ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : กว่าจะเป็นซานตาคลอส

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ชายชรา พ่วงตำแหน่งยาจกคนหนึ่งมีลูกสาวแสนงามอยู่สามนาง ปัญหาที่สุมอยู่ในใจชายคนนั้นก็คือ เขาเป็นห่วงลูกสาวทั้งสามว่า หากเขาตายไปแล้วจะมีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร?

ครั้นจะให้ออกเรือนไป ชายคนนี้ก็ยากจนเสียจนไม่มีเงินจะให้ลูกทั้งสามได้แต่งงาน

สุดท้ายเรื่องไปถึงหูนักบุญนิโคลัส แห่งไมรา (Saint Nicolas of Myra, ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี) จนทำให้วันหนึ่งในยามที่อาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว นักบุญท่านเลยแอบโยนถุงที่บรรจุไว้ด้วยลูกบอลทองคำสามถุงเข้าไปในบ้านของชายยากจนผู้นั้น และถุงเจ้ากรรมก็ดันไปแลนดิ้งลงในถุงเท้าของสาวๆ ทั้งสามนาง ที่นำไปตากไปอยู่ที่เตาผิงภายในบ้านอย่างพอดิบพอดี

ด้วยทานที่นักบุญท่านโปรยมาให้ ตำนานเรื่องจึงได้จบลงอย่างแฮปปี้เป็นที่สุด เพราะลูกสาวแสนสวยทั้งสามนางของชายยากจนนั้นจึงได้ออกเหย้าออกเรือนกันทุกคน

และก็ทำให้เกิดประเพณีการแขวนถุงเท้าไว้ในคืนคริสต์มาสอีฟ

rfhrhhhr

ในปัจจุบันชาวคริสต์จำนวนมากจึงถือกันว่า ท่านนักบุญนิโคลัส นี่แหละครับ ที่เป็นตัวจริงของคุณลุงพุงพลุ้ย หนวดเคราเฟิ้ม ในชุดสีแดงเพลิง ที่มาพร้อมกับรถเลื่อนเทียมด้วยกวางเรนเดียร์ และถุงของขวัญใบเบ้อเริ่มเทิ่มคนนั้น ที่ใครต่อใครในสมัยนี้ก็ต่างรู้จักดีในชื่อของ ซานตาคลอส

แน่นอนว่า นิทานแทบทุกเรื่องมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นิทานเรื่องนี้ก็เช่นกัน คำออกตัวว่าเรื่องมันนานแสนนาน (จนไม่ต้องไปรับผิดชอบมันว่า มันนานมากขนาดไหน) อย่างนี้ทำให้เรื่องราวบ้างก็ถูกแต่งเติม บ้างก็ถูกลดทอน หรือตัดทิ้ง จนนิทานแต่ละเรื่องมักจะมีหลายสำนวน

นิทานเรื่องของยาจกชรา กับนักบุญนิโคลาสเรื่องข้างต้นก็หนีไม่พ้นธรรมชาติของนิทาน หรือเรื่องเล่าปากต่อปากอย่างนี้เหมือนกันนะครับ บางสำนวนก็เล่าเรื่องเสียจนรันทดยิ่งกว่าว่า ที่นักบุญท่านต้องไปทำทานให้นั้นเป็นเพราะว่า ชายเฒ่าคนนี้ยากจนเสียจนจำใจจะต้องขายลูกสาวแสนงามทั้งสาม ให้ไปเป็นหญิงงามเมืองเลยต่างหาก

แต่นิทานก็คือนิทานนะครับ ถึงแม้จะมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่พอจะทำให้ระบุได้ว่า นักบุญนิโคลัสท่านจะมีตัวตนอยู่จริง ในจักรวรรดิไบแซนไทน์ เมื่อราว พ.ศ.813-886

แต่นี่ก็เป็นเพียงนิทานเรื่องหนึ่ง ในบรรดานิทานที่แสดงถึงอิทธิปาฏิหาริย์หลายๆ เรื่องของนักบุญท่านนี้

 

และอันที่จริงแล้วก็ไม่เคยมีนิทานเรื่องไหนที่ระบุว่า นักบุญท่านนุ่งชุดสีแดง หนวดเคราเฟิ้ม มีรถลากด้วยกวางเรนเดียร์ หรืออะไรอีกสารพัดที่ดูจะเป็นลักษณะเฉพาะของคุณลุงซานต้า คนปัจจุบันเลยอีกด้วย เพราะที่จริงแล้วถึงแม้ชาวคริสต์ในยุคดั้งเดิม จะจินตนาการถึงท่านออกมาเป็นรูปวาดอยู่บ้าง

แต่ก็มักจะวาดของนักบุญท่านในรูปลักษณ์เรียบร้อยงามสง่า หนวดเคราตัดเล็มอย่างดี สวมผ้าคลุมสีขาว ที่สอดทับกันเป็นรูปตัวอักษร Y แสดงฐานันดรความเป็นมุขนายก (Bishop) ของพระศาสนจักรตะวันออก ที่มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “Omophorion” และมักจะถือคัมภีร์พระวรสาร (Gospel) ในมือข้างใดข้างหนึ่งเสมอ

แถมตามคติของชาวคริสต์แต่ดั้งเดิมนักบุญท่านนี้ เป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์เหล่ากะลาสีเรือ, พ่อค้า, มือธนู, พวกขโมยที่กลับใจสำนึกผิด, คนต้มเบียร์, ผู้รับจำนำ, เด็กๆ และนักเรียนทั้งหลาย

แตกต่างกันตามความเชื่อของแต่ละเมือง หรือสถานที่ในยุโรปว่าจะมีนิทานเล่าถึงปาฏิหาริย์เรื่องเกี่ยวกับอะไรของนักบุญนิโคลัสต่างหาก

 

ที่สำคัญก็คือโดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว แต่เดิมวันที่ระลึกถึงนักบุญนิโคลัส แห่งไมรา ท่านนี้คือวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสียชีวิตของนักบุญท่านนี้ เพิ่งจะถูกเปลี่ยนมาเป็นทุกวันที่ 25 ธันวาคม (ในหลายประเทศ) ภายหลังจากมี “การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์” โดย มาร์ติน ลูเธอร์ เมื่อ พ.ศ.2060 เท่านั้นเอง น่าเสียดายที่ไม่ได้มีหลักฐานระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดๆ ว่าทำไมฝ่ายโปรเตสแตนต์จึงได้เปลี่ยนวันที่ระลึกถึงนักบุญนิโคลัส มาไว้ให้ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม อย่างทุกวันนี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือการที่ ตัวของ มาร์ติน ลูเธอร์ เองนี่แหละ ที่ได้นำเอาประเพณีดั้งเดิมอย่างหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมไม่ได้ถูกให้ความสำคัญนัก คือการแจกของขวัญแก่เด็กๆ ในวันที่ระลึกถึงนักบุญท่านนี้ มาทำให้แพร่หลายยิ่งกว่าที่เป็นมาอย่างมากเลยทีเดียว อย่างน้อยก็แพร่หลายมากกว่ากิจกรรมการระลึกถึงตัวนักบุญท่านเสียอีก

บางทีพวกโปรเตสแตนต์เขาอาจจะอยากให้มีกิจกรรมแจกของขวัญให้แก่เด็กๆ ในวันสำคัญของพวกเขา คือวันประสูติของพระคริสต์ ก็ได้ใครจะไปรู้?

และก็ต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่า ก่อนหน้านี้มีการนับถือนักบุญนิโคลัส แห่งไมรา ท่านนี้ในฐานะนักบุญผู้อุปถัมภ์เด็ก และเยาวชน การจะมีกิจกรรมแจกของขวัญให้แก่เด็กน้อยในบางพื้นที่ ที่นับถือนักบุญท่านในฐานะดังกล่าวจึงไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจอะไรนัก

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งได้มาจากข้อสังเกตของนักวิชาการ ผู้สนใจในเรื่องของนิทานพื้นบ้าน และประเพณีโบราณในยุโรปหลายท่าน โดยเฉพาะทางฝ่ายของนักคติชนวิทยาทั้งหลาย ที่ล้วนแต่ลงความเห็นตรงกันว่า เทศกาลโบราณของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลเยอรมันโบราณ ที่เรียกว่า “Yule” นี่แหละ ที่เมื่อนำมาผสมรรวมเข้ากับเรื่องของนักบุญนิโคลัส แล้วจะเกี่ยวข้องกับกำเนิดของซานตาคลอส

 

กล่าวโดยสรุป เทศกาล Yule นี่ก็คือ เทศกาลเฉลิมฉลองช่วงกลางของฤดูหนาว ที่มีมาแต่โบราณของพวกเพเกิน (pagan, ความหมายในที่นี้คือ กลุ่มคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์) กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลเยอรมันอย่าง ชาวดอยช์, ชาวดัตช์, พวกเบลเยียม และลักเซมเบิร์ก (ซึ่งรวมถึงชาวอังกฤษโบราณบางกลุ่มด้วย) ที่ดำเนินติดต่อกัน 12 วัน โดยคาบเกี่ยวกับช่วงวันคริสต์มาส โดยคนเหล่านี้เชื่อว่า ในช่วงเทศกาล Yule นั้นจะมีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเกิดขึ้นถี่มากผิดปกติ ที่สำคัญคือจะมีขบวนของสิ่งลี้ลับที่เรียกว่า “นักล่าแห่งพงไพร” (Wild Hunt) ปรากฏขึ้นกลางท้องฟ้า

ขบวนนักล่าแห่งพงไพรนี้จะประกอบไปด้วยทั้ง คนที่ตายไปแล้ว, พวกเอลฟ์ หรือแม้กระทั่งเทวดาตัวน้อย (fairy) แต่จะมีผู้นำขบวนเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นที่ชื่อว่า “โวดาน” (Wodan)

พวกเพเกินแต่ละกลุ่มจะรู้จัก โวดาน แตกต่างกันไปตามชื่อเรียกเฉพาะในแต่ละท้องที่ แต่ที่สำคัญคือ ชื่อ “โอดิน” ที่พวกนอร์ส (Norse) ใช้เรียกเทพเจ้าองค์นี้ โทษฐานที่ เป็นชื่อราชาแห่งทวยเทพของพวกนอร์ส ม้าของพระองค์จึงจะเป็นม้ากระจอกทั่วไปอย่างใครเขาไม่ได้ ม้าของพระองค์จึงมีแปดขา สามารถเหาะเหินเดินอากาศ และมีชื่อเรียกยากๆ ว่า “สเลปนีร์” (Sleipnir) ซึ่งโอดินก็ใช้เจ้าม้านี่ขี่นำในขบวนนักล่าแห่งพงไพรในช่วงเทศกล Yule เสียด้วย

พวกเด็กๆ ชาวเยอรมนิกและสแกนดิเนเวียนในสมัยโบราณจะเอาแครอต, ฟางข้าว หรือน้ำตาล ใส่ไว้ในรองเท้าบู๊ตของพวกเขา และเอาไปไว้ใกล้ๆ กับปล่องไฟ เพื่อมอบให้กับเจ้าม้าสเลปนีร์ตัวนั้น เพราะเชื่อกันว่าเทพโอดินจะทรงตอบแทนความใจดีของเด็กๆ ด้วยขนม หรือของขวัญบางอย่างและคืนลงไปในรองเท้าบู๊ตของพวกเขาแทน

ตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้ใครบางคนอธิบายเอาไว้ว่า นี่คือที่มาของธรรมเนียมการแขวนถุงเท้าในคืนคริสต์มาสอีฟ ซึ่งถูกชาวคริสต์เทกโอเวอร์ไปเป็นของตนเองในภายหลังด้วยการเอาไปผสมปนเป และคลุกเคล้าจนเข้ากับนิทานเรื่องยากจก กับนักบุญนิโคลัสที่ผมเล่าเอาไว้ตั้งแต่ขึ้นต้นข้อเขียนชิ้นนี้

 

ทั้งโอดิน และโวดาน ต่างก็มีลักษณะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การที่ไว้หนวดและเคราที่หงอกขาว เสียจนยาวเฟิ้ม บางชื่อที่ชาวยุโรปท้องถิ่นใช้เรียกเทพเจ้าองค์นี้อย่าง Landbarer มีความหมายว่า “เครายาว” เสียด้วยซ้ำไป

แน่นอนว่า ลักษณะที่มีหนวดเคราสีขาว และยาวเฟิ้มนี้แหละที่ได้โอนถ่ายไปให้เป็นคุณลักษณะสำคัญของ คุณลุงซานต้า แต่เรื่องก็ยังไม่จบง่ายๆ เท่านี้นะครับอย่างน้อย เทพเจ้าท้องถิ่นในยุโรปที่ว่านี่ก็ไม่ได้ทรงเครื่องด้วยชุดแดง เหมือนอย่างคุณลุงใจดีที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ว่ากันว่าเคยมีการวาดพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ ขณะกำลังทรงพระภูษาสีเขียวล้อไปกับเฟอร์ขนสัตว์ พระองค์ทรงมีพระวรกายสูงใหญ่ ไม่ต่างจากเทพโอดิน และเสด็จขึ้นครองราชย์ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2052-2090 อันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์

โดยไม่ว่าเหตุผลกลใดก็ตาม พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์รูปนี้ก็ได้กลายเป็นแบบให้กับ “คุณพ่อแห่งวันคริสต์มาส” (Father Christmas) อันเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของวันคริสต์มาส ที่เกิดขึ้นการผนวกรวมเอาเทพเจ้าพื้นเมืองอย่างโวดาน (หรือในชื่ออื่นๆ) เข้ามาในคริสต์ศาสนาช่วงที่ย้ายวันรำลึกถึงนักบุญนิโคลัสมาเป็นวันที่ 25 ธันวาคม รวมถึงในประเทศอังกฤษด้วย

 

แต่เดิมอะไรๆ ที่ดูจะเป็นต้นแบบของซานตาคลอส จึงสวมชุดยูนิฟอร์มสีเขียวนะครับ ไม่ใช่สีแดง อย่างน้อยภาพวาดประกอบในวรรณคดีคลาสลิคของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เรื่อง A Christmas Carol ที่วาดโดย จอห์น ลีช (John Leech) ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2386 ก็วาดรูปคุณพ่อวันคริสต์มาส (ที่ในเรื่องเรียกว่า Ghost of Christmas) เอาไว้อย่างนั้น

คุณลุงซานต้าของเด็กๆ เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นสวมชุดยูนิฟอร์มสีแดง แถมยังถอยรถเลื่อนใหม่จากรถที่เทียมด้วยเจ้าม้าแปดขาสลีปนีร์ มาเป็นกวางเรนเดียร์จมูกแดงอย่างที่เราคุ้นเคยกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา เมื่อระหว่างปี พ.ศ.2404-2408 เท่านั้นนะครับ

คนที่เปลี่ยนซานตาคลอส เสียจนมีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เราคุ้นเคย โธมัส แนสต์ (Thomas Nast) ซึ่งเป็นนักวาดภาพ ทำนองการ์ตูนล้อเลียนการเมืองคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้น

แนสต์ได้ผลิตวาดเกี่ยวกับวันคริสต์มาสในฐานะวันครอบครัว รำพึงรำพันถึงทหารที่ไปออกรบจนต้องพรัดพรากจากครอบครัวในวันคริสต์มาส อย่างกินใจอเมริกันชนในขณะนั้นเป็นจำนวนมาก พร้อมๆ กับการผลิตซ้ำความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับคุณลุงคนนี้อย่าง การที่ถิ่นที่อยู่ที่ขั้วโลกเหนือ จนใครต่อใครเข้าใจอย่างนั้นกันไปทั้งโลก เป็นต้น

เรียกได้ว่า แนสต์นี่แหละครับคือ บิดาผู้ให้กำเนิด ซานตาคลอส อย่างที่พวกเราในยุคปัจจุบันรู้จักกันตัวจริง เสียงจริง