คนมองหนัง | “หน่าฮ่าน” : “หนังอีสานอินดี้” ที่แปลกรสและเปี่ยมเสน่ห์

คนมองหนัง

“หน่าฮ่าน” ถือเป็น “ภาพยนตร์อีสานอินดี้/อีสานนิวเวฟ” เรื่องล่าสุด ที่เพิ่งเข้าฉายเชิงพาณิชย์ หลังการประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งของหนังชุด “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”

แม้ตัวอย่างหนังที่เผยแพร่ออกมาคล้ายจะไม่ค่อยมีเสน่ห์ดึงดูดผู้ชมมากนัก แต่ภาพยนตร์ฉบับจริงฝีมือการกำกับฯ ของ “ฉันทนา ทิพย์ประชาติ” สาวกาฬสินธุ์วัย 27 ปี ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา และเคยมีประสบการณ์ทำหนังสั้น-เป็นทีมงานในกองถ่ายหนังอิสระ กลับสนุกสนานและมีประเด็นน่าสนใจแฝงไว้เกินคาดคิด

อย่างน้อยที่สุด นี่ก็เป็นหนังอีสานที่พูดเรื่องชีวิตของวัยรุ่นท้องถิ่นได้อย่างแปลกรส, เป็นหนังรักสามเส้าที่ซาบซึ้งตรึงใจไม่น้อย และเป็นหนังอารมณ์ดี ที่มุขตลกต่างๆ มีความเป็นสากล

และปรากฏขึ้นอย่างถูกจังหวะจะโคน

หาก “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” คือ ภาพยนตร์ว่าด้วย “ชาวอีสานผู้รู้จักโลกกว้าง” ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์และกล้ายั่วล้อกับตัวแทนหรือสถาบันต่างๆ ของรัฐไทย/ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไทยอย่างเข้มข้นถึงรากถึงโคน ผ่านมุมมองของตัวละครหลักเพศชาย

“หน่าฮ่าน” ก็มีความทะเยอทะยานน้อยกว่านั้นในเชิงการเมือง และเลือกจะบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตเล็กๆ ผ่านตัวละครหลักเพศหญิงและเพศทางเลือก (ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างน่าสนใจ)

หนังพูดถึงวัยรุ่นสาว-เกย์-หนุ่ม กลุ่มหนึ่งในภาคอีสาน ที่ใช้ชีวิตสนุกสนาน หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศ ความรัก และการไปเที่ยวไปดิ้นหน้าเวทีหมอลำ โดยทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาแร้นแค้นหรือต้องดิ้นรนหนักหนาสาหัสใดๆ

ตัวละครกลุ่มนี้ไม่ได้ “ฝันไกล” เฉกเช่นตัวละครบางรายใน “ไทบ้านฯ” คนที่จริงจังกับอนาคตของตนเองมากที่สุด ก็ไปลงเอยด้วยการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หลังจบ ม.ปลาย

ส่วนที่เหลือล้วนออกมาหากินประกอบอาชีพตามข้อจำกัดและโอกาสของพวกตน โดยมิได้มีสถานะเป็น “ผู้รู้โลก” หรือ “นักฝันผู้ทะเยอทะยาน”

แต่ใช่ว่า “ภาคอีสาน” ใน “หน่าฮ่าน” จะเป็น “ชุมชนอีสาน” ที่ตัดขาดจากโลกภายนอก/ความทันสมัยโดยสิ้นเชิง

หนุ่มสาวบางส่วนในหนังเรื่องนี้โด่งดังและหารายได้ด้วยการเป็น “เซเลบออนไลน์” (ในหมู่คนอีสานด้วยกัน)

แหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองอุดรที่เหล่าตัวละครใฝ่ฝันถึงคือศูนย์การค้า “ยูดี ทาวน์” ส่วนร้านอาหารที่พวกเขาและเธอเลือกไปกินกัน (และมีบางคนเข้าไปทำงานพาร์ตไทม์ในเวลาต่อมา) ก็คือ ร้านพิซซ่า

ตัวละคร (เกย์) บางรายเป็นแฟนบอลของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล

มีเพื่อนสาววัยมัธยมคนหนึ่งของนางเอกที่ตั้งท้องกับผู้ชายต่างชาติ (เธอเลือก-หรือจำเป็นต้อง-ปักหลักคลอดลูกและใช้ชีวิตที่ “บ้านเกิด” โดยไม่ได้ติดตามพ่อของลูกข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังต่างแดน)

อย่างไรก็ตาม พวกเขาและเธอไม่ได้มุ่งมั่นไขว่คว้าหรือมีศักยภาพเพียงพอที่จะก้าวเท้าเดินทางไกลออกจาก “ท้องถิ่น” ของตนเอง

ขณะเดียวกัน พวกเขาและเธอก็ไม่ได้ใฝ่ฝันจะเปลี่ยนแปลง-พัฒนา “บ้านเกิด” ด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่เหมือน “ป่อง ไทบ้านฯ”

พวกเขาและเธอเพียงอยากจะดำเนินชีวิตอันสามัญปกติต่อไป และมีความสุขสนุกสนานตามอัตภาพใน “บ้านเกิด” แห่งเดิม

กระทั่งตัวละครหลักอีกหนึ่งราย ซึ่งได้ไปแสวงหาโอกาสของชีวิตที่ “ดีกว่า” ถึงในกรุงเทพฯ ก็ยังเลือกหวนกลับมาตามหา “รักเก่า” ที่ “บ้านเกิด” (คล้ายคลึงกับเพื่อนสาวสวยของนางเอก ที่เลือกทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนรถทัวร์ ซึ่งวิ่งล่องไปมาระหว่างอุดรธานีกับ กทม.)

เท่ากับว่าตัวละครทั้งหมดใน “หน่าฮ่าน” ล้วนเลือกจำกัดกรอบของตัวเองหรือถูกจำกัดกรอบชีวิต เอาไว้ที่ “บ้าน” ณ “ภาคอีสาน”

พลวัตของ “ภาคอีสาน” ใน “หน่าฮ่าน” จึงไม่ได้อยู่ที่ประเด็นการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของประชากร, ไม่ได้อยู่ตรงการคาดหวังว่าชนบทแห่งนี้จะต้องมีวิวัฒนาการหรือก้าวหน้ากว่าเดิม และไม่ได้เกาะเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันโลดโผนโจนทะยานกับสังคมอื่นๆ

แต่พลวัตของ “ภาคอีสาน” ในหนังเรื่องนี้ คือ การสร้างบทสนทนาภายในว่าด้วย “วัฒนธรรมอีสานอันหลากหลาย” (และอาจไม่ลงตัว)

“หน่าฮ่าน” หรือความรื่นเริงผสมระห่ำหน้าเวทีหมอลำ คือ “วัฒนธรรมป๊อปแบบบ้านๆ” ของมหาชนชาวอีสาน นี่เป็น “วัฒนธรรมบ้านๆ” ที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคง และอาจไม่ต้องการแก่นสารอะไรมากไปกว่านั้น (แม้รูปลักษณ์ภายนอกหรือลูกเล่นทางดนตรีบางอย่างจะแปรผันไปตามยุคสมัย)

หนังเรื่องนี้ยืนกรานสนับสนุน “วัฒนธรรมบ้านๆ” ดังกล่าว โดยมิได้ฉวยใช้มันเป็นเครื่องมือเพื่อมุ่งคัดง้างกับอำนาจรัฐส่วนกลางหรือภาวะทันสมัยอื่นๆ จากโลกภายนอก (ส่วนหนึ่งเพราะปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นล้วนไม่มีตัวตนอยู่ในความคิดฝันของบรรดาตัวละคร)

ทว่า “วัฒนธรรมป๊อปของชาวบ้านอีสาน” ในหนัง กำลังงัดข้อกับ “ความเป็นอีสานกระแสหลัก” ที่ปรากฏผ่านการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านแบบมาตรฐาน ซึ่งถูกโปรโมตโดยสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ตลอดจนคำขวัญประจำจังหวัด

จุดพีกสุดของการปะทะกันระหว่าง “วัฒนธรรมอีสานสองชนิด” ได้อุบัติขึ้น ณ ฉากสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย (ใกล้ “บ้านเกิด”) อันน่าประทับใจและไปไกลมากๆ ของนางเอก

ความไม่ทะเยอทะยานและรักสนุกแบบบ้านๆ ของนางเอก เช่น “ยุพิน” และผองเพื่อน ดำเนินคู่ขนานไปกับปัญหา “รักสามเส้า” ที่เธอต้องเผชิญ

ท่ามกลางความขัดแย้งประเภทหลัง ตัวละครเพศชายได้ถอยร่นจากการเป็น “เจ้าของมุมมองหลักในภาพยนตร์” ดังที่ปรากฏผ่าน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” และหนังอีสานร่วมสมัยเรื่องอื่นๆ มาเป็น “ภาพแทน/สัญลักษณ์” ซึ่งถูกตัวละครหญิงหยิบเลือกหรือใช้สอยตามอำเภอใจ

ถ้าชายหนุ่มรุ่นพี่ผู้เป็นรักแรกอย่าง “สิงโต” คือ ภาพแทนของ “วัฒนธรรมประชานิยม” ที่มีชีวิตชีวา (ทั้งสุขและเศร้า ทั้งสมหวังและผิดหวัง ทั้งผ่อนคลายและตึงเครียด ทั้งจับใจและเข้าใจยาก) และมีพลวัต (เช่น มีตัวตนในสื่อออนไลน์สมัยใหม่)

เพื่อนชายร่วมรุ่นผู้เป็นรักลำดับถัดมาของ “ยุพิน” อย่าง “สวรรค์” ก็คือตัวละครที่มีความลักลั่นกำกวมจนน่าวิเคราะห์ตีความไม่แพ้กัน

ด้านหนึ่ง เขาเป็นดัง “เด็กดี” ของ “ท้องถิ่น” รวมทั้งเป็นตัวแทนของ “วัฒนธรรมอีสานทางการกระแสหลัก” ผ่านบทบาทหมอแคนมือหนึ่งแห่งวงโปงลางประจำโรงเรียน หรือความมุ่งมั่นตั้งใจจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยให้ได้

แต่อีกด้าน “สวรรค์” ก็เป็น “คนใน” ผู้แปลกแยก-ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรม “หน่าฮ่าน” และกล้าวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมรุนแรงซึ่งแฝงอยู่ใน “ความบันเทิงแบบบ้านๆ” หน้าเวทีหมอลำ ด้วยเหตุผล-มุมมองที่น่ารับฟัง

ดังนั้น เมื่อความรักสามเส้าระหว่าง “ยุพิน-สวรรค์-สิงโต” ค่อยๆ คลี่คลายลง ณ ตอนท้ายเรื่อง

อารมณ์ “เศร้าสร้อย-เคว้งคว้าง” ผสม “ลังเล-เสียดาย” จึงเกิดปะปนระคนไปกับความสุขสนุกสนานแบบบ้านๆ ในงานรื่นเริงของมหาชนคนตัวเล็กตัวน้อย อย่างน่าประหลาดและมีเสน่ห์

สําหรับผู้ชมซึ่งหารอบ “หน่าฮ่าน” ในโรงภาพยนตร์ใหญ่ตามห้างสรรพสินค้าไม่ได้

หนังอีสานเรื่องนี้จะเข้าฉายที่ “เฮาส์ อาร์ซีเอ”

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม เป็นต้นไป