ต่างประเทศอินโดจีน : ภารกิจของโจโกวีที่ต้องแก้ด่วนที่สุด

เลือกตั้งที่อินโดนีเซียจบไปแล้ว และแม้ว่าจะยังไม่มีผลเบ็ดเสร็จออกมาเพราะคู่แข่งคัดค้าน แต่ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า โจโก วิโดโด ก็จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย รอแค่การยืนยันอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง

ว่ากันว่าเลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา แล้วก็เหมือนกับอีกหลายประเทศในอาเซียนและอินโดจีน ที่โฟกัสกันที่บุคลิก บารมี และเหลี่ยมคูทางการเมืองกันมากกว่านโยบายและประเด็นปัญหา

หลายเดือนที่ผ่านมา เราถึงเพียงแค่ได้เห็นกันว่า “โจโกวี” เต้นกับวง “เค-ป๊อป” ได้ดีแค่ไหน ลงทุนแต่งองค์ทรงเครื่องขี่ “มอ”ไซค์” เรื่อยไปจนถึงการประกาศตัวว่าเป็นหนึ่งในแก๊งซูเปอร์ฮีโร่ “อเวนเจอร์” รับภารกิจมาต่อสู้กับ “เทรดวอร์”

แต่เรื่องนโยบายและประเด็นปัญหาระดับคอขาดบาดตายของประเทศไม่ยักปรากฏให้เห็นกัน

ปล่อยไว้ให้เป็นภาระของประธานาธิบดีใหม่ (หน้าเดิม) เอาไว้ขบคิดแก้ไขหลังวันเลือกตั้งกันไปตามเพลง

 

นักวิชาการหลายคน รวมทั้งอดัม ทริกก์ จากสำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจเอเชียของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) บอกว่า มองผิวเผินเศรษฐกิจอินโดนีเซียในยามนี้พื้นฐานดูดีทีเดียว แต่ภายใต้คราบ “ดูดี” ที่ว่านั้น มีสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์นิยมเรียกกันว่า “ความเสี่ยง” สำคัญอยู่ด้วย

อินโดนีเซียบริหารจัดการสภาวะเศรษฐกิจโลกได้ดี เงินทุนไหลออกน้อย ตลาดหุ้นเด่นกว่าเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง อัตราการเจริญเติบโตยังมั่นคง เงินเฟ้อต่ำ อัตราว่างงานอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ การขาดดุลงบประมาณค่อยๆ ลดลง อัตราดอกเบี้ยก็ไม่สูงมากมายนัก

ปัญหาคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียนั้น เกิดจากโครงการสาธารณูปโภคภาครัฐ ที่เดิมทีตั้งเป้ากันว่าจะเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐวิสาหกิจแล้วก็ภาคเอกชน แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่ารัฐวิสาหกิจต้องแบกรับ 100 เปอร์เซ็นต์ ผลก็คือ “หนี้ภาครัฐ” ที่มีเจ้าหนี้เป็นต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกบาน

หนี้รัฐบาลก้อนโต เมื่อบวกกับหนี้สะสมในธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะบรรดาธนาคารขนาดเล็กๆ ลงมา และการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ระยะสั้นในกลุ่มธุรกิจปล่อยกู้ที่เป็น “น็อน-แบงก์” ซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการเงินกู้สูงในปี 2018 บวกกับภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุน คือภาวะ “เสี่ยง” ที่นักเศรษฐศาสตร์เป็นกังวล

ที่เป็นกังวลเพราะระบบบริหารจัดการภาวะวิกฤตของอินโดนีเซียเองยังคง “อ่อนแอ” และ “มีช่องโหว่ร้ายแรง” อยู่ในเวลานี้

ร้ายแรงถึงขนาดที่ว่า นักวิชาการบางคนได้ข้อสรุปว่า ถ้าหากโจโกวีต้องการให้เทอม 2 ของการดำรงตำแหน่งของตนเป็น “สุข” และ “สนุกสนาน” เหมือนหรือดีกว่าสมัยที่ผ่านมา ต้องจัดการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

อันที่จริงอินโดนีเซียมีกฎหมายเพื่อการนี้โดยเฉพาะ บัญญัติออกมาเมื่อปี 2016 หลังจากที่เกิดภาวะธนาคารล้มทั้งยืนขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2008 ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงและเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกเล่นงานทางกฎหมายอยู่ระนาวในเวลานี้

กฎหมายที่ว่านั้นชื่อ “กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตในระบบการเงิน” ที่ชื่อฟังดูดีมาก แต่กลับมีจุดอ่อนสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีบทบัญญัติปกป้องผู้ที่ทำหน้าที่โดยสุจริต

ผลก็คือ ไม่ว่ากลไกในกฎหมายว่าไว้อย่างไร หากเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมาจริงๆ ทุกคนก็ต้องปกป้องตัวเอง ไม่มีการตัดสินใจ จนกว่าจะมีเกราะกำบังทางการเมือง นั่นคือประธานาธิบดีเป็นคนตัดสินใจ

ปัญหาคือ ในภาวะวิกฤต ยิ่งเนิ่นช้ามากเท่าใด ยิ่งวิกฤตหนักหนาสาหัสขึ้นเท่านั้น

ปัญหาขาดสภาพคล่องสามารถกลายเป็นปัญหาล้มละลายได้ วิกฤตธนาคารอาจกลายเป็นวิกฤตค่าเงิน แล้วลามต่อไปเป็นวิกฤตตราสารหนี้ แล้วก็เป็นวิกฤตการเงินในที่สุด

ถึงตอนนั้น วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ทางการเมืองจะเกิดขึ้นตามมา

บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งสอนไว้อย่างนั้น!