ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘ยุคมืด’ ของประวัติศาสตร์ไทย?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ประวัติศาสตร์ทุกชาติทุกภาษาต่างมี “ยุคมืด” คือกลียุคที่วุ่นวายสับสน คนตายเป็นเบือ บ้านเมืองร้าง (แต่ละชาติอาจจะมีมากกว่า 1 ครั้ง) แต่ในขณะเดียวกัน “ยุคมืด” นั้นมักจะเป็น “ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่ก่อกำเนิดสังคมและวัฒนธรรมใหม่”

ย่อหน้าข้างต้น ผมคัดมาจากบทความเรื่อง “ยุคมืด” หรือช่องว่างในประวัติศาสตร์สยาม ของ คุณไมเคิล ไรท หรือ “คุณไมค์” ฝรั่งคลั่งสยามผู้ล่วงลับ ซึ่งก็เป็นย่อหน้าแรกของบทความดังกล่าว เช่นเดียวกับที่เป็นย่อหน้าแรกของข้อเขียนชิ้นนี้ โดยคุณไมค์ได้อธิบายต่อไปด้วยว่า

“ในอุษาคเนย์ (และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสยาม) “ยุคมืด” มีระยะเวลาสั้นกว่ากัน (คือเทียบกับยุคมืดในยุโรป) ผมกะว่าเพียง 150 ปี (ราว ค.ศ.1200-1350) แต่มันเป็นยุคมืดเกือบสนิท ในระยะเวลาดังกล่าววัฒนธรรมโบราณ (เช่น “ทวารวดี” และ “ศรีวิชัย”) หายไปจากจอทีวีของเราและเมืองประธาน (เช่น “อังกอร์” และ “พุกาม”) ต่างเสื่อมอำนาจ แต่เราไม่ทราบว่าทำไม เพราะไม่มีเอกสารรองรับ”

ช่วง ค.ศ.1200-1350 แปลงให้เป็นพุทธศักราช ก็จะตรงกับช่วงที่ตัวเลขกลมๆ ประมาณ พ.ศ.1750-1900 ตรงกับช่วงที่จักรวรรดิขอม และพุกาม กำลังจะเสื่อมอำนาจ รัฐเล็กๆ ที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นสำคัญ ในยุคต่อมา อย่าง สุโขทัย อยุธยา กำลังเริ่มตั้งไข่

ซึ่งก็เป็นช่วงตรงนี้แหละครับ ที่คุณไมค์เรียกว่าเป็น “ยุคมืด”

(ดังนั้น ใครที่อยากจะอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์-โบราณคดี ก็สบายใจได้นะครับ เพราะผมกำลังจะพูดถึงเรื่องในอดีต ไม่ใช่เรื่องในปัจจุบัน)

และก็เป็นอย่างที่คุณไมค์บอกว่า ช่วงนี้ไม่มีเอกสารรองรับ อะไรต่างๆ นานาในทางประวัติศาสตร์จึงดูมืดมนไปเสียหมด แต่ระดับคุณไมค์แล้ว แค่ไม่มีเอกสารทางตรง ก็หันไปใช้หลักฐานร่องรอยข้างเคียง และทางอ้อมก็ได้

คุณไมค์พากเพียรใช้เวลาอธิบายว่าช่วงเวลายุคมืด ในประวัติศาสตร์ไทยนั้น ที่จริงแล้วมันควรจะมีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง? ด้วยการเขียนบทความตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ฉบับประจำเดือนกันยายน ปี 2549 ไปจนถึงฉบับประจำเดือนมกราคม ปี 2550 รวมทั้งสิ้น 5 ตอนพอดิบพอดี

ในบทความตอนแรก คุณไมค์ปูข้อมูลพื้นฐานให้เราทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า ก่อนถึงยุคมืด (ก่อน พ.ศ.1750) มีอะไรในประวัติศาสตร์ช่วงนั้น?

และหลังจากผ่านพ้นยุคมืด (พ.ศ.1900 เป็นต้นมา) มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนยุคมืดบ้าง?

สรุปง่ายๆ ได้ใจความเลยว่า ช่วงก่อนยุคมืดลักษณะการปกครองของรัฐ, อาณาจักร และจักรวรรดิ ในอุษาคเนย์สัมพันธ์กับทางศาสนาฮินดู (และ/หรือพุทธศาสนาแบบมหายานกับตันตระยาน) ในขณะที่เมื่อผ่านพ้นยุคมืดมาแล้ว รัฐ และอาณาจักรต่างๆ กลับพร้อมใจกันหันไปนับถือพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกา

คุณไมค์จึงตั้งคำถามลงไปอย่างตรงประเด็นเลยว่า หรือว่าที่ยุคนี้มืดมนเป็นเพราะว่าเกิดสงครามศาสนา? (แต่ศาสนาที่คุณไมค์หมายถึง เป็นศาสนาการเมือง มากกว่าที่จะหมายถึงตัวของศาสนาเองเพียวๆ)

คำถามของคุณไมค์ควรค่าแก่การครุ่นคิด เพราะร่องรอยหลักฐานในช่วงเวลาดังกล่าวก็เต็มไปด้วย การทำลายศาสนวัตถุของฝ่ายที่ต่างศาสนา โดยเฉพาะในโลกของชนที่พูดภาษาเขมร ซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานการสกัดพระพุทธรูปที่สลักตามพื้นผนังปราสาททิ้ง

บ้างก็แปลงพระพุทธรูปเป็นศิวลึงค์ด้วยการสกัดพระเศียร พระกร และพระชงค์ทิ้งให้เหลือแต่พระวรกาย (ลำตัว)

บ้างก็แปลงลายพระพุทธรูปให้เป็นรูปฤๅษีแทน

แถมนี่ยังไม่นับรวมอีกหลายกรณีในทำนองเดียวกันที่มีให้เห็นอีกเพียบตัวอย่าง

โดยคุณไมค์ชี้ให้เห็นว่า เราจะพิจารณาเฉพาะข้อมูลฟากเขมรอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูข้อมูลจากลังกา มอญ พม่า และหมายรวมไปถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาไทย-ลาว มาประกอบอีกด้วย เรื่องจึงได้ดำเนินต่อไปยังบทความตอนที่ 2

ในบทความตอนต่อนี้ คุณไมค์พาเราไปเยี่ยมชมเกาะลังกา ที่กำลังอยู่ในยุควุ่นวายจากการรณรงค์สงครามในช่วงเดียวกับยุคมืดของอุษาคเนย์

นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างประวัติทางการเมืองของพุทธศาสนาในอินเดีย กับลังกา ที่ชี้ให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างศาสนาพุทธ กับระบอบการปกครองของลังกาเป็นอย่างมากแล้ว บทความตอนนี้ยังวิพากษ์ถึงประวัติการปกครองของรัฐในอุษาคเนย์ ก่อนการเข้ามามีบทบาทของพุทธศาสนาลังกาวงศ์อีกด้วย

เมื่อปูพื้นกันมาข้นคลั่กถึงสองตอนแล้ว คุณไมค์จึงค่อยนำหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาโชว์ให้เห็นกันในบทความตอนที่ 3 แต่ก็อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ที่เรียกว่า “ยุคมืด” เป็นเพราะไม่มีเอกสารรองรับ เอกสารที่ว่าหมายถึงเอกสารในไทย และในกัมพูชาเอง

แต่เอกสารจากที่อื่นน่ะมีพอที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวได้อย่างคาดไม่ถึง

คุณไมค์ใช้ทั้งพงศาวดารของลังกาที่ชื่อ “จุลวงศ์” กับศิลาจารึกที่พบบนเกาะลังกาเช่นกัน เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อย่างดูดดื่มระหว่างลังกาทวีป กับรามัญประเทศหรือเมืองมอญ ในช่วงตัวเลขกลมๆ ระหว่าง พ.ศ.1600-1700 ต้นๆ แต่รอยร้าวระหว่างคู่รักทั้งสองนี้ก็มีให้เห็นจนได้ จากการขัดแย้งทางการทูตและการค้าช้าง เมื่อราว พ.ศ.1708 โดยมีชื่อกัมโพชประเทศ คือกัมพูชา ปรากฏอยู่ด้วยในฐานะชู้รักมือที่สาม

ผลก็คือฝ่ายมอญยกเลิกประเพณียกช้าง 1 เชือกพร้อมเรือบรรณาการฟรีๆ ให้ลังกา แถมยังขึ้นราคาช้างจากร้อยหรือพันบาท เป็นสองหรือสามพันบาท

แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือฝ่ายมอญจับกรุงราชทูตลังกา และพระราชธิดาที่พระเจ้ากรุงลังกาส่งไปยังกัมโพชเทศ

ผลก็คือพระเจ้าปรักกรมพาหุที่ 1 แห่งลังกา ได้แต่งทัพเรือไปสั่งสอนพวกมอญถึงที่ จนประหารกษัตริย์มอญได้ “ทันใดนั้นชาวรามัญ (ซึ่งก็คือมอญนั่นแหละ) ได้สติจึงรีบส่งสมณฑูตไปเจรจากับพระสงฆ์ในลังกา สองเมืองจึงกลับมาดีกันในไม่ช้า” ทั้งหมดนี้คือหลักฐานข้างลังกา

จารึกเกี่ยวกับประวัติพุทธศาสนาหลักสำคัญของมอญ ที่สร้างขึ้นในกรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ.2017 ที่ชื่อ “จารึกกัลยาณี” อ้างว่า หลังสงครามลังกา-รามัญ ไม่นานนัก พระราชครูมอญนำสานุศิษย์จำนวนหนึ่งไปลังกา หนึ่งในนั้นคือพระฉปฎะ ที่สึกแล้วบวชอีกครั้งในลังกาแล้วอยู่ต่อจนครบ 10 พรรษา จนได้วุฒิเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วกลับเมืองมอญพร้อมสหายพระสงฆ์อีก 4 รูป ซึ่งมาจากดินแดนต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ พระตามลินทะราชกุมารกัมโพช หรือท่านจะมาจากกัมพูชา?

บางท่านว่า ท่านฉปฎะไปลังกาเมื่อปี พ.ศ.1713-1723 อันเป็นช่วงยุคคาบเกี่ยวกับที่ เมืองพระนคร ของกัมพูชาถูกทัพจามปาตีแตก บางท่านก็ว่าเป็นช่วง พ.ศ.1723-1733 ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชย์ แล้วสร้างพระนครหลวง (นครธม) มากกว่า คุณไมค์จึงบอกกับเราว่า เป็นเรื่องยากที่จะเดาได้ว่า “พระราชกุมารกัมโพช” ที่กลับมาพร้อมท่านฉปฎะนี้คือใคร?

อย่างไรก็ตาม จิ๊กซอว์เหล่านี้ก็ทำให้เราเห็นถึงการเข้ามาของพุทธศาสนา ลังกาวงศ์ในช่วงก่อนยุคมืดมากกว่าที่เคยมา

หลังจากที่นำเสนอข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว บทความตอนที่ 4 คุณไมค์ได้นำหลักฐานประเภทโบราณวัตถุสถานมาเทียบเคียงให้เราเห็นบ้าง ทั้งจากที่เกาะลังกา และในเมืองนครธมของเขมร

ในเกาะลังกาคุณไมค์ชี้ให้เราเห็นว่า โบราณสถาน Pot-gul Vihara ที่คนไทยนิยมเรียกว่า คัลวิหาร มีระเบียบแผนผังไม่เหมือนที่นิยมสร้างในลังกาเลย แต่เหมือนแผนผังปราสาทของขอม

แถมท่านยังบอกอีกด้วยว่า รูปสลักบนชะโงกหินที่คัลวิหาร ซึ่งปราชญ์ลังกาลงความเห็นว่าคือรูปพระเจ้าปรักกรมพาหุที่ 1 (ผู้ทรงสั่งให้แต่งทัพเรือไปตีมอญ) อาจจะเป็นรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างนครธมมากกว่า (และต่อให้ไม่ใช่พระองค์ คุณไมค์ก็พยายามเสนอให้เห็นถึงสุนทรียรสแบบขอมบนรูปสลักนี้)

ส่วนในเมืองนครธม คุณไมค์ได้พาเราไปชมรูปสลักพุทธประวัติแบบเถรวาท และสถูปแบบลังกาที่กลางปราสาทพระขรรค์ ซึ่งท่านเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 โอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ร่วมกับโอรสอีกองค์หนึ่งที่บวชเรียนจากลังกา เพื่อชี้ให้เห็นถึงร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างลังกา ขอม และพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ในช่วงยุคมืด

แต่บทความทั้ง 4 ตอนนี้เป็นเพียงการปูเรื่องเข้ามาสู่ตอนที่ 5 ซึ่งเป็นตอนจบเท่านั้น

บทความในตอนที่ 5 คุณไมค์นำหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เทียบเคียงกับร่องรอยฝ่ายไทย จากศิลาจารึกหลักที่ 2 ที่ได้จากวัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย

จารึกหลักนี้เมื่อโบราณท่านร่ำลือกันว่าอ่านยากนัก แต่ที่อ่านไม่เข้าใจกันนั้นเป็นเพราะเราไม่รู้จักข้อมูลของลังกา มอญและแม้กระทั่งขอมดีพอ

เพราะเมื่ออ่านจารึกหลักนี้ผ่านข้อมูลของคุณไมค์แล้ว ก็ชวนให้อ่านง่าย สบายมากอย่างน่าประหลาด แต่ผมคงไม่เล่าต่อนะครับ เฉลยตอนจบ เดี๋ยวไปอ่านคุณไมค์แล้วไม่สนุกเอา เหมือนมีคนมาสปอยล์หนัง

เอาเป็นว่าไม่ว่าคุณจะเชื่อสิ่งที่คุณไมค์เสนอหรือไม่ก็ตาม บทความชุดนี้ก็มีอะไรมากหลายที่ชวนให้ฉุกคิด และตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ไทยเพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างยิ่ง