัวหน้าท้วงติงอยู่เสมอๆ

หนักเข้าก็เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะไม่สบายตัว เข้า-ออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น

ปัญหาส่วนตัวกับคนรักก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสารพันปัญหาการงานที่รุมเร้าและเวลาว่างที่ไม่ค่อยมีให้กัน

แม้คนอ่านจะรู้จักคนรักของนายธีร์เพียงแค่ไม่กี่บท แต่ก็มากพอจะทำให้เรารู้สึกตามไปด้วยว่า คงเป็นเพราะวงจรชีวิตที่ต่างคนต่างต้องดิ้นรนทำงานในสังคมเมืองใหญ่นี่เองกระมัง ที่ทำให้เห็นว่ายิ่งห่างกันยิ่งเปราะบาง

“มันเกือบๆ เหมือนผมเป็นแฟนกับโทรศัพท์” การสื่อสารผ่านทางข้อความ เสียง แต่ไม่ค่อยได้พบเจอหน้ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็งานล้นมือและเหนื่อยเกินไปที่วันหยุดอยากออกไปไหน “เราเจอหน้ากันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่นะ” รวมทั้งคำสารภาพของนายธีร์ที่ว่า

“สารภาพตามตรง ที่จริงผมอยากแต่งงานนานแล้วถ้ามีเงิน แต่ชีวิตที่เป็นอยู่ผมหาได้แค่พอกินพอใช้ มีเหลือเก็บนิดหน่อย…อนาคตมีแต่ภาพชวนหวาดหวั่น ลำพังแค่ตัวเองยังไม่รู้ว่าจะดูแลให้ดีได้สักแค่ไหนเลย ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการดูแลเธอหรือมีลูกทั้งที่ก็ตั้งใจทำงานหามรุ่งหามค่ำ…” (หน้า 124-125)

ซึ่งทำให้เห็นว่านายธีร์กลัวและลนลานกับชีวิตไปหมด “ภาพอนาคต” ที่ยังไม่เกิด แต่ได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันที่เขากำลังใช้ชีวิตอยู่ เขากำลังตื่นกลัวและขาดกำลังใจ ที่สำคัญคนรักของเขาไม่สามารถเป็น Muse หรือเทพธิดาที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาได้ (นักเขียนจำเป็นต้องมี Muse เป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงาน) เธอเชื่อว่าสายป่านแห่งรักที่ขึงตรึงกำลังจะขาด

และในที่สุดเธอก็เลือกตัดขาดสายสัมพันธ์นั้นเอง

ภาวะนักเขียนจึงค่อยๆ เก็บสะสม และที่จริงก็เหมือนอย่างที่บาร์ตส์กล่าวไว้ว่า “โดยธรรมชาตินักเขียนย่อมต้องเขียนหนังสืออยู่เสมอไม่ว่าในสถานการณ์ใด”

เพียงแต่นายธีร์ “ทด” สิ่งเหล่านี้ไว้ในใจจากแรงบีบอัดที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน กระทั่งในที่สุดเขาเลือกหยุดตัวเอง โดยการเลือกลาออกจากงานที่เขาสารภาพว่า “แรงจูงใจในการทำงานของผมมีเพียงแค่เรื่องเงินเท่านั้น” และไม่ลืมว่าจะมีโอกาสมากแค่ไหนที่จะยึดงานเขียนเป็นอาชีพได้

เขาจึงยืนยันกับตัวเองและบอกกับคนอ่านว่า “นี่เป็นแค่ช่วงหยุดพักเท่านั้น” จากนั้นจึงลงมือเขียน “คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน” เรื่องนี้ออกมา

นั่นจึงเป็นวันหยุดพักร้อนอีกครั้งในชีวิตที่ “เนรมิตแรงบันดาลใจแก่นักเขียนโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” แม้จะเพียงชั่วครั้งชั่วคราว มิได้เบนเข็มออกมาปักหลักเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัว แต่ก็เป็นวันหยุดที่บันดาลใจให้ได้ทะลักทลายเรื่องราวส่วนตัว หน้าที่การงาน และความรักออกมาได้อย่างอัดแน่น

ราวกับเขียนงานเชิงอัตชีวประวัติของตัวเอง

ปัจจุบัน “อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์” ก็พยายามประสานทั้งสองสิ่งหลอมเข้าด้วย อย่างมิขาดตกบกพร่อง

ด้านหนึ่งยังคง (กลับมา) ทำงานประจำ

ส่วนอีกด้านเติมเต็มการอ่านการเขียนให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง (ก่อนหน้าที่จะมีนวนิยายเล่มนี้ อดิศรมีผลงานรวมเรื่องสั้นออกมาแล้วสองเล่มด้วยกันคือ “เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่น” กับ “อนาค” เรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์)

และที่สำคัญ ยังมีบทบาทหน้าที่เป็นหนึ่งในกรรมการของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและวิทยากรรับเชิญตามวาระต่างๆ ซึ่งหลายอย่างกำลังลงตัวและไปได้สวย

และเชื่อว่าคงอีกนานกว่าที่เราจะได้ยิน “คำสารภาพของมนุษย์เงินเดือน” คนนี้อีกเป็นเล่มที่สอง