84 สนช.เปิดอีก “แนวรบ” แก้ พ.ร.บ.สงฆ์ กระทบชิ่ง “ธรรมกาย” สะเทือน “สมเด็จช่วง”

ขณะที่ดีเอสไอ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เดินหน้าเอาผิดพระธัมมชโย และพระที่เกี่ยวข้องกับการปกครองดูแลวัดพระธรรมกาย อย่างต่อเนื่อง

มีความเคลื่อนไหวใหญ่ แต่เงียบสนิท ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เมื่อ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. เพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 ในมาตรา 7

โดยแก้ไขว่า “การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ให้เป็นพระราชอำนาจ”

ส่วนเรื่องเงื่อนไขอื่นๆ คือ ลำดับอาวุโสโดยสมณศักดิ์ให้ตัดออก

ดูเหมือนว่า ทั้งธรรมกายและ พ.ร.บ.สงฆ์ จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน

แต่ต้องไม่ลืมว่า มหาเถรสมาคม มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 เสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หรือ “สมเด็จช่วง” เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในฐานะสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ

มีความเคลื่อนไหว ทั้งในภาคการเมือง นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน คัดค้านการเสนอชื่อ “สมเด็จช่วง”

โดยอ้างถึงเหตุผลถูกร้องเรียนครอบครองรถโบราณที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

และยังมีการหยิบแง่ทางกฎหมายมาคัดค้านโดยเฉพาะปมที่ว่า มส. ไม่มีสิทธิเสนอชื่อ ต้องให้นายกรัฐมนตรีเสนอก่อน

และที่สำคัญ มีความพยายามเชื่อมโยงว่า สมเด็จช่วง มีสัมพันธ์แนบแน่นกับวัดพระธรรมกาย

หากสมเด็จช่วงขึ้นสังฆราช อาจเอื้อประโยชน์ให้กับวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย ที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนว่ากระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองมากมาย และยังมีผิดพระธรรมวินัยถึงขั้นปาราชิก

กระแสโหมกระหน่ำโจมตีสมเด็จช่วงและวัดพระธรรมกายจึงสอดประสานกันแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน

 

เมื่อพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ถูกล้อมกรอบด้วยฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองอย่างหนักหน่วง

ซึ่งแม้จะมีความพยายามขัดขืนด้วยการนำมวลชนมาป้องกันอย่างเหนียวแน่น จนการดำเนินการตามกฎหมายโดยเฉพาะการเรียกร้องให้พระธัมมชโยออกมามอบตัว ไม่มีความคืบหน้า

แต่ดีเอสไอและตำรวจก็ไม่ละความพยายาม ยังคงดำเนินการกดดันวัดและพระอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ การ “รุก” ทางการเมือง จากอีกด้านก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

ตามการเปิดเผยของ นพ.เจตน์ ศิรธรานท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ประชุมวิปได้พิจารณาเรื่องที่สมาชิก สนช. จำนวน 84 คนเข้าชื่อ เพี่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

นำเสนอโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ หลังจากอ้างว่าได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

โดยขอให้แก้ไข เป็นว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

จากเดิม มีข้อความในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.สงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

การแก้ไขดังกล่าว ถือเป็นการตัดขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคมออกไป

โดยคณะกรรมาธิการให้เหตุผลการเสนอแก้ไขดังกล่าวได้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว และเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา รวมถึงกลับไปใช้ความเดิมตามโบราณราชประเพณี ที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ตามขั้นตอน ที่วิป สนช. วางไว้ก็คือ ร่าง พ.ร.บ. นี้จะเสนอเข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ และจากการประสานงานไปยังรัฐบาล ทาง ครม. จะส่ง นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับเรื่องไปศึกษา ซึ่งจะส่งเรื่องกลับมาให้ทาง สนช. เมื่อไหร่อย่างไรขึ้นอยู่ทางคณะรัฐมนตรี แต่คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ได้ภายหลังปีใหม่ ซึ่งถือว่าไม่นาน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ออกตัวว่า “ผมยังไม่รู้อะไรเลยในเรื่องนี้”

 

แหล่งข่าวระบุว่า เรื่องนี้มีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม แต่ไม่ต้องการให้มีการเผยแพร่ออกไป

เพราะเกรงว่าจะมีแรงต่อต้าน และมีการคาดว่าอาจจะมีการผลักดันให้ผ่าน 3 วาระรวด

ที่ต้องช่วงชิงทำ ก็เนื่องจากขณะนี้วัดพระธรรมกาย ที่เป็นแนวร่วมสำคัญกำลังถูกจัดการตามกฎหมาย

ขณะที่สมเด็จช่วง เพิ่งผ่านการอาพาธ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ด้วยอาการลำไส้เล็กตีบตันจากเยื่อพังผืดในช่องท้อง คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยการผ่าตัด แม้ขณะนี้อาการโดยรวมดีขึ้น แต่สมเด็จช่วงก็ไม่ได้ออกงานมากนักเพราะมีอายุมากแล้ว ขณะที่ปัญหาเรื่องรถโบราณก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมาว่าผิดหรือถูก

ภาวะอ่อนแอ และถูกล้อมกระหน่ำนี้เอง จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสม ที่ฝ่ายต้านสมเด็จช่วงและวัดพระธรรมกาย จะออกมาเปิดเกมรุก

รุกเพื่อถอนรากถอนโคนไปในคราวเดียวกัน

แต่ไม่รู้ว่าจะราบรื่นหรือไม่

เนื่องจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่ไม่น้อยเพราะเห็นว่าไปละเมิดมหาเถรสมาคมโดยตรง และทำให้สมเด็จช่วงอาจต้องพลาดจากตำแหน่งสังฆราช

โดยเฉพาะศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา นำโดยพระเมธีธรรมาจารย์ ประกาศอย่างทันทีว่า ฝ่ายที่ดำเนินการเรื่องนี้ จะต้องพบกับองค์กรพุทธและคณะสงฆ์จำนวนมากมาย ที่จะออกมาคัดค้าน

ถือเป็นเรื่องร้อนที่แสนละเอียดอ่อนส่งท้ายปี

และจะเป็นระเบิดเวลาต้อนรับปีระกาอันน่าระทึกใจของวงการพุทธศาสนา!