อุรุดา โควินท์ / อาหารไม่เคยโดดเดี่ยว : ถูก-ก็แต่ราคา

ฉันเริ่มจ่ายตลาดตั้งแต่เรียน ป.6 โดยไปกับปลา-แม่บ้านคู่ใจของยาย

เราปั่นจักรยานไปคนละคัน มีตะกร้าสานคนละใบ

ตอนเป็นเด็ก-ฉันรู้สึก ตลาดสดของเชียงรายใหญ่มาก แต่เราก็เดินอย่างเป็นระบบ จ่ายของตามรายการที่ยายกับแม่จดให้

แวะซื้อปลาท่องโก๋ถุงหนึ่งก่อนกลับ ถือรางวัลของฉันที่ช่วยปลาจ่ายตลาด

ปลาคล่องแคล่วอยู่แล้ว จ่ายไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ หิ้วตะกร้ากันจนตัวเอียง

ตอนนั้นฉันไม่รู้-ทำไมแม่ต้องให้ฉันมากับปลา ฉันมักอิดออด ไม่ใช่ขี้เกียจ แต่ฉันขี้อาย ฉันกลัวคนแปลกหน้า จะซื้อของก็แต่ร้านชำหน้าบ้านที่เรารู้จักกันดีเท่านั้น

 

ฉันเล่าให้เขาฟัง ขณะเราเดินตลาดด้วยกัน

ตลาดเช้าที่ฉันเคยไปตอนเด็กนั่นล่ะ ผ่านไปกว่าสามสิบปี เขียงหมูยังอยู่ที่เดิม แผงข้าวเหนียวหน้าสังขยาก็ด้วย

การจัดสรรพื้นที่ยังเหมือนเดิม ผักอยู่ด้านหลัง ซอยตรงกลางเป็นร้านขายของแห้ง และร้านขายเสื้อผ้า แม้แต่ร้านรองเท้าที่แม่พามาซื้อรองเท้านักเรียนก็ยังอยู่ที่เดิม คนขายคนเดิมอีกต่างหาก

“หน้าตาแกเหมือนเดิม ไม่รู้สึกว่าแกแก่เลยนะ แต่ทำไมแม่เราดูแก่จัง” ฉันบอกเขา เมื่อเราเดินผ่านร้านรองเท้ามาแล้ว

เขาหัวเราะ “ไม่ใช่ล่ะ หาเรื่องโดนว่าล่ะ”

ฉันพาเขาไปด้านหลัง ส่วนที่ขายเครื่องเทศ ขายมีด ขายพร้า ขายเขียง ขายพริก หอมกระเทียม ยังไม่พอ มีแผงตัดเสื้อ มีร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านน้ำเงี้ยว

“โห ตลาดใหญ่มาก” เขาว่า

“มีทุกสิ่งให้เลือกสรร ขาดก็แต่เงินมาซื้อ” ฉันหัวเราะ

“แหม…” เขาลากเสียงยาว

 

ฉันไม่ได้หมายถึงตอนนี้ เราอยากได้จอบ และถ้ามันจำเป็นต้องใช้ เราก็ซื้อได้นั่นล่ะ เราไม่ได้ร่ำรวย แต่เราต้องหาให้พอจ่าย มันเป็นความรับผิดชอบต่อชีวิต

ตอนเป็นเด็ก หาเงินยังไม่ได้ มีแต่ค่าขนมที่แม่ให้สัปดาห์ละครั้ง ซึ่งอย่าว่าแต่เหลือเก็บ ใช้ให้ถึงวันศุกร์ก็ยากเต็มที ไม่แน่ใจเหมือนกัน ฉันใช้เงินเก่ง หรือแม่ให้เงินเราน้อย ฉันรู้แต่ว่าไม่เคยได้ค่าขนมเท่าที่ต้องการ

เวลาฉันมาตลาดกับปลา หรือกับคนทำงานบ้านของเรา ฉันนึกอิจฉาพวกเธอที่มีเงินเดือน ชอบเสื้อตัวไหนก็เดินไปซื้อได้ ส่วนฉันได้แต่มองตาปริบๆ รอวันเกิด วันเด็ก หรือไม่ก็…ก่อนเปิดเทอม ตอนนั้นล่ะ ที่แม่จะซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้

“ตอนเด็ก เข้าใจว่าที่บ้านลำบากมาก เพราะแม่ชอบบ่น ไม่มีเงิน ไม่มีเงิน ไม่มีเงินแล้วนะ เพิ่งมารู้ตอนโต ว่าแม่ไม่ได้จน แต่ไม่อยากให้เราใช้เปลือง ไม่ให้เราขอตังค์” ฉันบอกเขา

เราแวะซื้อจอบกับพร้าเท่านั้น สายเกินไป เกินกว่าจะซื้อผักไปทำอาหาร ตลาดวายเสียแล้ว

“ซื้อจอบ แล้วกลับไปทำคั่วผักกาดดองกินที่บ้านนะ พูดถึงความลำบากปลอมๆ ตอนเด็กแล้วอยากกิน”

เขาปล่อยก๊าก

 

บางทีแม่ก็บอกเราว่า เนียะ เหลืออีกตั้งอาทิตย์หนึ่ง กว่าเงินเดือนจะออก แม่เหลือเงินแค่ 500

ฉันกับน้องช่วยกันคิด เราจะกินอะไรดี ที่ไม่แพง อิ่ม และอร่อย แล้วคั่วผักกาดดองก็เป็นเมนูแรกที่เราคิดถึง มันถูกก็จริง แต่มันอร่อยมาก โดยเฉพาะถ้ากินกับข้าวเหนียว

ไม่น่าเชื่อว่าเรารู้จักบริหารจัดการครัวในราคาประหยัดตั้งแต่เรียน ม.ต้น เราไม่ทันคิดว่า แม่ไม่ใช่แค่เป็นครู แม่ยังมีบ้านให้เช่าอีกหลายหลัง และเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เราก็เรียนรู้ว่า ไม่มีทาง และไม่มีวัน ที่เราจะปล่อยให้ทั้งบ้านเหลือเงิน 500 บาท

ความลำบากที่แม่ปลอมแปลงขึ้นมา ฝึกให้เรารู้จักเก็บวัตถุดิบ รู้จักใช้ให้หมด ซื้อผักมาหนึ่งอย่าง ทำอะไรได้บ้าง เช่น ผักกาดดองน้ำซาวข้าว กินกับน้ำพริกตาแดงอร่อย แกงจืดอร่อย เอามาคั่วก็อร่อย เอามาผัดกับหมูแล้วใส่แป้งมันลงไปนิดก็อร่อย เราพยายามสรรหาของอร่อย ราคาประหยัด นั่นทำให้เราต้องหัดทำอาหาร เพราะอาหารอร่อยและถูกหาซื้อยาก

แต่มันเกิดขึ้นได้แน่ ในครัวของเรา

 

ผักกาดดองน้ำซาวข้าวนั้น ได้มา เราจะชิมก่อน ถ้าเค็มไป หรือเปรี้ยวไป เราจะล้างสักหน่อย แต่ส่วนใหญ่ รสมักพอดี เพราะแม่ค้าดองเพียงหนึ่ง หรือสองคืน

ซอยผักกาดดองให้บางที่สุด จากนั้นตอกไข่รอไว้ แค่ไข่ ผักกาดดอง และใจร่มๆ เราก็จะได้อาหารหนึ่งจาน

จะใส่ หรือไม่ใส่กระเทียมก็ได้ ใจความสำคัญคือ คำว่าคั่ว หมายถึงน้ำมันน้อย ไฟอ่อน และใช้เวลานาน

ใส่น้ำมันนิดหน่อย ใส่ผักกาดดอง ใช้ไฟอ่อน คั่วไปเรื่อยๆ จนผักกาดดองเริ่มร้อน ค่อยตอกไข่ลงกระทะ ตีให้ไข่แตก และคนให้ไข่เคลือบผักกาดดอง จากนั้นก็คั่วไฟอ่อนไปเรื่อยๆ ยิ่งนาน ยิ่งอร่อย รสผักกาดดองจะเข้มขึ้น เปรี้ยว เค็มกำลังเหมาะ ตัดด้วยน้ำตาลนิดหน่อย

ฉันตักลงชาม Wedgwood ใบงามจับจิต บางคนอาจคิด-มันสวยเกินกว่าจะใส่อาหารราคาถูก แต่สำหรับฉัน ผักกาดดองคั่วไข่แพงด้วยเรื่องราวและความทรงจำ คู่ควรกับจานใบนี้ที่สุด