รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/ อนาคตแรงงานในไทย ยุคจักรกลสู่ยุคอัตโนมัติ AI

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

อนาคตแรงงานในไทย

ยุคจักรกลสู่ยุคอัตโนมัติ AI

 

วันแรงงานแห่งชาติ ผู้นำแรงงานมักจะยื่นข้อเสนอเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานควรจะได้รับ

แต่จะได้ผลเพียงไรเป็นเรื่องของกระบวนการผลักดันของทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ

แม้สังคมจะยกย่องว่าแรงงานเป็นผู้สร้างประเทศ และหล่อเลี้ยงให้สังคมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า

แต่หากหวนกลับมาดู จะเห็นได้ว่าแรงงานในวันนี้ ส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่สูงนัก

สวัสดิการที่ควรจะได้รับจากการทำงานและหลังจากการทำงานก็มีไม่มาก

อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการทำงานเป็นจำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ รายได้ที่ได้รับก็ยังค่อนข้างต่ำไม่พอต่อการดำรงชีพในภาวะปัจจุบัน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่แรงงานเหล่านี้จะได้รับการดูแลให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น

 

ปัจจุบันผู้ใช้แรงงานมีหนี้สินรวมเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดในรอบ 10 ปี

ซึ่งเกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีการกระจายรายได้ที่ดีพอทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจึงจำเป็นต้องก่อหนี้

ที่ผ่านมาการเพิ่มสิทธิประโยชน์อาจจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินได้บ้าง แต่ยังคงมีภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง สะท้อนว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต

ตลอดหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเดิม ไปสู่ยุคที่นำนวัตกรรมใหม่ๆ และการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

แต่สิ่งที่ถูกตั้งคำถามคือ ประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องทรัพยากรบุคคลและแรงงาน ที่จะสนับสนุนการพัฒนาตามนโยบายและอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ยังต้องติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี

โดยเฉพาะการจ้างงานที่มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทดแทนคนงานในกระบวนการผลิตมากขึ้นหรืองานบริการ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทน

ขณะที่มีรูปแบบการทำงานใหม่และหลากหลายอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะการทำอาชีพอิสระการรับจ้างผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการอบรมพัฒนาฝีมือทักษะแรงงาน และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

 

แนวโน้มที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ AI IoT (Internet of Things) ที่ใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตสินค้าบริการและในชีวิตประจำวันว่าจะมาทดแทนหรือถึงขั้นยึดครองตลาดแรงงาน ความเสี่ยงสูงที่จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทักษะที่ใช้ในการทำงานอย่างมาก

มีหลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาในการไม่สามารถสร้างเยาวชนและคนวัยทำงานให้มีทักษะการทำงานและทักษะชีวิตที่สูงพอที่จะเผชิญการทำงานยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ดังนั้น มาตรการรับมือกับผลกระทบจาก Disruptive Technology (เทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ) ต่อแรงงาน รวมทั้งมีมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับผู้ที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เติบโตอยู่ในขณะนี้หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในระบบการศึกษาไทยให้สามารถผลิตคนคุณภาพใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ

หากเรามียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เราจะไม่เผชิญกับปัญหาวิกฤตการจ้างงานและเศรษฐกิจในอนาคต

มีการคาดการณ์โดยนักอนาคตศาสตร์ว่า ในปี ค.ศ.2030 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ตำแหน่งงานแบบเดิมในบางอาชีพหายไปไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านตำแหน่งงาน

ขณะเดียวกันก็มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่คนทำงานต้องมีทักษะใหม่ๆ

 

ในงานสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงานเรื่อง “Disruptive Technology : ผลกระทบการจ้างงาน…ทางออกอยู่ตรงไหน?” การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงแรงงานกับการเตรียมการรองรับผลกระทบจากเทคโนโลยี จากรายงานผลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เรื่อง “อาเซียนในยุคเปลี่ยนผ่าน” อนาคตตลาดงานท่ามกลางความเสี่ยงจากจักรกลอัตโนมัติ พบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในอาเซียนที่ระบบจักรกลอัตโนมัติ (AI) จะมาทดแทนแรงงานคน

เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและต้องการเพิ่มกำลังการผลิต โดยอาจมีแรงงานประมาณ 17 ล้านคนจะถูกเทคโนโลยีและระบบจักรกลเข้ามาแทนที่

และมีโอกาสเกิดกับแรงงานหญิงมากกว่าชายถึงร้อยละ 50

ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าแรงงานในหลายอาชีพจะหายไป เพราะเอไอจะมาทำหน้าที่แทนมนุษย์ และส่งผลกระทบมายังกำลังแรงงาน

การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิตอล โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยได้จัดทำนโยบายเน้นหนักของกระทรวงแรงงานประจำปีงบประมาณ 2562

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการใช้เอไอ ซึ่งถือว่ามาเร็วและแรง ดังนั้น แรงงานรุ่นใหม่ ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้และใช้งานเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี

รวมทั้งต้องมีทักษะในการปรับตัว และเติบโตได้ในโลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยการเตรียมการรองรับเพื่อพัฒนาคนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ

เพื่อเตรียมคนไทยให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเกิดขึ้นของสาขาอาชีพใหม่ๆ

ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และผลกระทบ เตรียมพร้อมรองรับการนำเทคโนโลยีที่จะเข้ามาใช้แทนกำลังคนและมีผลกระทบต่อรูปแบบการจ้างงานใหม่ในอนาคต

สิ่งที่ท้าทายคือ การพัฒนาบุคลากรให้ทันท่วงที เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมนำการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดธุรกิจและอาชีพใหม่ๆ

คนทำงานในอนาคตจึงต้องมี “ทักษะชุดใหม่” ที่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิตอล ทำให้เกิดแรงกดดันให้แรงงานต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลาหากต้องการอยู่ในตลาดแรงงานต่อไป