บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /’โซเครตีส’ ก็มา ‘ผู้มากบารมี’ ก็ถูกแฉ ควันหลงเลือกตั้งหัวหน้า ปชป.

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘โซเครตีส’ ก็มา ‘ผู้มากบารมี’ ก็ถูกแฉ

ควันหลงเลือกตั้งหัวหน้า ปชป.

แรงสั่นสะเทือนจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 24 มีนาคมที่ผ่านมา ดูไปแล้วทำให้พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์มีอาการร้าวลึกปรากฏให้สาธารณชนเห็นมากที่สุด หลังจากพ่ายแพ้เลือกตั้งยับเยินเป็นประวัติการณ์ แม้แต่เซียนก็ยังคาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ เพราะได้เพียง 52 ที่นั่ง ด้วยคะแนน 3.9 ล้านเสียง หรือหายไป 100 กว่าที่นั่ง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าซึ่งยังมี 159 ที่นั่ง ด้วยคะแนน 11.43 ล้านเสียง

ความแตกร้าวรอบแรก เกิดจากการกล่าวโทษกันถึงสาเหตุที่ทำให้พ่ายแพ้ โดยฝ่ายหนึ่ง เช่น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลกเชื่อว่าเป็นเพราะยุทธศาสตร์ผิดพลาดของพรรคที่ออกคลิปแสดงจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ฝ่ายที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เช่น นายเชาว์ มีขวด รองโฆษก ปชป. ออกมาปกป้อง โดยซัด นพ.วรงค์อย่างดุเดือดว่าโยนบาปให้นายอภิสิทธิ์ พรรคมีหน้าที่รักษาอุดมการณ์ ไม่ใช่แค่เพียงชนะเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจ

พร้อมกับกล่าวหา นพ.วรงค์ว่าเนรคุณ และลำเลิกบุญคุณว่า นพ.วรงค์เกิดได้เพราะพรรคประชาธิปัตย์

 

การใช้คำพูดของนายเชาว์ มีขวด ออกจะน่าผิดหวัง ต่ำกว่ามาตรฐานของคน ปชป. เพราะการกล่าวหาคนที่เห็นต่างในพรรคว่าเนรคุณ กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา ไม่ใช่ลักษณะของนักประชาธิปไตย แต่เป็นคนที่อยู่ในระบบอุปถัมภ์ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายเพื่อปรับปรุงพรรค

อีกอย่างอย่าลืมว่าความผิดพลาดของคลิปไม่เอาประยุทธ์นั้น ทำให้ ส.ส.เขต 100 กว่าคนสอบตก ส่วนหัวหน้าพรรคและพวกปาร์ตี้ลิสต์อันดับต้นๆ ไม่เดือดร้อน เพราะยังได้เป็น ส.ส.

จะดีกว่านี้หากนายเชาว์จะตอบโต้ด้วยเหตุผล ด้วยหลักการล้วนๆ ซึ่งการชี้แจงตอนแรก อย่างเรื่องการรักษาอุดมการณ์ การไม่คิดแต่เรื่องชนะเลือกตั้ง ก็ดีอยู่แล้ว ควรจะจบแค่นั้น แต่ดันมาเสียหายหนักในตอนท้ายเมื่อมีการลำเลิกบุญคุณ ราวกับว่าสมาชิกพรรคเป็นทาสหรือเป็นหนี้บุญคุณหัวหน้าพรรค ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ทำให้ ปชป.ไม่ต่างจากพรรคฝ่ายตรงข้าม ที่ ปชป.วิจารณ์มาโดยตลอด

อันที่จริง เหตุผลของ น.พ.วรงค์ ไม่ได้ผิดเสียทีเดียวเมื่อมองจากสายตาคนภายนอก ดังนั้น หากสมาชิก ปชป.ใจกว้างก็ต้องรับฟัง แต่ก็ดูเหมือนว่า จนถึงทุกวันนี้ บางคนใน ปชป.ก็ยังใช้ตรรกะผิดๆ และอ่อนคณิตศาสตร์ เกี่ยวกับสาเหตุการแพ้เลือกตั้ง

คือไม่ยอมรับว่าแพ้เพราะการประกาศไม่เอาประยุทธ์

 

ปชป.บางคนยังดึงดันว่า การประกาศไม่เอาประยุทธ์และไม่เอาพรรคที่ทุจริต (พรรคเครือข่ายทักษิณ) เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว เพราะนี่คือความต้องการของฐานเสียงประชาธิปัตย์

ถ้ายุทธศาสตร์นี้ถูกต้อง อย่างน้อย ปชป.ควรได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าเดิมคือ 11.43 ล้านเสียง และถ้าคิดว่าเจ๋งกว่านั้นก็ต้องได้มากกว่า 11.4 ล้านเสียง แต่นี่กลายเป็นว่าหายไป 7.5 ล้านเสียง เหลือเพียง 3.9 ล้านเสียง

จำนวน 7.5 ล้านเสียงที่หายไปนั้น มองอนาคตทะลุมากกว่าเซียนการเมืองอย่าง ปชป. เพราะเห็นแนวโน้มจากโพลแล้วว่า ถึงอย่างไร ปชป.ไม่มีทางได้ที่ 1 ในขณะที่เพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแน่นอน ส่วนความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นอันดับ 1 ตลอด

เชื่อได้ว่า 7.5 ล้านเสียงนั้น กลัวระบอบทักษิณจะคืนชีพ จึงอยากมอบภารกิจปราบทักษิณให้ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องเผด็จการหรือไม่เผด็จการเอาไว้ทีหลัง เพราะนี่เป็นสถานการณ์พิเศษ อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

 

ความร้าวรอบที่สองหนักกว่าเดิม เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมพรรค พปชร.เพื่อตั้งรัฐบาลหรือไม่ เนื่องจากขั้ว พปชร.จำเป็นต้องอาศัยเสียงจาก ปชป.และพรรคขนาดกลางอื่นๆ ที่อยู่ตรงข้ามขั้วทักษิณ จัดตั้งรัฐบาลเพื่อไม่ให้เสียงปริ่มน้ำมากเกินไป

อย่างที่ทราบกัน ความเห็นของ ปชป.ยังแบ่งเป็นสองซีก ทั้งที่อยากให้ร่วมและไม่ให้ร่วม พปชร. ฝ่ายที่ไม่อยากให้ร่วม อ้างเหตุผลเดิมคือไม่สนับสนุนเผด็จการ และอ้างว่าต้องเคารพ 3.9 ล้านเสียงที่เลือกมา ซึ่งอันนี้ก็เป็นตรรกะที่แปลก เพราะเลือกจะเคารพ 3.9 ล้านเสียง แต่ไม่เคารพ 7.5 ล้านเสียงที่หายไป

สำหรับนายอภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรคยังย้ำคำเดิมคือไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหากติดตามความเห็นทางโซเชียลมีเดียและตามช่องทางสื่อต่างๆ จะพบว่ามีไม่น้อยที่หมั่นไส้นายอภิสิทธิ์ บางคนก็กล่าวหาว่าไม่เห็นแก่ประเทศชาติ ไม่สนใจว่าจะมีรัฐบาลบริหารประเทศได้หรือไม่ และเล่นตัวเพราะยังหวังส้มหล่นเป็นนายกฯ

อย่างไรก็ตาม การยืนหยัดของนายอภิสิทธิ์เป็นไฟต์บังคับ เพราะจำเป็นต้องรักษาและถนอมภาพพจน์ในระยะยาว ไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเผด็จการ และสมมุติว่าในครั้งนี้พรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร. เขาก็จะอ้างได้ว่า ตัวเองได้แสดงจุดยืนชัดเจนแล้ว แต่ไม่อาจฝืนมติพรรคได้ เป็นเรื่องของมติพรรค ไม่เกี่ยวกับตัวเขา

 

หลังได้ผู้ชนะหัวหน้าพรรคคนใหม่คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประเด็นใหญ่ที่ ปชป.ถูกถามรายวันก็คือ จะเข้าร่วม พปชร.หรือไม่ แถมยังมีควันหลงตามมาจากศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรค

ควันหลงแรก เป็นโพสต์ของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง และอดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย แต่ครั้งนี้นายนิพิฏฐ์สอบตกเป็นครั้งแรก พ่ายแพ้ให้กับพรรคภูมิใจไทย

โพสต์ของนายนิพิฏฐ์ยกเอาปรัชญาของโซเครตีส นักปรัชญาชาวกรีกผู้ยิ่งใหญ่ มาแสดงไว้ 3 ประการ คือ “ใช้ชีวิตตามคำแนะนำของผู้รู้เพียงคนเดียว ดีกว่าใช้ชีวิตตามคำแนะนำของมหาชน” / ” รักษาอาการป่วยตามคำแนะนำของแพทย์เพียงคนเดียว ดีกว่ารักษาตามคำแนะนำของผู้มาเยี่ยมหลายคน” และ “เล่นกีฬาตามคำแนะนำของโค้ชเพียงคนเดียว ดีกว่าเล่นตามเสียงตะโกนของผู้อยู่ข้างสนาม”

เข้าใจว่านายนิพิฏฐ์น่าจะอยู่ฝั่งไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่อยากให้พรรคฟังเสียงตะโกนจากคนข้างนอกให้ไปร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์แสบๆ คันๆ ในโลกออนไลน์ตามมา เช่น “เล่นคนเดียวก็อยู่กับความฝันคนเดียว สุดท้ายก็คงสูญพันธุ์ไปพรรคเดียว ในเมื่อโลกนี้เราไม่ได้อยู่คนเดียว” / “มันแย่ตรงที่ตอนเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องการคะแนนเสียงจากมหาชน ไม่ใช่แค่หนึ่งเสียงของผู้รู้นี่สิครับ ได้คิดหรือยังคุณนิพิฏฐ์” / “ก็คงเพราะผู้รู้คนเดียวออกมาพูดไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เลยพาพรรคพังยับเยินใช่ไหม”

บางทีนายนิพิฏฐ์อาจยกเอาโซเครตีส มาผิดจังหวะ ผิดสถานการณ์ เพราะพรรคการเมืองนั้นต้องอยู่กับการเลือกตั้งจากประชาชน จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับมหาชน ถ้าเลือกตั้งครั้งต่อไป ดันไปหาเสียงว่าไม่สน ไม่แคร์มหาชน คงพิลึกน่าดู

อีกเพียง 1 วันถัดมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หนึ่งในผู้ชิงหัวหน้าพรรค แต่ได้คะแนนอันดับสอง แพ้นายจุรินทร์ไปเพียง 5 คะแนน ได้โพสต์ระบายความในใจและแฉตัวตนของ “ผู้มากบารมี” ในพรรคบางคน

นายพีระพันธุ์ซึ่งแสดงท่าทีชัดว่าต้องการเข้าร่วม พปชร. ระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า ตลอด 6 วันที่หาเสียง ได้เห็น ได้เรียนรู้อะไรต่ออะไรเพิ่มขึ้นหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของหลายๆ คน

“ผมเพิ่งจะประจักษ์ด้วยตัวเองว่าผู้ใหญ่บางคนที่ผมเคยเคารพนับถือมาเกือบ 30 ปี ที่ผมเคยเชื่อว่าดี แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงภาพลวงตา ใครไม่ยอมอยู่ในอาณัติ จะถูกผู้มีบารมีวาดภาพให้เป็นคนไม่ดี บารมีมากล้นที่ควรจะวางตัวเป็นกลางเพื่อสร้างเอกภาพ กลายเป็นตัวตอกลิ่มให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น”

นับเป็นโพสต์การเมืองที่ฮือฮาเด็ดสุดของปีทีเดียว เพราะเล่นปลิ้นไส้ผู้มากบารมีเป็นครั้งแรก ชนิดแผ่นดินไหวสะท้านสะเทือนไปทั้งพรรค