ธง “ปิยบุตร” รีไทร์การเมืองอายุ 55 ยอมเสี่ยงสู้ คสช.ไม่หนีออกนอกประเทศ

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” สลัดมาดนักวิชาการนิติศาสตร์ ทิ้งกระดานเล็กเชอร์ที่คุ้นชินมา 16 ปี พกอุดมการณ์ที่สั่งสมจากรั้วมหาวิทยาลัย กระโจนเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้ง ทำภารกิจ “เปลี่ยนแปลงการเมือง”

หลังทำงานการเมืองได้เพียง 1 ปี พรรคอนาคตใหม่ ที่ “ปิยบุตร” รับหน้าที่เป็น “เลขาธิการ” กลายเป็นพรรคอันดับ 3 สร้างปรากฏการณ์ #futurista กวาดผู้แทนราษฎรกว่า 80 คน ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ แบบหักปากกาเซียนการเมือง

แต่สิ่งที่มาเร็วก่อนกำหนดคือคดีความ ทั้งพรรคทั้งคนโดนกันถ้วนหน้า ประหนึ่งเกมเตะสกัดดาวรุ่ง

เฉพาะ “ปิยบุตร” โดนไป 2 ข้อหา 1.หมิ่นศาลจากการอ่านแถลงการณ์พรรคอนาคตใหม่ต่อคำพิพากษายุบพรรคไทยรักษาชาติ 2.นำเข้าข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

โดยมีคู่กรณีคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ปิยบุตร” บอกว่า “สอนหนังสือมา 16 ปี วิจารณ์คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง ถ้าคำพิพากษาไม่ถูกหลัก ยังไม่เคยเป็นผู้ต้องหา แต่หลังจากเป็นนักการเมืองได้ 1 ปี ต้องพิมพ์นิ้วมือ 10 นิ้ว เป็นผู้ต้องหาเต็มตัว”

“คาดการณ์อยู่แล้ว ช้า…เร็วต้องโดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่นำเสนอแล้วไปเผชิญหน้ากับ คสช.ที่ครองอำนาจอยู่”

เขาบอกว่าสู้กับ คสช.ยอมรับว่าเสี่ยง แต่ไม่กลัว…

“ถ้าเรากลัวกังวลตั้งแต่แรกก็เป็นนักวิชาการอย่างเดิมไม่ต้องออกมา สิ่งที่ผมพูดเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ ถ้าผมเป็นนักวิชาการผมไม่โดนอะไรหรอก แต่พอเป็นนักการเมืองก็โดนทันที แต่อย่างน้อยที่สุดการเข้ามา take a risk เผชิญหน้าความเสี่ยง มันแลกกับอะไรบางอย่างก็คุ้ม”

“ง่ายที่สุดคนรู้เรื่องกฎหมายความผิดการหมิ่นศาล แค่นี้ก็คุ้มแล้ว… ถือโอกาส educate (สอน) คนไปเลยว่ากฎหมายดูหมิ่นศาลเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงไหนทำให้แตกต่าง เพราะที่ผ่านมานักการเมืองโดนคดีเขาไม่มานั่งเล็กเชอร์กฎหมายว่าดูหมิ่นศาลคืออะไร”

“ปิยบุตร” บอกเหตุผลที่ยอมเสี่ยงเพื่อ “เปลี่ยน” การเมือง เพราะชอบการเมืองตั้งแต่เด็ก จำชื่อ ส.ส.ได้ตั้งแต่เด็ก แต่วันหนึ่งคิดว่าการเมืองไทยที่ผ่านมาเหมือนมวยปล้ำ มีฝ่ายธรรมะ ฝ่ายอธรรม คนนั้นก็เชียร์คนนั้น คนนี้ก็เชียร์คนนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ

“ผมจึงเป็นนักวิชาการเผื่อผลักดันประเด็นความคิด แต่เวลาใดก็ตามที่เป็นนักวิชาการแล้วคิด อยากเสนอ แต่ความคิดที่เสนอกลับไม่ได้ทำ และหาพรรคการเมืองที่ผลักดันไม่ได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็มาคิดว่าจะต้องทำเอง จึงตัดสินใจมาทำ”

“โลกการเมืองที่เจอทุกวันนี้ไม่ต่างกับที่คิด การเมืองไทยภาพเป็นอย่างไรทุกคนทราบดี เข้ามาแล้วต้องเจออะไร เพียงแต่โลกการเมืองที่เราทราบดีอยู่แล้ว เราอยากจะเปลี่ยนมันโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นแบบนี้ก็เตรียมรับความเสี่ยงที่จะเข้ามาเปลี่ยน โลกการเมืองที่เราว่ามันไม่ดี แต่เราจะทำให้มันดี เข้ามาอยู่กับมันเพื่อจะเปลี่ยนมัน”

แม้ว่า “อนาคตใหม่” ได้เสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้ง 6.2 ล้านคะแนน แต่เมื่อ “ธง” ของ “อนาคตใหม่” ต้องการล้างมรดกคณะรัฐประหาร แก้รัฐธรรมนูญ ปะทะกับเจ้าของอำนาจ คสช.และผู้เห็นแย้งกับแนวทางอนาคตใหม่

“ปิยบุตร” อยากให้คิดใหม่ว่า อย่าคิดว่าอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาแล้วหัวรุนแรงจะล้างนั่น ลบนู่น เปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่ อนค.นำเสนอทั้งหมดเป็นเรื่องปกติ ถามง่ายๆ ว่า ถ้าเชื่อว่าสังคมนี้เป็นประชาธิปไตย จะเอาทหารมาอยู่เหนือการเมือง เหนือรัฐบาลพลเรือนไหม เอาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไหม เอาอำนาจรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางไหม คนที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยก็ไม่เอาเรื่องเหล่านี้ สิ่งที่ อนค.เสนอเป็นเรื่องปกติในทางสังคม เพียงแต่เราอยู่กับความผิดปกติจนคุ้นชิน และวันหนึ่งคนที่ออกมานำเสนอว่าจะให้กลับมาเป็นปกติ กลายเป็นว่าสิ่งที่เสนอผิดปกติ รุนแรงเกินไป

“ผมอยากให้มองมุมกลับด้วยซ้ำ ฝ่ายที่ต่อต้าน อนค.แล้วบอกว่าหัวรุนแรง คนคนนั้นก็หัวรุนแรงอีกแบบหนึ่ง จึงมองเรื่องปกติทางการเมือง มองเรื่องการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การกระจายอำนาจ ปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยสอดคล้องกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องรุนแรง ก็เพราะอยู่ในขั้วที่รุนแรงอีกด้านหนึ่ง”

“แน่นอน เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจความคิดกับสังคม ผมเชื่อว่าถ้านั่งคุยกันจริงๆ เชื่อว่าคุยกันได้ สิ่งที่ อนค.นำเสนอ ก็คืออนาคตของเพื่อนร่วมชาติ ไม่ว่าคิดแบบไหนก็ตามก็คือเพื่อนร่วมชาติ”

ขณะเดียวกัน “ปิยบุตร” ต้องไปหาภรรยาที่ฝรั่งเศสอยู่บ่อยๆ จนเกิดข่าวลือว่าอาจไม่กลับมาเมืองไทย แต่ไอเดียนี้ไม่อยู่ในสมองของพ่อบ้านอนาคตใหม่

“มีเพลงฝรั่งเศสเพลงหนึ่ง I have two love มีรัก 2 สิ่ง รักบ้านเกิดเขาด้วยและรักปารีสด้วย ผมไปอยู่ที่ฝรั่งเศสก็ชอบบรรยากาศและชีวิตที่นู่น แต่การที่เป็นคนไทยจะตัดขาดไปเลยไม่ได้ และการเมืองเป็นแบบนี้ เราคิดว่าเรามีศักยภาพที่จะเปลี่ยนอะไรได้ก็อยากเข้ามาทำ”

“พอตัดสินใจตั้งพรรคการเมือง เดินหน้าเปลี่ยนแปลงการเมืองแล้ว ยอมรับว่าหลังการรัฐประหาร 2557 หงุดหงิดกับสังคมไทย และยิ่งแพ้ประชามติยิ่งหงุดหงิดมาก เป็นไปได้ยังไงแพ้ประชามติ บางทีต้องระบายออก วันหนึ่งเรานั่งคิดว่า ถ้ามันดิ่งจนถึงที่สุดโดยไม่ทำอะไรเลย หนีไปก็ได้ แล้วจะเสียใจหรือเปล่านะ”

“แต่ผมคิดตรงข้าม…ถ้าอย่างนี้มาทำเองสิ พอมาทำแล้วเดินหน้า งานนี้ไม่มีถอย เดินหน้าทำให้สำเร็จ ได้แค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่งแต่ต้องทำเต็มที่ และความคาดหวังของสมาชิก ของประชาชนเริ่มมีมากขึ้น เราต้องเดินหน้า ทั้งๆ ที่หลายคนว่าผมโพสต์แต่ละอย่างไม่รักประเทศบ้างเลย เอาเข้าจริงหลายเรื่องผมน่าจะมีโอกาสออกจากประเทศนี้ได้ง่ายกว่าคนอื่นที่สุด แต่ผมก็ตัดสินใจอยู่ และทำมัน”

“ในขณะเดียวกันคนที่วิจารณ์ผมอยากที่จะไปอยู่ที่นู่นที่นี่เต็มไปหมด ชอบมากเลย ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเต็มไปหมด แล้วมาด่าผมว่าไม่รักชาติ แต่ผมคิดว่าต้องอยู่และต้องทำให้ดีที่สุด”

สิ่งที่ประโลมหัวใจ “ปิยบุตร” ในยามที่มรสุมรุมเร้าคือ การอ่านหนังสือ และได้คุยกับภรรยา

“ผมคุยกับภรรยาคุยได้ 3 นาที 5 นาที เขาก็บอกให้ลุย เขาบอกว่านักวิชาการกลับไปเป็นได้ตลอด แต่ห้วงเวลาทางการเมืองจังหวะที่ได้ไม่ได้มาบ่อยๆ สมมุติผมเริ่มตอนอายุ 55 อาจไม่เหมือนตอนนี้แล้ว”

“จังหวะทางการเมืองมาแล้วมาเลย ไม่อย่างนั้นก็หลุดเลย แต่นักวิชาการอยู่กับเราตลอดเวลา ตราบใดที่มือยังเขียนได้ พิมพ์ได้ ตาไม่บอด สมองยังทำงานได้ จำได้ 60-70 ยังได้”

“สิ่งหนึ่งที่พยายามทำเวลาท้อ สิ่งที่จะชุบชีวิตได้คือการอ่านหนังสือวิชาการ เป็นวิธีที่ประหลาด เวลาอ่านก็อยากให้เปลี่ยน ดีขึ้น แล้วก็กลับมาทำใหม่”

“ปิยบุตร” บอกว่า อายุ 55 ปี ถือว่า “ชราทางการเมือง” แล้ว ควรเปิดให้คนรุ่นใหม่ 30-40 มาทำต่อ

เขาเชื่อว่าตอนอายุ 55 การเมืองไทยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้แล้ว…