หลังเลนส์ในดงลึก : “บนหน้าผา”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ต้นเดือน ธันวาคม พ.ศ.2559

สายลมหนาวเข้าครอบคลุมตอนบนๆ ของประเทศไทย

นี่ไม่ใช่เพียงเวลาที่ตามเทือกดอยต่างๆ รวมทั้งผืนป่า และพื้นที่ชุมน้ำจะคึกคัก มีเหล่านักเดินทางมากมายมาเยี่ยมเยือน

เหล่านกจำนวนมาก เดินทางหลบความอดอยากจากถิ่นกำเนิด ความหนาวเย็นนั้น พวกมันพอทนได้ แต่การขาดแคลนอาหาร ทำให้ต้องอพยพย้ายถิ่น

เดินทางนับพันกิโลเมตร ใช้แค่แรงปีกบางๆ

ไม่ว่าจะใช้อะไรนำทาง ตามเส้นทางดวงดาว หรืออะไรก็เถอะ

พวกมันต่างก็ถ่ายทอดทักษะนี้ต่อๆ กันมาแล้วนับพันปี

บริเวณเทือกดอยหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ท้องฟ้ากระจ่างใส ดวงดาวระยิบระยับ

นี่คือสิ่งดึงดูดคนจำนวนมหาศาลเช่นกัน

ภาพข่าว บนดอยอินทนนท์ รถติดยาว เส้นทางเดินป่าเนืองแน่น

ผมนึกถึงช่วงเวลากว่า 10 ปีก่อน วันที่ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ริมหน้าผาของเทือกเขาสูง ที่ชื่อว่า “ดอยอินทนนท์”

 

หลังจากทำเรื่องขออนุญาตเข้าไปเฝ้าติดตามกวางผา เสร็จเรียบร้อย ผมใช้เวลาร่วม 4 ปีที่นั่น ในหุบซึ่งขนาบด้วยป่าแน่นทึบ ผมมีแคมป์เล็กๆ เพื่อพักและเก็บเครื่องมือ

หัวหน้าให้คนมาช่วยดูแล 2 คน

ระยะทางจากแคมป์ ใต้ดงก่อ ไปถึงจุดที่ตั้งซุ้มบังไพร เพื่อเฝ้าดูกวางผา ใช้เวลาเดินราวๆ 2 ชั่วโมง เกือบตลอดเส้นทางต้องลัดเลาะไปตามหน้าผา บางช่วงแคบจนกระทั่งต้องตะแคง พร้อมก้าวเท้าไปช้าๆ มือก็เกาะผนังหินประคองตัว บางช่วงเส้นทางดิ่งลง ผมใช้วิธีไถลตัวลง

ซุ้มบังไพรที่ทำไว้ มีอายุกว่า 2 ปี อยู่บนชะง่อนหินแคบๆ ติดหน้าผาที่มีความชันร่วม 90 องศา ถัดจากบังไพรคือหุบลึก ในหุบมีลำห้วยสายเล็กซึ่งในฤดูหนาวเหลือเพียงสายน้ำไหลรินๆ อีกฟากหนึ่งของหุบ เป็นบริเวณหน้าผาชันที่ลาดเป็นแนวยาว ลงไปถึงหุบเบื้องล่างซึ่งเป็นป่าแน่นทึบ

บริเวณนั้นคือ อาณาเขตของกวางผาโตเต็มวัยตัวหนึ่ง

 

ดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,576 เมตร

นี่คือ ภูเขาสูงสุด ที่อยู่ในเมืองไทย ถูกห้อมล้อมด้วยเทือกเขาซับซ้อนเป็นต้นแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม

อีกในความหมายหนึ่ง ดอยนี้ถูกเรียกว่า “เทือกเขาผีปันน้ำ”

สูงชัน วางตัวในแนวเหนือ ใต้ มีลักษณะคล้ายนิ้วมือยื่นไปสู่แม่น้ำ หุบเขาแต่ละแห่ง ปรากฏเป็นรูปตัว “วี” ลึก ด้านข้างสูงชัน

หน้าผาสูงชันราวกับจะไม่มีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้

แต่นี่คือแหล่งอาศัยของกวางผา

แม้จะเรียกได้ไม่ชัดเจนว่าเป็นแหล่งสุดท้าย

แต่คือแหล่งสำคัญและยังคงมีประชากรกวางผา ได้ดำเนินชีวิตของพวกมันไปอย่างที่ควรเป็น

 

แคมป์ในหุบ รายล้อมด้วยป่าแน่นทึบ ส่วนใหญ่เป็นไม้สกุลก่อ ลำต้นใหญ่ โอบไม่รอบ ตามลำต้นปกคลุมด้วยมอสเขียวทึบ

มอส ฝอยลม ปกคลุมต้นก่อ และต้นสารภีป่า ซึ่งสูงชะลูดขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 30 เมตร เมื่อหมอกเข้าปกคลุม

ภาพที่มองเห็น คือ สวยงาม คล้ายฉากในเรื่องลี้ลับ

แท้จริง นี่คือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต ในผืนป่า ไม่มีชีวิตใดโดดเดี่ยว ความสัมพันธ์ปรากฏในรูปแบบต่างๆ ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน

มอส เฟิร์น และฝอยลม เกาะอยู่รอบกิ่งก้าน ลำต้น ไม้ก่อ ไม้สารภี

พวกมันได้เกาะอาศัย ส่วนต้นไม้ก็ได้ พวกมันเป็นสิ่งหุ้มลำต้น ควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงความชื้นให้

 

ลําห้วยสายเล็กเหลือน้ำไหลรินๆ ในเดือนเมษายนจะแห้งเหือด

จะว่าแห้งไปหมดก็ไม่ถูกนักเพราะช่วงนั้นเราเอากระติกไปรองหยดน้ำซึ่งไหลผ่านใบแหลมๆ ของกอเฟิร์น ทีละหยด เราก็พอมีน้ำใช้ดื่มและหุงข้าว

แม้ว่านี่คือป่าที่มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 2,000-2,500 มิลลิเมตร

สภาพป่าดิบเขาอันสมบูรณ์ช่วยลดความแรงของเม็ดฝนที่ตกกระทบผิวดิน รากไม้ที่แผ่กระจายไปทั่วเป็นตัวช่วยให้น้ำซึมลงใต้ดินพร้อมทั้งช่วยชะลอการไหลบ่าของน้ำผิวดิน เรือนยอดไม้ที่ปกคลุมเกือบทั่วพื้นที่ทำให้อัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินมีน้อย

หลังฤดูฝน ผืนดินที่ป่าคลุมอยู่จะค่อยๆ ระบายน้ำออกตามลำห้วยสายเล็กๆ

เหล่านี้คือความจริงที่อยู่ในความงดงาม

“ความจริง” ที่เรามักละเลย

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ฝนเริ่มตก ป่าชุ่มน้ำ ลมกระโชกแรง หมอกหนาครอบคลุม มองเห็นได้ไม่เกิน 10 เมตร

บางครั้งในรอบสามวัน สภาพอากาศเปิดเพียง 10 นาที

เกือบทุกครั้งผมจะเห็นกวางผา ยืนอยู่บนชะง่อนหิน

ถึงเดือนตุลาคม สายฝนเริ่มจาง ลมหนาวมาถึง ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม มะแหลบ ชูช่อสีขาว แต่งแต้มให้บริเวณหน้าผาสดใส

ทุกวัน ตอนที่ถึงซุ้มบังไพร ดวงอาทิตย์ยังไม่พ้นสันเขา

บริเวณลาดผาด้านตะวันตกอยู่ในเงามืด สันเขาด้านตะวันออกบังแสงอาทิตย์ไว้ สภาพของสันเขาโล่งเตียน มีหญ้าขึ้นบนพื้นซึ่งมีดินตื้นๆ กระแสลมพัดแรงอยู่ตลอด

นี่อาจเป็นสาเหตุอันทำให้ไม้ใหญ่หลีกเลี่ยงในการอยู่บริเวณนี้

ยอดหญ้ามีน้ำค้างเกาะพราว กระทบแสงเป็นเงาระยิบ

หากเป็นฤดูหนาว น้ำค้างเหล่านี้จะแปรสภาพเป็นน้ำแข็ง

 

สันเขาด้านตะวันตกนี้ คือที่อยู่ของกวางผา

ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นสูง แสงจากสันเขาลดต่ำลง กวางผาจะเดินหรือยืนอยู่ในแสงแดดอุ่น มันมักยืนนิ่ง สลับยกขาหลังขึ้นเกาแถวหลังใบหู บางครั้งก็ทรุดตัวลงครึ่งนั่งครึ่งนอน แต่ถ้าอากาศแจ่มใสอาจนอนเหยียดยาวคางเกยก้อนหิน หลับตาพริ้ม

เมื่อแสงอาทิตย์ส่องถึงหุบเขาด้านล่าง ชะง่อนหินเริ่มร้อน กวางผาจะลุกขึ้นเดินไต่ลงไปจนถึงดงไม้ทึบในหุบ และจะขึ้นมาอีกราวๆ บ่าย 3 โมง

ขณะไต่ขึ้น ทักษะและความคล่องแคล่วในการปีนผาของกวางผา ปรากฏให้เห็น

กระโดดไป-มา ตามผาลาดชันเกิน 45 องศา คล้ายเป็นเรื่องง่ายๆ

กวางผาจะขึ้นมาอยู่บนชะง่อนหินเดิม ยืนเหม่อมองไปในหุบเบื้องล่าง จนกระทั่งพลบค่ำ

หากสภาพอากาศเปิด

ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่ผมจะได้เห็น

หากในวันฝนพรำ อากาศปิดทึบ

มีเพียงความเย็นยะเยือกเท่านั้น ที่รายล้อมเอาไว้

 

ระยะเวลา 4 ปี

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนหน้าผา

ในซุ้มบังไพร ริมชะง่อนหินแคบๆ

ขณะเฝ้ารอ ผมไม่รู้หรอกว่า เมื่อไหร่อากาศจะเปิด

ที่ทำได้คือ อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ต้นไม้บนดอยสูง สอนให้รู้ว่า ชีวิตต้องเติบโต และอยู่อย่างพึ่งพากันและกัน

ไม่ผิด ถ้าเราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า มิตรภาพ

นี่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็น หรือสัมผัสได้

หากเพียงเพลิดเพลินอยู่กับการบันทึกภาพตัวเอง