พ.ศ.2559 ปีแห่ง“รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า” ส.นักข่าวฯ ชี้ ยังคงถูกคุกคาม-แทรกแซงต่อเนื่อง

AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

(30 ธ.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีรายงานสถานการณ์สื่อมวลชน ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า” ความว่า

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สรุปภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 พบว่า ยังคงตกอยู่ในภาวะ “อึมครึม หวาดระแวง” อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของประกาศ คำสั่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตลอดจนท่าทีและทัศนคติของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชน

ขณะเดียวกัน รัฐก็มีความมุ่งหมายที่จะออกกฎหมายควบคุมและแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง ถึงขั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เข้าไปแทรกแซงอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกคำสั่งให้ขยายเวลาชำระค่าประมูลสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลออกไปและขยายอายุการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่วงการสื่อมวลชนกำลังเผชิญหน้ากับการปรับตัว รีดไขมันองค์กรของตัวเอง อันมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ และในปี 2559 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ถือเป็นความสูญเสียและความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงที่สุดของปวงชนชาวไทยรวมถึงวงการสื่อสารมวลชน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอยกสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 ให้เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า” โดยขอประมวลภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปีในด้านต่างๆ ดังนี้

000_h5296-1
AFP

ความวิปโยคและความสูญเสีย

นับได้ว่าปี 2559 เป็นปีแห่งความ “ซึมเศร้า”ของคนในวงการสื่อสารมวลชน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ในวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้รวมพลคนในวงการจัดงานอาลัยและระลึกถึงในชื่องาน “รวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯ แสดงความอาลัยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวงการสื่อมวลชนไทยมาอย่างยาวนาน

ในวาระดังกล่าว กสทช.โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้ถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติของสำนักพระราชวังโดยเคร่งครัด โดยการถ่ายทอดเสียงหรือภาพเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้เชื่อมโยงสัญญาณโดยตรงจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและสถานี วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มิให้นำเอาภาพและเสียงไปออกอากาศซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและการเผยแพร่รายการต่างๆของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ให้งดรายการที่แสดงถึงความรื่นเริงเป็นเวลา 30 วัน โดยขอให้คำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

Members of the Thai National Reform Council (NRC) meet to vote for the draft of the new constitution at Parliament in Bangkok on September 6, 2015. A junta-appointed reform council rejected a new constitution aimed at steering Thailand out off its political turmoil, a move likely to extend the military's time in power and delay elections.  AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ข้อกังขาการปฏิรูปสื่อภายใต้ สนช.และ สปท.

ด้วยรัฐพยายามเข้ามาแทรกแซง ควบคุมสื่อในทุกรูปแบบ โดยการอ้างถึงการปฏิรูปสื่อ ล่าสุด คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยพบว่าได้มีแนวทางที่จะเปิดประตูให้นักการเมือง ข้าราชการ สามารถใช้อำนาจแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของนักข่าวมืออาชีพ ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยให้มีปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติโดยตำแหน่งและยังเปิดช่องให้กรรมการอื่นอีก 4 คนที่จะเป็นใครก็ได้ถูกอำนาจรัฐเลือกเข้ามา

เท่ากับคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน จะเป็นผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพแค่ 5 คน กรรมการที่เหลืออีก 8 คน เท่ากับยืนอยู่ฝ่ายรัฐ มีอำนาจชี้ขาดให้ออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงในประเทศไทย เป็นการคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศจุดยืนขอคัดค้านทุกรูปแบบให้ถึงที่สุดต่อแนวคิดดังกล่าวของสปท.โดยไม่เอาตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการในองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่และไม่ยอมรับให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่สมควรมีกติกาที่บังคับกลไกให้องค์กรสื่อกำกับดูแลกันเอง ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ “6 องค์กรสื่อวิชาชีพสื่อมวลชน” เสนอร่างประกบ กับร่างของ กมธ.เพื่อให้สมกับที่เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน เป็นนักข่าวมืออาชีพนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคม ตามกรอบจริยธรรมสื่อมวลชน คอยเป็นหูเป็นตาตรวจสอบประเด็นสาธารณะ ให้ผลประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชน

ร่างกฎหมายอันมีลักษณะควบคุม บังคับสื่อ ยังมีการดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติ (สนช.) คู่ขนานกันไปอีกฉบับหนึ่งด้วย ทั้งนี้ยังไม่นับรวมร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ที่ออกแบบตีกรอบสภาพบังคับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องจดทะเบียนเป็นสมาชิกองค์กรสภาวิชาชีพก่อนขอใบอนุญาตเปิดหัวหนังสือ และหัวหน้า คสช.ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแทรกแซงอำนาจ กสทช.ออกคำสั่งให้ขยายเวลาการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปสื่อล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะดึงคลื่นกลับไปเป็นของรัฐเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นคลื่นของสาธารณะอีก จึงขอยกให้ปี 2559 เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก” เพื่อควบคุมสื่อ

จากสถานการณ์การปฏิรูปสื่อ ที่รัฐพยายามออกแบบกฎหมายหลายฉบับ เพื่อใช้กลไกอำนาจควบคุม แทรกแซง คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนและยังมีการใช้อำนาจกำกับสื่อมวลชน ขณะที่สื่อมวลชนเองก็ยังนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรมสื่อในหลายกรณี เปิดช่องให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างในความพยายามเข้าควบคุม

ถึงเวลาแล้วที่องค์กรสื่อมวลชนและคนในวงการสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องรีบเร่งปรับตัว เพื่อฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดต่อสาธารณะและให้สังคมเกิดความหวัง แม้ว่าในยุคอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบันนี้ จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จนสถานประกอบการสื่อหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ทำให้คนในวงการเกิดสภาพ “สื่อซึมเศร้า”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอส่งกำลังใจในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้คนในวงการข่าวรวบรวมพลังฝ่าวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้พร้อมๆ กัน