ต่างประเทศอินโดจีน : สภาพสื่อที่กัมพูชา

“ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” หรือ “อาร์เอสเอฟ” กลุ่มรณรงค์เพื่อเสรีภาพและสวัสดิภาพของสื่อ อาศัยวันเสรีภาพสื่อโลกซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวาระในการเผยแพร่การจัดอันดับเสรีภาพสื่อที่สำรวจจากประเทศทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลกออกมาเป็นประจำทุกปี

ในดัชนีประจำปี 2019 ซึ่งใช้ข้อมูลจากปี 2018 มาจัดเรียงอันดับ เสรีภาพสื่อของกัมพูชาถดถอยลงอีก 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 143 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

แต่ที่สะท้อนการคุกคามต่อสวัสดิภาพและเสรีภาพของสื่อมวลชนได้อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงได้มากที่สุด เป็นการจัดอันดับเมื่อปี 2018 ที่จู่ๆ อันดับเสรีภาพสื่อในกัมพูชารูดลงรวดเดียว 10 อันดับ

จากอันดับที่ 132 ของโลก ลดลงมาอยู่ต่ำเตี้ยเพียงแค่อันดับที่ 142 ของโลกเท่านั้น

ในการจัดอันดับของปี 2019 นี้ อาร์เอสเอฟระบุถึงสภาพสื่อที่กัมพูชาเอาไว้ว่า การเซ็นเซอร์ “กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ” ของสื่อมวลชนที่นั่นไปแล้ว

“ปราการด่านสุดท้ายของสื่ออิสระในกัมพูชาอย่างพนมเปญโพสต์ถูกซื้อกิจการไปเมื่อปีที่แล้วโดยนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชา” อาร์เอสเอฟระบุ

ที่น่าสนใจก็คือ การซื้อกิจการดังกล่าวมีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่อาร์เอสเอฟเผยแพร่ผลการจัดอันดับของปี 2018 ออกมา

“ผู้สื่อข่าวที่ยังคงกล้าทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในประเด็นที่รัฐบาลไม่ชอบใจนัก อย่างเช่นกิจการโสเภณีเด็กและเยาวชน ล้วนถูกคุมขังไปหมดแล้ว” รายงานล่าสุดของอาร์เอสเอฟบอกเอาไว้อย่างนั้น

 

เยียง โสเธียริน ผู้สื่อข่าวของวิทยุเอเชียเสรี คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการคุกคามต่อสื่อมวลชนในกัมพูชาในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เยียงกับอวน ชนิน เพื่อนร่วมงานถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2017 ในข้อหาสมคบคิดกับ “อำนาจต่างชาติ” เพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

เจ้าหน้าที่บุกมาควบคุมตัวเยียงถึงที่บ้าน ต่อหน้าลูกชายวัย 10 ขวบและลูกสาววัย 8 ขวบของผู้สื่อข่าวรายนี้

เยียงทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากโกหกต่อลูกๆ ว่า “พ่อจะไปเรียนต่อปริญญาเอก…ที่เปรยซา” เพราะพวกเขาไม่รู้จักว่าเปรยซาคือเรือนจำ!

แต่ลูกๆ ก็ยังรู้อยู่ดีในที่สุด จากสื่อสังคมออนไลน์ที่แพร่หลายในกัมพูชาอย่างมาก

เยียงได้รับอิสระเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับลูกเมียอีกครั้ง แต่ข้อกล่าวหายังไม่หายไปไหน ผู้พิพากษาศาลชั้นไต่สวนชี้ขาดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาให้ส่งคดีนี้ไปดำเนินคดีชั้นศาลต่อไป

ผลก็คือ เยียง โสเธียริน ต้องเลิกอาชีพผู้สื่อข่าวไปโดยปริยาย หันไปทำงานให้กับเอ็นจีโอ เพราะศาลยังคงติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของเยียงทุกฝีก้าว

“แค่ผมเขียนบทความอะไรที่ทำให้ใครสักคนไม่ชอบใจ ผมก็โดนได้อีกครั้งทั้งนั้น”

 

ไท โสเธีย ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวแคมโบโนมิสต์ บอกว่าผู้สื่อข่าวในกัมพูชายามนี้ ถูกบังคับโดยสภาพแวดล้อมให้ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” อย่างเคร่งครัดจากหลายๆ เรื่อง หลายๆ ประเด็น ที่ทำให้ตัวเองตกที่นั่งลำบาก ญาติพี่น้องเดือดร้อน

ไทเลิกแตะการเมืองมานานแล้ว หันไปรายงานและวิเคราะห์ข่าวธุรกิจแทน เพราะมันทำให้เขาสามารถดำรงสถานะเป็นผู้สื่อข่าวต่อไปได้ และพยายามหาทาง “สื่อสาร” ออกไปต่อสาธารณะให้ได้ในวิถีทางที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเอง

ดังนั้น สื่อทุกคนในกัมพูชาในยามนี้ก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง “ในระดับสูงทีเดียว” ไท โสเธีย ยืนยันไว้เช่นนั้น

“เราต้องรู้ว่า เราไปได้ไกลที่สุดแค่ไหน”