ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมต้องเถลิงพระนามใหม่ หลังสิ้นพระชนม์?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

การเถลิงพระนามใหม่หลังการสิ้นพระชนม์ (posthumous name) ของกษัตริย์ เป็นธรรมเนียมพื้นเมืองของอุษาคเนย์มาแต่โบราณ

มีหลักฐานทั้งในราชสำนักขอมโบราณ ตัวอย่างที่คุ้นกันดีก็เช่น พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะกลับไปรวมเข้ากับพระวิษณุ ในรูปพระวิษณุ อันเป็นรูปเคารพประธาน ของปราสาทนครวัด (ที่พระองค์เป็นผู้สร้างขึ้นเอง) ภายใต้ชื่อ “บรมวิษณุโลก”

และชื่อบรมวิษณุโลกเอง ก็คือชื่อดั้งเดิมตามจารึกของปราสาทนครวัดนั่นแหละครับ

เมื่อพิจารณาในแง่มุมอย่างนี้แล้ว การเถลิงพระนามใหม่ให้กับกษัตริย์หลังสิ้นพระชนม์ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำกันเพียงเพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณของกษัตริย์ แต่เป็นเรื่องเชิงพิธีกรรม ที่ซับซ้อนต่างหาก

 

ในอินเดียไม่มีธรรมเนียมอย่างนี้ เพราะถึงในอินเดียกษัตริย์จะถูกยกฐานะให้เป็นเทวดาได้ แต่ก็ไม่ใช่ร่างอวรตารของพระนารายณ์ (องค์เดียวกับพระวิษณุ) พระภาคแยกของพระอิศวร (คือพระศิวะ) หรือจะเป็นเทพเจ้าองค์ไหนๆ

เป็นแค่เพียงเทวดาอีกหนึ่งองค์ในจักรวาลที่เต็มไปด้วยหมู่มวลเทวดา หรือเทพเจ้าเท่านั้นเอง

ลักษณะอย่างนี้ผิดกับในอุษาคเนย์ ที่แต่เดิมมีความเชื่อพื้นเมืองเรื่อง “ผี” คือพลังงานของบรรพชน ที่สามารถให้คุณ ให้โทษกับผู้คนได้ และใครคนสำคัญในสังคม โดยเฉพาะผู้นำคือ กษัตริย์ หรือหมอผี

เมื่อเสียชีวิตไปก็จะกลับไปรวมเข้ากับพลังงานของบรรพชนนั้น มาให้คุณ ให้โทษกับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้น ถึงต้องเซ่นให้ดี และต้องพลีให้ถูก

และเมื่อได้รับเอาศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู จากชมพูทวีปเข้ามาก็ได้ผสมผสานเอาแนวคิดอย่างนี้เข้ากันกับ เทพเจ้าในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาใหม่

พลังงานของบรรพชนก็เลยกลายรูปไปเป็นพระนารายณ์ พระอิศวร หรือพระพุทธเจ้า สุดแท้แต่กษัตริย์พระองค์นั้นจะทรงเลือกนับถือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดเป็นการพิเศษ

ในหนังสือเก่าแก่เล่มสำคัญจากทางฟากตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 เศษ ที่ชื่อว่า “นครเกียรตาคม” กล่าวถึงพิธีสำคัญพิธีหนึ่ง ที่จะต้องจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงกษัตริย์ที่ได้สิ้นพระชนม์ไป แล้วได้รวมเข้ากับเทพเจ้าผ่านรูปประติมากรรมประธานภายในอาคารศาสนสถาน หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว 12 ปี สำหรับให้เป็นหลักประกันว่าลูกหลาน (ซึ่งหมายถึงเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย รวมถึงกษัตริย์ผู้ครองราชย์ต่อมาด้วย) จะสมบูรณ์พูนสุข

พิธีดังกล่าวมีชื่อเรียกยากๆ ในหนังเก่าเล่มนั้นว่า “ศราธะ” ซึ่งก็คือคำเดียวกับคำว่า “สารท” ของเรานั่นแหละครับ

 

ชวาเรียกอาคารศาสนสถานว่า “จันทิ” ซึ่งมีผู้ให้เหตุผลว่ามาจากคำว่า จัณฑี เทพีแห่งความตาย โดยจันทิในชวามีความเกี่ยวข้องกับความตายเสียเป็นส่วนใหญ่

หนึ่งในตัวอย่างที่มีอยู่มากมายก็เช่น จันทิจาโก ที่ตามประวัติในหนังสือนครเกียรตาคมเล่มเดียวกันนี้ระบุว่า สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีศราทธะของพระเจ้าวิษณุวรรธนะ กษัตริย์ลำดับที่สี่แห่งราชวงศ์สิงหัดส่าหรี เมื่อปี พ.ศ.1823

จันทิเหล่านี้จึงมีหน้าที่ไม่ต่างอะไรไปจากปราสาทขอมโบราณ ที่สร้างขึ้นตามลัทธิเทวราช อย่างเช่น ปราสาทนครวัด คือเป็นที่หลอมรวมดวงพระวิญญาณของกษัตริย์เข้ากับเทพเจ้า แล้วสถิตเป็นมิ่งขวัญให้ลูกหลานต้องเซ่นให้ดี ต้องพลีให้ถูก ตามอย่างความคิดพื้นเมืองดั้งเดิมเรื่องพลังงานของบรรพชน

ที่สำคัญก็คือ ในชวาเองก็มีหลักฐานการใช้ชื่อหลังความตาย ตัวอย่างเช่น ในหนังสือปาราราตอน (Pararaton) ที่เขียนขึ้นในช่วงใกล้กันกับหนังสือนครเกียรตาคม ได้ระบุชื่อพระเจ้าฮาหยัม วูรุค (Hayam Wuruk) หลังสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.1932 ในชื่อ เวกาส อิง สุกะ (Wekas-ing-Suka)

แถมธรรมเนียมเช่นนี้ยังคงมีใช้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งสมัยที่ศาสนาอิสลามเข้ามามีบทบาทในชวาแล้วด้วยอีกต่างหาก ดังปรากฏว่า สุลต่านอากุง (Agung) แห่งอาณาจักรมะตะราม (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2144-2156) เป็นที่รู้จักกันในภายหลัง ด้วยพระนามที่ใช้หลังจากสิ้นพระชนม์ว่า เซดา อิง กรับตัก (Seda-ing-Kraptak) เป็นต้น

นอกเหนือจากรูปเคารพภายในปราสาท หรือจันทิโบราณเหล่านั้นแล้ว พระนามหลังสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ จึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงดวงพระวิญญาณของพระองค์เข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยนั่นเอง

 

ในจีนก็มีธรรมเนียมการเถลิงพระนามใหม่ให้กับพระจักรพรรดิหลังสิ้นพระชนม์เช่นกัน แถมธรรมเนียมนี้ยังถูกส่งทอดไปให้ราชสำนักข้างเคียงที่รับแบบแผนจากจีนมาให้เพียบอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น และรวมไปถึงเวียดนาม

จีนเรียกชื่อหลังความตายแบบนี้ว่า “เมี่ยวเฮ่า” ซึ่งมักจะถูกอธิบายว่า เป็นการฉลองหรือสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระจักรพรรดิที่สิ้นพระชนม์ไป เพราะพระนามเหล่านี้มักจะตั้งขึ้นตามพระปรีชาสามารถเฉพาะพระองค์ ของพระจักรพรรดิแต่ละพระองค์เป็นรายไป

อย่างไรก็ตาม ปราชญ์ทางด้านจีนศึกษาอย่าง อ.ถาวร สิกขโกศล เคยอธิบายเอาไว้ว่า คำว่า “เมี่ยวเฮ่า” นั้นแปลตรงตัวว่า “พระเทพบิดร” ซึ่งก็คือ “ผีบรรพชน” ที่ถูกผูกขึ้นด้วยคำราชาศัพท์นั่นแหละครับ

ผมไม่แน่ใจนักว่า แนวคิดเรื่อง “เมี่ยวเฮ่า” ของจีน จะมีอิทธิพลมาถึงราชสำนักโบราณในอุษาคเนย์อื่นนอกเนือจากเวียดนามด้วยหรือเปล่า?

แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์เองก็มี “ปราสาทพระเทพบิดร” ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2398 โดยรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่ข้างอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วมรกต

ภายในปราสาทแห่งนี้ก็ใช้สำหรับประดิษฐานประติมากรรมรูปบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

แต่ก็ต้องระลึกไว้ด้วยว่า เดิมเมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างปราสาทพระเทพบิดรขึ้นมานั้น ปราสาทองค์นี้มีชื่อว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” โดยมีประวัติเล่าว่า รัชกาลที่ 4 ทรงหมายพระทัยที่จะสร้างสำหรับใช้ประดิษฐานพระแก้วมรกต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้น

จนกระทั่งมีการบูรณะซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ.2446 ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงค่อยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ปราสาทพระเทพบิดร และค่อยมีการอัญเชิญพระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์มาไว้ที่ปราสาทองค์นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 พร้อมๆ กับที่กำหนดให้วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันจักรี” ตั้งแต่ พ.ศ.2461 เป็นต้นมา โดยจะจัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปในวันจักรีของทุกปี

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดรขึ้นอีกในวันฉัตรมงคล (คือวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์) รวมถึงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และวันสำคัญอื่นๆ ในบางโอกาส

แต่พระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดรก็ไม่ใช่เพียงร่องรอยเดียวของความเชื่อทำนองนี้ ในยุครัตนโกสินทร์หรอกนะครับ

หลักฐานที่สำคัญก็คือพระนามของรัชกาลที่ 1 คือ “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ของรัชกาลที่ 2 นั้น ไม่ได้เป็นชื่อพระนามในสมัยของพระองค์เองเลยสักนิด แต่เป็นพระนามที่รัชกาลที่ 3 ทรงถวายให้กับพระพุทธรูปทรงเครื่อง 2 องค์ในอุโบสถวัดพระแก้วมรกตนี่แหละ ในทำนองที่ว่า เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ให้กับรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

(เมื่อแรกสถาปนาพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ แต่เดิมองค์หนึ่งมีชื่อว่า “สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุราลัย” แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น “สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” และใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน)

ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมา จึงต้องมีการเฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ให้กับในหลวง รัชกาลที่ 9 เพราะนี่คือร่องรอยของความผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบ ผี-พรามหณ์-พุทธ ในอุษาคเนย์