ในประเทศ : วัดพลังศึกชิง หน.ปชป.คนที่ 9 กับ “มิชชั่น” รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

ศึกชิงหัวหน้าพรรคเก่าแก่ที่อยู่ในสารบบพรรคการเมืองถึง 73 ปีอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” คนที่ 9 ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

โดยคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ประธาน วางกำหนดการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 ไว้วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้

การโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ครั้งนี้จะไม่มีการทำไพรมารีโหวต

แต่จะให้สมาชิกพรรค ปชป.ทั้ง 307 คน เป็นผู้ชี้ขาด

โดยแบ่งน้ำหนักคะแนนโหวตเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 กลุ่ม ส.ส.ชุดใหม่ที่ กกต.รับรองผลอยู่ 52 เสียง จะคิดน้ำหนักการโหวตเป็น 70%

กลุ่มที่ 2 คืออดีต ส.ส.ของพรรคทุกสมัยที่ยังเป็นสมาชิกพรรค อดีตหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรี อดีตคณะกรมการบริหารพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ กลุ่มสาขาพรรค และตัวแทนจังหวัด สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค

รวมทั้งกลุ่มตัวแทนสมาชิกพรรคที่มีอยู่ 25 คน

โดยผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีการจับสลากจากผู้สมัคร ส.ส.ชุดล่าสุดของพรรค คิดน้ำหนักการโหวตเป็น 30%

 

แคนดิเดตที่เปิดหน้าพร้อมชิงหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 นั้นได้แก่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ที่มี “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เป็น “แบ๊กอัพ” คนสำคัญ

พร้อมกับมีแนวร่วมอย่างสมาชิกพรรคกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีจุดยืนการไม่เข้าร่วมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งเป็นนายกฯ อีกสมัย

ในส่วนของ “จุรินทร์” แม้จะยังไม่แสดงท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. และจะขอเปิดชื่อเลขาธิการพรรคในเวลาที่เหมาะสม

แต่คนในพรรค ปชป.พอจะเดาทิศทางกันได้ว่า คงต้องฟังคำตอบสุดท้ายจาก “นายหัวชวน” ว่าจะเดินไปทางซ้ายหรือขวา

 

ส่วนคู่ชิงหัวหน้าพรรค ปชป.อีกคนอย่าง “กรณ์ จาติกวณิช” รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอดีตหัวหน้า “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.

เริ่มเดินสายขอคะแนนเสียงสมาชิกพรรคมากขึ้น พร้อมกับเปิดตัว “ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์” ว่าที่ ส.ส.ตาก ปชป. เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคคู่ใจ โดย “ชัยวุฒิ” มีคอนเน็กชั่นที่ดีกับว่าที่ ส.ส. และอดีต ส.ส.ในสายของกลุ่ม กปปส. ทั้งลุงกำนัน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) “ถาวร เสนเนียม” ว่าที่ ส.ส.สงขลา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก

พร้อมกับจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนว่า ไม่อยากนำพรรค ปชป.ไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ แต่จะเลือกแนวให้พรรค ปชป.สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้

 

ขณะที่อีกหนึ่งผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคสีฟ้า ดีกรี “หล่อเล็ก” “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่าฯ กทม.สองสมัย ที่มีจุดแข็งในภาพของนักบริหาร และมี “ดร.ซุป” “ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เป็นพี่เลี้ยงให้เข้าชิงหัวหน้าพรรค ปชป.ครั้งนี้ กับภารกิจที่หวังกอบกู้และฟื้นฟูพรรค ปชป. หลังจากพ่ายศึกเลือกตั้ง ส.ส.อย่างหมดรูป ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

ซึ่ง “อภิรักษ์” ยังไม่มีการเปิดตัว “เลขาธิการพรรค” คู่ใจ โดยจะขอเปิดตัวทีมงานในการเข้ามาชิงหัวหน้าพรรค ปชป. หลังวันที่ 9 พฤษภาคมนี้

ขณะที่จุดยืนทางการเมืองของการนำพาพรรค ปชป. ยังคงยึดแนวเดียวกับทีมของนายจุรินทร์คือ ให้ที่ประชุมหัวหน้าพรรคคนใหม่และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นผู้ชี้ขาด

 

ส่วนอีกหนึ่งชื่อผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรค ปชป. แม้เจ้าตัวจะยังไม่เปิดหน้าชัดเจน แต่มีแรงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคและอดีต ส.ส.ของพรรค นั่นคือ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มของ “ถาวร เสนเนียม” แม้จะยังไม่เปิดตัวแม่บ้านพรรคที่ชัดเจน

แต่จุดยืนในทางการเมืองของพรรค ปชป. ภายหลังการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่นั้น “พีระพันธุ์” มองว่า พรรคการเมืองในระบบรัฐสภาจะมีแค่ 2 ฝ่าย คือ รัฐบาลกับฝ่ายค้าน จะไม่มีทางเลือกที่ 3 คือ “ฝ่ายค้านอิสระ” ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นพวก “เคว้ง” ไม่มีสารบบของการเมืองรองรับ

แน่นอน แม้ในเวลานี้จะมีผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรค ปชป. เบื้องต้นมีเพียงแค่ 4 คน ซึ่งโหวตเตอร์ทั้ง 307 คน จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้ใครมานั่งเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ โดยภารกิจข้อใหญ่และสำคัญ ที่หัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และ ส.ส.ชุดใหม่ของพรรค จะต้องหารือให้ได้ข้อสรุป

นั่นคือ การจะเข้าร่วมรัฐบาลกับ “พรรค พปชร.” หรือเป็น “ฝ่ายค้าน”

 

ซึ่งความเห็นของสมาชิกพรรค ปชป.ในเวลานี้แตกออกเป็น 2 ทาง คือร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. หรือเป็นฝ่ายค้าน โดยฝ่ายที่เห็นว่าควรร่วมรัฐบาลยกเหตุผลว่าเพื่อจะได้นำนโยบายที่สำคัญๆ ของพรรค ปชป. ไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้บ้าง

หากไม่เข้าร่วมรัฐบาลและปล่อยให้พรรค พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นำเสนอนโยบายที่โดนใจประชาชนไปเรื่อยๆ ผลงานของพรรค ปชป.จะยิ่งถูกกลืนไปจากสารบบการเมือง ประชาชนจับต้องอะไรไม่ได้ โอกาสที่จะหวนคืนกลับมาเป็นพรรคใหญ่ในทางการเมืองจะยิ่งยากลำบากขึ้น

ขณะที่ในฝั่งที่เห็นว่าพรรค ปชป.ควรเป็นฝ่ายค้าน ไม่ร่วมสนับสนุนแนวทางการสืบทอดอำนาจให้ “บิ๊กตู่” นั่งเป็นนายกฯ ในนามของพรรค พปชร. มองว่า ด้วยการรวมเสียงแข่งตั้งรัฐบาลของพรรค พปชร. กับฝั่งของพรรคเพื่อไทย (พท.) และ 7 พรรคพันธมิตร เสียงของ ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในสภาวะปริ่มน้ำด้วยกันทั้งคู่ แม้พรรค พปชร.จะได้พรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลก็ยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอยู่ดี

โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ได้ครบเทอม เกจิการเมืองฟันธงตรงกันว่า “รอดยาก” มีความเสี่ยงที่จะถูก “น็อก” ต้องกลับมาเลือกตั้งกันใหม่ในระยะเวลาอันใกล้

 

อีกทั้งการมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในการยึดหลักการประชาธิปไตย ไม่ฝักใฝ่กับแนวทางการสืบทอดอำนาจ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง สู้นำเวลาไปลงพื้นที่ ฟื้นฟูพรรค ดึงฐานเสียงเดิมที่เสียไป ให้กลับมาเลือกพรรค ปชป.เหมือนเดิมจะดีกว่า

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มี 50 ที่นั่ง แต่พรรค ปชป.ได้มาเพียง 22 เสียง ถูกพรรคคู่แข่งเจาะพื้นที่ไปได้ถึง 28 เสียง รวมทั้งพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่พรรค ปชป.เคยเป็นแชมป์เก่า แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดถึงกับ “สูญพันธุ์” ไม่ได้ ส.ส.เลย

แต่ดูจากการวางหลักเกณฑ์การโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9 ที่ให้น้ำหนักคะแนนของ 52 ส.ส.ใหม่ถึง 70% หากแคนดิเดตผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคคนใดล็อบบี้เสียง ส.ส.ใหม่ให้มาสนับสนุนตนเองได้มากที่สุด

ย่อมจะเป็นคำตอบสุดท้ายในการเลือกอนาคตทางการเมืองของ “พรรค ปชป.”