เพื่อนโชค หรือจะสู้ “เพื่อนตู่”

เป็นไปตามคาดหมาย

หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนออกมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถทำหน้าที่ “เพื่อนตู่” ได้ดีเยี่ยม

ทหาร ตำรวจ ร่วม  101 นาย ล้วนเป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นน้อง หรือคนที่ใกล้ชิดทั้งสิ้น

ส่วนเหล่าแม่น้ำ 5 สาย ทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 83 คน รวมอีก 6 ส.ว.ที่เป็นโดยตำแหน่ง เนื่องจากนั่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมเป็น 89 คน

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 37 คน

กลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้าเป็น ส.ว.ได้ 18 คน

โควต้านักการเมืองและเครือญาตินักการเมืองที่ไปเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อีกนับสิบ

ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทิ้งเพื่อนเอาไว้ข้างหลัง อย่างที่รับปาก

และนั่นจะทำให้ ส.ว.กลายเป็นพรรคหนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม นั่นเฉพาะสภาสูง ที่แม้จะสำคัญเพราะเป็นเสียงชี้ขาดให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อในฐานะนายกรัฐมนตรี

แต่กระนั้น ในการบริหารประเทศ มิได้อยู่ที่สภาสูงเป็นหลัก

หากอยู่ที่สภาล่าง และรัฐบาล ที่จะต้องฟอร์มตัวขึ้น หลังจากมีนายกรัฐมนตรี

ถามว่า แนวโน้มจะราบรื่นเหมือนการตั้ง ส.ว.หรือไม่

คำตอบก็คือไม่

ไม่ เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียวเหมือนตอนที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หากแต่กระจายไปสู่การต่อรองของพรรคการเมือง ที่ชัดเจนแล้วว่า อยู่ในสภาพเบี้ยหัวแตก

มีการคาดหมายว่าจะมีพรรคเล็ก พรรคกลาง พรรคใหญ่ เข้าร่วมรัฐบาลมากกว่า 20 พรรค

ดังนั้น อำนาจการต่อรองจึงแตกกระจาย พรรคที่มีเสียงเดียวก็มีเสียงดังพอที่จะทำให้การตัดสินใจทางการเมืองต้องฟัง

ไม่อาจรวบรัดได้ ดังรัฐบาลจากรัฐประหาร

และที่ผ่านมา ก็มี “ข่าว” ออกมาเขย่าให้ พล.อ.ประยุทธ์พึงตระหนักว่า จะต้องเผชิญอะไร

และที่สำคัญเป็นข่าวที่ถูกปล่อยออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำในการจัดตั้งเสียเองด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนรายงานข่าวสอดคล้องกัน

โดยอ้างแหล่งข่าวจากพรรค พปชร. ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ที่จะมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่พอใจการแบ่งโควต้ารัฐมนตรี

มีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงมาเกลี่ยและจัดสรรตำแหน่งใหม่

นอกจาก พปชร.ต้องยอมปล่อยกระทรวงหลัก หรืออย่างน้อยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเศรษฐกิจออกไปให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลบ้างแล้ว

ยังมีเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่ตอบรับการร่วมรัฐบาลจาก พปชร.เต็มร้อย

นั่นก็คือ ด้านหนึ่ง ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้า ครม.เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะมาจากการเลือกตั้งตามระบบรัฐธรรมนูญ

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช.

และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

รวมถึงบุคคลอื่นๆ ที่มาจาก คสช. ที่จะเข้ามานั่งใน ครม. ไม่เป็นที่ยอมรับ

เพราะนอกจากไม่ได้ผ่านกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว

ยังเป็นการย้ำภาพการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน

และมีการกล่าวย้ำถึง พล.อ.ประวิตร ว่า เป็นจุดอ่อนทั้งปมปัญหาในอดีตมาถึงปัจจุบัน ที่สังคมไม่ยอมรับ

จึงสมควรที่จะมีการพิจารณาการเข้ารับตำแหน่งของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ใหม่

 

นี่ย่อมเป็นการเรียกร้องอันแหลมคม

ซึ่งแน่นอน หากเป็นยุค คสช. ข้อเสนอเช่นนี้ย่อมไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด

ตรงกันข้าม นักการเมือง และพรรคการเมือง คือสถาบันและบุคคลที่มีเครดิตต่ำเตี้ย

ย่อมไม่อาจเสนอหน้ามาเรียกร้องเช่นนี้ได้

แต่หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เพราะด้านหนึ่ง คสช.กำลังต้องสลายไปทันทีที่มีรัฐบาลใหม่

พล.อ.ประยุทธ์และผองเพื่อน คสช. แม้จะได้รับการออกแบบให้ “ไปต่อ”

แต่การไปต่อนั้น มิได้อยู่ในภาวะ “อำนาจเต็ม” อีกต่อไป

จำเป็นต้องแบ่งปัน และพึ่งพาพรรคการเมือง นักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง

และอีกด้านยังเผชิญการต่อต้านด้วย เมื่อมี 7 พรรคการเมืองลงนามในสัตยาบันต้านการสืบทอดอำนาจอย่างชัดแจ้ง

นั่นคือต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ และต่อต้าน คสช.

อีกด้านหนึ่ง แม้จะพร้อมรวมประสานมือกันตั้งรัฐบาล

แต่ก็มากด้วยเงื่อนไข การต่อรอง เพื่อแบ่งปันอำนาจ

ซึ่งก็แหลมคม ดังที่ปรากฏข่าวที่ถูกปล่อยออกมา

นั่นคือ ให้ตัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกไปจากวงจรแห่งอำนาจเลยทีเดียว

แม้แกนนำพรรค พปชร.โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. จะปฏิเสธถึงข้อต่อรองอันแหลมคมนี้ ว่าไม่จริง เพราะการตั้งรัฐบาลยังไม่คืบหน้าถึงขนาดต่อรองเก้าอี้ จึงยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ว่าใครจะอยู่ตำแหน่งไหน

แต่กระนั้น กระแสข่าวดังกล่าว ย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้อง “ตื่นตัว” เพื่อรับมือเช่นกัน

ซึ่งก็น่าสนใจ ภายใต้การอ่อนตัวลงของอำนาจ คสช.นั้น

จะรับมือกับการเจรจาต่อรองของพรรคการเมืองอย่างไร

เพื่อที่จะให้คำว่า คสช. “ขาลง” ไม่เกิดขึ้นจริง

การขาดความเกรงใจ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขาดความเกรงใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และที่สุดก็จะลามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สมควรจะเกิดขึ้น

นี่คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์และผองเพื่อน คสช.จะต้องคิด เพื่อให้อำนาจของตนแข็งแกร่งต่อไป

 

สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ ก็คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์พยายามดึงตัวให้ลอยอยู่เหนือการเมือง

ไม่ลงไปคลุกการแย่งชิงอำนาจอย่างไม่จำเป็น

“ตอนนี้ยังไม่ใช่นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ เมื่อยังไม่ได้เป็น ก็พูดอะไรไม่ได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของนายกฯ ใหม่ ซึ่งจะมาหลังจากขั้นตอนการเปิดสภา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งประธานสภาด้วย จึงยังไม่ได้เลือกนายกฯ แล้วผมจะไปตอบแทนใครได้”

นั่นคือท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์

และกล่าวเตือนไปยังจุดอ่อนของฝ่ายการเมือง ว่า

“รู้สึกเบื่อหน่ายข่าวที่ยังไม่ทันตั้งรัฐบาล ก็มีการต่อรองเกิดขึ้นแล้ว ย้ำว่าวันนี้ผมยังไม่ได้เป็นนายกฯ ในรัฐบาลใหม่ การตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ดำเนินการอยู่แล้ว วันนี้ผมให้เกียรติทุกคน เพราะทุกคนได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ผมเคารพเสียงประชาชนและให้เกียรตินักการเมืองทุกคน แต่ถ้าพูดกันไปมา จนเลวร้ายไปทั้งหมด ก็จะไม่เกิดอะไรดีขึ้นต่อประเทศ”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้ความนิ่งเฉย รับมือ

บอกเพียงว่า “ไม่มี ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย”

ไม่ต่างกับ พล.อ.อนุพงษ์ที่ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้

โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เรื่องการเมืองไม่ตอบ”

ท่าทีดังกล่าว แม้สยบกระแสลงได้ระดับหนึ่ง

แต่กระนั้นไทม์ไลน์การเมืองที่กระชั้นเข้ามา โดยขณะนี้มีการนัดเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว ในวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งนั่นหมายความการเลือกประธานสภา การฟอร์มรัฐบาลกำลังจะเกิดขึ้นจริง

การต่อรองผลประโยชน์ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง น้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับการจัดสรรอำนาจว่าจะทำได้ดีเพียงใด กำลังจะเกิดขึ้น

ซึ่งการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ยังแตกต่างจากในอดีต เพราะรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นนี้เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ทำให้การบริหารจัดการยากยิ่งขึ้น

เสียงทุกเสียง แม้กระทั่งพรรคเล็ก 1 เสียงกลายเป็นเสียงที่ดัง เพราะสามารถชี้ขาดความเป็นความตายของรัฐบาลได้ทุกขณะ

คนที่จะมาเป็นผู้นำ ซึ่งก็ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าน่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จะมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ในการควบคุมรัฐนาวา

ไม่ใช่เพียงอำนาจเท่านั้น การดำรงเพื่อน พี่ น้อง ซึ่งเป็นเลือดเนื้อ หรือโควต้าของ คสช. ให้อยู่ใน ครม.ต่อไป จะได้มากน้อยเพียงใด

เพราะขนาดรัฐนาวายังไม่ออกจากท่า หัวใจหลักของ คสช.คือ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ยังถูกจับเขย่าอย่างไม่เกรงใจเสียแล้ว

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องขับเคลื่อนจริงๆ แรงกดดันคงจะหนักหน่วงมากมายมหาศาล เพราะการเบียดชิงเก้าอี้รัฐมนตรีย่อมเป็นไปอย่างดุเดือดแน่

 

น่าสนใจมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงอำนาจ และดำรงความเด็ดขาดในการปกป้องเพื่อน พี่ น้อง เอาไว้ได้อย่างไร

และหากต้องสูญเสีย จะต้องสูญเสียใคร

เหล่านี้ล้วนเป็นภาระอันหนักอึ้ง และเป็นปมเงื่อนที่จะต้องแก้ไข

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.จะแสดงให้เห็นการปรับตัว และยืดหยุ่นต่อการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ก็เป็นภาวะที่ คสช.มีอำนาจเต็มมือ

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ คสช.ก็จะต้องสลายตัวลง ทำให้องค์กรค้ำยันไม่มี

การจะคาดหวังถึงกองทัพ ก็คงออกมาแสดงอำนาจ หรือพลังได้อย่างไม่เต็มที่หรือประเจิดประเจ้อมากนักไม่ได้ เพราะนี่อยู่ในช่วงประชาธิปไตย มิใช่ช่วงรัฐประหาร

ภาวะการเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังแกร่งกล้าเหมือนเดิมหรือไม่ ยังน่าสงสัย

มิพักยังต้องพูดถึงอีกว่า ยังมีบารมีมากเพียงพอที่จะปกป้องเพื่อน พี่ น้อง คสช. เพื่อที่จะสืบทอดอำนาจอย่างที่คาดหวังได้หรือไม่

หรือจากนี้ จะเป็นเพียงหุ่นเชิดเซื่องๆ ของพรรคการเมือง ที่จะกำหนดให้ก้าวเดินไปทางไหนก็ได้เท่านั้น!