บทวิเคราะห์ : เศรษฐกิจไทยไปถึงขั้นสุดพิสดารแล้ว

ย่างเข้า 1 เมษายน 2562 มาจนกระทั่งผ่านวันสงกรานต์ 13-15 เมษายน มาตรการ LTV หรือการเพิ่มอัตราส่วนเงินดาวน์ซื้อบ้าน คอนโดฯ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็บังคับใช้ไปโดยเรียบร้อย

ที่มาของมาตรการ LTV ก็เนื่องมาจากสถาบันการเงินแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อรายย่อยที่อยู่อาศัยกันสูง ด้วยการให้ผู้ซื้อจ่ายเงินดาวน์ต่ำๆ เท่านั้นยังไม่พอ ยังให้สินเชื่อตกแต่ง ยังคำนวณราคาซื้อขายจากราคาตั้งขายที่ยังไม่ได้คิดส่วนลด ฯลฯ จนสุดท้าย ในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน ผู้ซื้อบ้าน คอนโดฯ ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย แถมได้เงินสดติดมือกลับบ้านอีกต่างหาก

เรียกว่า กู้แล้วได้เงินทอนกลับบ้าน

แต่พอตลาดบ้าน คอนโดฯ ถูกควบคุมเข้มงวด วิธีการปล่อยกู้แบบมีเงินทอนก็ไปโผล่ที่ตลาดรถยนต์ เพราะว่ากันว่า สินเชื่อรถยนต์นั่นกฎหมายให้อำนาจเจ้าหนี้มาก หากลูกหนี้ผิดนัดชำระ เจ้าหนี้สามารถยึดรถยนต์ที่เป็นหลักประกันได้ทันที ไม่เหมือนบ้าน คอนโดฯ กว่าจะผ่านกระบวนการศาลไปจนบังคับคดีใช้เวลาหลายปี

อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวแล้วว่า ธปท.กำลังจะเข้าไปควบคุมการปล่อยกู้สินเชื่อแบบมีแถมมีทอนในตลาดรถยนต์

แต่ยังไม่ทันที่ ธปท.จะลงมือตลาดสินเชื่อรถยนต์ ก็ปรากฏว่า สินเชื่อที่คึกคักมาแรงอีกกลุ่มหนึ่ง คือสินเชื่อบ้านแลกเงิน

 

สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับเจ้าของบ้านโดยมีบ้าน คอนโดฯ เป็นหลักประกัน

สินเชื่อเช่นนี้ความเสี่ยงต่ำมากเพราะจำนวนเงินที่ปล่อยน้อยมากเมื่อเทียบกับหลักประกัน ขณะเดียวกันผู้กู้เองก็ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เมื่อเทียบกับการกู้รายย่อยในรูปแบบอื่นๆ

อันหลังนี้ ยังไม่รู้ว่า ธปท.จะว่ายังไง

เป็นปรากฏการณ์ที่ออกจะแปลกๆ ในเศรษฐกิจการเงินไทยในยุคนี้

ด้านหนึ่ง สถาบันการเงินมีเงินสด มีสภาพคล่องล้นเหลือมาก กดดันให้ต้องหาทางปล่อยกู้ออกไปให้ได้ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินต่างรู้ดีว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ จากภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้บริโภคมีภาระหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินจึงระวังตัว

พอรู้ว่ากลุ่มธุรกิจไหนไม่ดีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใดมีความเสี่ยงก็จะปฏิเสธปล่อยกู้ทันที แต่ถ้ากลุ่มไหนไม่มีความเสียงหรือความเสี่ยงน้อย ก็จะแข่งขันกันปล่อยกู้ดุเดือดจนมี “เงินทอน” กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ขึ้นมา

อีกด้านหนึ่ง ฝั่งผู้บริโภคที่มีรายได้เพิ่มเฉลี่ยต่อปีต่ำ หรือบางกลุ่มอาชีพมีรายได้เฉลี่ยต่อปีลดลง ขณะที่ราคาสินค้าจำเป็น อาทิ บ้าน คอนโดฯ รถยนต์และอื่นๆ ขยับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคต้องกู้เงินมาซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ๆ ราคาแพง เพื่อรักษาระดับการครองชีพให้เหมือนเดิม

กลายเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงของระบบเศรษฐกิจ

เลยกลายเป็นว่า ทั้งสถาบันการเงิน และผู้บริโภค ต่างติดหล่ม ติดกับดัก ดิ้นไม่หลุด

เพราะเศรษฐกิจโดยรวม เศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ไม่เติบโต

ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไม่เติบโต จึงไม่มีการลงทุน จึงไม่มีการใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน

เมื่อไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ก็ไม่มีการจ้างงาน ไม่มีกำลังซื้อที่จะมาซื้อสินค้าบริการต่างๆ จึงกลายเป็นกับดักวงใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ

วงที่หมุนๆ กันดีอยู่ก็เป็นวงจรที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว ซึ่งก็มีความเสี่ยงเมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ เมื่อนักท่องเที่ยวหลักโกรธไม่มาเที่ยวเช่นกรณีนักท่องเที่ยวจากจีน

ส่วนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน ในระยะสั้นก็เพียงสร้างความ “อ้วน” ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับสัมปทาน ได้งานรับเหมาก่อสร้าง เป็นสำคัญ

 

ปัญหาเศรษฐกิจพิสดารพันลึกแบบนี้จะคลี่คลายได้ไวหรือไม่ ทำใจได้เลยว่าอีกนาน เพราะต่อเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองที่ติดกับดัก “ไม่อยากเสียของ” ทำให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการปรับตัวทางเศรษฐกิจและธุรกิจ

กลุ่มอำนาจทางการเมืองแต่ละฝ่าย มีแต่ทีท่าจะเอาเป็นเอาตายกับฝ่ายตรงกันข้าม มากกว่าเจรจาหาทางออกร่วมกัน

ทัศนคติของประชาชนที่เห็นต่างๆ ก็มีทีท่ารังเกียจอยากขจัดความเห็นแตกต่าง มากกว่าการทำความเข้าใจ

ดังนั้น กว่าจะได้ข้อสรุป กว่าจะเป็นที่ยุติ น่าจะต้องเรียนรู้หนักกว่านี้และอีกนาน