ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | สืบทอดอำนาจอันตรายกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความเบื่อหน่ายพลเอกประยุทธ์เป็นข้อเท็จจริงทางอารมณ์ที่คนไทยรับรู้ทั่วกัน และต่อให้จะมีคนบางกลุ่มอยากให้พลเอกประยุทธ์สืบทอดอำนาจต่อไป ความต้องการนี้ก็ก่อตัวจากความประสงค์จะใช้พลเอกประยุทธ์กำจัดฝ่ายทักษิณหรือคนเสื้อแดงมากกว่าจะมาจากความรู้สึกว่าคนแบบนี้คือความหวังของสังคม

พูดก็พูดเถอะ เมื่อเทียบกับผู้นำที่คนนับถืออย่างพล.อ.เปรม, คุณอานันท์ และ คุณชวน พลเอกประยุทธ์มีคุณสมบัติด้อยกว่าสามอดีตนายกที่ถูกยกย่องด้านความรอบคอบ, ความรอบรู้ และความยึดมั่นในระบบรัฐสภา ไม่ต้องพูดถึงคุณทักษิณที่โดดเด่นด้านสร้างความเจริญซึ่งคุณประยุทธ์เทียบไม่ได้แม้แต่นิดเดียว

ขณะที่คุณเปรมและคุณอานันท์มีบารมีจากคุณสมบัติส่วนบุคคลจนคนนับถือแม้ในวันที่ไม่มีตำแหน่งการเมือง คุณชวนและคุณทักษิณก็มีบารมีเพราะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนยอมรับอย่างสูง ส่วนคุณประยุทธ์ไม่มีคุณสมบัติส่วนบุคคลและไม่ได้เป็นตัวแทนจนแทบไม่มีบารมีหรือเป็นที่นับถือของใครเลย

ห้าปีที่คุณประยุทธ์เป็นนายกคือห้าปีที่ประชาชนจำนนเพราะกลัวหรือเพราะหวังให้จบภารกิจบางอย่าง แต่ไม่ใช่เพราะคุณประยุทธ์เก่ง, ฉลาด , หลักการดี หรือเป็นตัวแทนคนทั้งแผ่นดิน ทันทีที่คุณประยุทธ์หยุดผิดคำพูดเรื่องเลือกตั้งโดยยอมให้เลือกตั้งในปี 2562 คนจำนวนมากจึงปีติที่จะได้เห็นประเทศเดินหน้าสักที

ภายใต้ระบอบ คสช.ที่คุณประยุทธ์สร้างขึ้นหลังจากใช้กองทัพตั้งตัวเองเป็นใหญ่ในปี 2557 การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาฯ เป็นวันที่คนไทยมีความสุขที่สุดในรอบหลายปี คนหลายล้านไปเลือกตั้งเพราะเชื่อว่าเสียงตัวเองจะผสานกับคนอื่นๆ เพื่อทำให้ประเทศมีรัฐบาลในระบบการเมืองที่ประชาชนต้องการกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สภาพที่เลือกตั้งเป็นเดือนแล้วไม่รู้ว่าใครได้เป็นรัฐบาลกำลังทำให้ประชาชนสิ้นหวังแทบทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นคือความรู้สึกว่าคุณประยุทธ์ทำทุกทางเพื่อสืบทอดอำนาจกำลังสร้างความระอาขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาเรื่องไม่ให้ธนาธรเข้าสภา, ขู่ยุบเพื่อไทย, ตัดสิทธิหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ

ถ้าการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาฯ ทำให้คนมีความหวังว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลงจากการ “เปลี่ยนผ่าน” ของผู้มีอำนาจ บรรยากาศการเมืองหลังเลือกตั้งก็คือกระบวนการซึ่ง คสช. “กระชับอำนาจ” จนโอกาสที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงมีน้อยกว่าโอกาสที่ประเทศปี 2562 จะถูกบังคับให้เป็นเหมือนปี 2557 แทบทุกประการ

คุณหญิงสุดารัตน์จากพรรคเพื่อไทยเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า คสช.ทำให้การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรม เพราะถ้าหากผลเลือกตั้งที่ประชาชนเลือกพรรคซึ่ง “ไม่เอาประยุทธ์” ถึง 20,351,186 กลับจบด้วยคุณประยุทธ์เป็นนายกก็เท่ากับหัวหน้า คสช.ดันทุรังสืบทอดอำนาจโดยไม่สนคนที่ปฏิเสธตัวเองในการเลือกตั้งกว่า 53%

ในสังคมที่กติกาการเมืองเป็นปกติ พรรคที่รวมเสียง ส.ส.ในสภาได้สูงสุดต้องได้ตั้งนายกและรัฐบาล แต่ในรัฐธรรมนูญที่ คสช.ตั้งสนช.ไปเขียนกฎหมายให้ คสช.ตั้งวุฒิสมาชิกเพื่อเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายก วุฒิสมาชิกทั้ง 250 ย่อมมีสภาพราวพรรคหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกโดยไม่ต้องสนเสียงส่วนใหญ่ในสภา

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้ง 24 มีนาฯ ที่โดยเนื้อหาสาระแล้วควรเป็นประตูสู่การ “เปลี่ยนผ่าน” ก็ถูก คสช. ยุ่มย่ามจนแทบไม่มีผลต่อการตั้งนายกและรัฐบาล การเลือกตั้งจึงเป็น “พิธีกรรม” เพื่อตั้งสภาเอาไว้ให้คุณประยุทธ์อ้างว่าได้เป็นนายกเพราะสภารับรอง ถึงคุณประยุทธ์จะเป็นคนเลือกสมาชิกสภา ๑ ใน ๓ ก็ตามที

ด้วยเงื่อนไขดังนี้ อำนาจประชาชนในวันที่ 24 มีนาฯ ถูก “กระชับอำนาจ” จนการเมืองหลังเลือกตั้งกลายเป็นการเมืองที่ในความเป็นจริง “แทบไม่มีการแบ่งปันอำนาจ” ระหว่าง คสช.กับประชาชนกว่า 20 ล้านที่แสดงตัวในการเลือกตั้งว่า “ไม่เอาประยุทธ์” หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกเป็นผู้แทนในสภา

สำหรับพรรคการเมืองฝ่ายที่ “ไม่เอาประยุทธ์” พฤติกรรมของ คสช.ตั้งแต่ยึดอำนาจจนหลังเลือกตั้ง 24 มีนาฯ ตั้งแต่การดำเนินคดีบุคคลและพรรค, ส่งทหารประกบในพื้นที่, อุ้มเข้าค่ายทหาร ฯลฯ คือหลักฐานว่าคุณประยุทธ์ไม่มีทางฟังพรรคการเมืองและผู้แทนปวงชนกลุ่มนี้แน่ๆ ต่อให้จะมีคนเลือกกว่า 20 ล้านก็ตาม

สำหรับพรรคกลุ่ม “เอาประยุทธ์” ซึ่งมีแค่พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังฯ ที่ประกาศจุดยืนนี้เป็นทางการ สภาพที่สองพรรคนี้มีคนลงคะแนนเลือกทั้งประเทศราว 8,849,384 ทำให้คุณประยุทธ์มีเหตุให้ฟังหรือแบ่งอำนาจกับคนกลุ่มนี้น้อยมาก เพราะถ้าเสียง 20 กว่าล้านยังไร้ค่า เสียง 8 ล้านยิ่งไม่มีค่าต้องรับฟัง

ต่อให้คุณประยุทธ์ยุคที่ใช้การเลือกตั้งเป็น “พิธีกรรม” เพื่อสืบทอดอำนาจนั้นต้องการ ส.ส.ในสภา ความเป็นจริงที่คุณประยุทธ์จะได้เป็นนายกโดย 250 ส.ว.ซึ่งตัวเองตั้งมากับมือนั้นย่อมทำให้พรรคพลังประชารัฐที่มี ส.ส.แค่ 116 ด้อยค่าในสายตาคุณประยุทธ์ไปอีกมาก ไม่ต้องพูดถึงพรรคคุณสุเทพที่มี ส.ส.แค่ 5 คน

คุณประยุทธ์ต้องการใช้ ส.ส.และพรรคการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือปกป้องไม่ให้ตัวเองถูกล้มอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรแน่ๆ แต่คุณประยุทธ์ไม่มีทางเห็นว่าจำเป็นต้องฟังพรรคที่ “เอาประยุทธ์” มากนักในเงื่อนไขที่พรรคนี้มี ส.ส.ไม่ถึงครึ่งของ 250 ส.ว.ที่คุณประยุทธ์มีส่วนตั้งไปเลือกคุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ไพ่ใบเดียวที่พรรคพลังประชารัฐจะทำให้คุณประยุทธ์ฟังตัวเองจนยอม “แบ่งปันอำนาจ” ได้แก่การรวบรวม ส.ส.จากพรรคอื่นไปหนุนคุณประยุทธ์ให้ไล่เลี่ย 250 ส.ว.มากที่สุด แต่ในเมื่อคุณประยุทธ์เป็นนายกเพราะพรรค ส.ว.ที่ตัวเองตั้งมากับมือ ความจำเป็นในการฟังพรรคเหล่านี้ก็ไม่มีทางมากนักอยู่ดี

หากคุณประยุทธ์ทำตามแผนที่มีกติการองรับตามใจชอบได้จริงๆ สภาผู้แทนจะทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนได้น้อยมาก คุณประยุทธ์ไม่ใช่คนที่จะฟังพรรคฝั่ง “ไม่เอาประยุทธ์” ที่เป็นตัวแทนคนกว่า 20 ล้านแน่ๆ ส่วนพรรคฝ่าย “เอาประยุทธ์” ก็ไม่อยู่ในฐานะจะปกป้องผลประโยชน์ประชาชนอย่างที่ควรเป็น

ไม่เพียงแต่ผลเลือกตั้งทำให้ยากจะเกิดการ “แบ่งปันอำนาจ” ระหว่างคุณประยุทธ์กับประชาชนผ่าน พรรคการเมืองและ ส.ส.ดังที่กล่าวไป คุณประยุทธ์ที่อาจได้เป็นนายกหลังเลือกตั้ง 2562 ยังอาจจรรโลงอำนาจโดยอาศัย “เครือข่าย” บุคคลกับองค์กรอิสระต่างๆ จนอาจไม่เห็นความสำคัญของการรับฟังใครเลย

โดยปกตินั้นนายกในระบบประชาธิปไตยจรรโลงอำนาจโดยวิธีแบ่งปันอำนาจเพื่อสกัดการต่อต้านรัฐบาล และถ้ายอมรับว่าองค์กรอิสระเป็นแหล่งอำนาจในการต่อต้านรัฐบาลประชาธิปไคยช่วงที่ผ่านมามากที่สุด การที่คุณประยุทธ์มีส่วนตั้งกรรมการองค์กรอิสระก็ทำให้คุณประยุทธ์มีอิทธิพลเหนือคนเหล่านี้ได้โดยตรง

จากประสบการณ์ของประเทศช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจากการเลือกตั้งทุกชุด (ยกเว้นคุณอภิสิทธิ์) ล้วนสิ้นสภาพหรือเผชิญปัญหาจากองค์กรอิสระอย่าง กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ปปช. การยึดอำนาจทำให้กรรมการองค์กรเหล่านี้มาจากคุณประยุทธ์หรือ สนช. จนยากจะเห็นการตรวจสอบคุณประยุทธ์จริงๆ

ถ้าถือว่าหนึ่งในปัญหาของ “ระบอบทักษิณ” คือผู้นำการเมืองแทรกแซงองค์กรอิสระจนการควบคุมตรวจสบถูกทำลาย ประเทศไทยหลังปี 2557 ก็เลวร้ายกว่า “ระบอบทักษิณ” ในแง่ที่หัวหน้า คสช.ตั้งองค์กรอิสระผ่าน สนช.จนคนกลุ่มนี้ไม่มีทางควบคุมคุณประยุทธ์แน่ๆ ไม่ว่าจะในฐานะนายกในระบบไหนก็ตาม

หากคุณประยุทธ์บรรลุผลในการผลักดันตัวเองเป็นนายกโดยใช้การเลือกตั้งเป็น “พิธีกรรม” อย่างที่แคนดิเดทนายกพรรคเพื่อไทยระบุ คุณประยุทธ์ก็จะเป็นนายกคนแรกที่บริหารประเทศกลางองค์กรอิสระที่ตัวเองมีส่วนเลือกจนคำว่า “ระบอบทักษิณ” และการ “แทรกแซงองค์กรอิสระ” กลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย

ผู้มีสติสัมปชัญญะแบบปกติทุกคนรู้ว่าอำนาจเด็ดขาดนั้นอันตราย และยิ่งให้ใครบางคนมีอำนาจคนเดียวมากเกินไป โอกาสที่บุคคลนั้นจะฉ้อฉลอำนาจเพื่อตัวเองและพวกพ้องยิ่งรุนแรงมากที่สุด ระบบการเมืองที่ดีจึงได้แก่ระบบที่ไม่มีใครใหญ่เพียงรายเดียว เพราะนั่นคือประตูสู่การโกงและฉ้อฉลจนสังคมทราม

ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน คุณประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับผู้นำซึ่งเป็นที่นับถือในอดีต คนยอมจำนนคุณประยุทธ์เพราะกลัวทหารหรือเพราะหวังผลบางอย่าง การมีคุณประยุทธ์เป็นนายกต่อไปจึงพาประเทศสู่ระบอบที่ไม่มีใครตรวจสอบผู้นำได้ และนั่นคือเส้นทางที่น่าวิตกของสังคมไทยและทุกสังคม