ธเนศวร์ เจริญเมือง : จากสงกรานต์ล้านนา ถึงสงกรานต์ทั่วไทย

ใครจะเชื่อว่า 60 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในสังคมไทย ก่อรูปด้วยกลไกรัฐ และสุดท้าย ด้วยลักษณะของรัฐรวมศูนย์อำนาจ ในที่สุด วันนี้วัฒนธรรมรวมศูนย์ก็ยังฝังแน่น

รัฐไทยก่อรูปเป็น 4 ภาคตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ที่ผ่านมานี้เอง พร้อมกับการเติบโตของ 5 กระแสที่สำคัญ คือ

1. ระบอบเผด็จการทหาร

2. อำนาจรัฐและวัฒนธรรมอยู่ในมือของอำนาจเก่า-ระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจโดยมีสหรัฐเป็นผู้กำกับในช่วงต้นๆ

3. การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมด้วยแผนพัฒนาฯ ฉบับแรก (พ.ศ.2504) -การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ

4. ความหวาดหวั่นและการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

และ 5. การเร่งรัดสร้างประเทศให้ไปสู่ความทันสมัยแบบวัตถุนิยม

ทั้ง 5 กระแสได้เข้ารุมสุมหัวกันกดท้องถิ่นให้อ่อนแอ, การศึกษาล้าหลัง และประชาธิปไตยล้มลุก

ในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ประเพณีสงกรานต์ใน 4 ภูมิภาคยังไม่เป็นเอกภาพ สะท้อนให้เห็นการรวมศูนย์อำนาจของระบบราชการที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เน้นที่การปกครอง-ศาสนา-และการศึกษา ส่วนวัฒนธรรมยังแยกส่วน เวลานั้นวัฒนธรรมจังหวัดก็ยังไม่มี

ผู้เขียนจำได้ดีว่าคณะครูที่โรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ขณะนั้น ซ้อมเล่นละครทุกค่ำคืนเพื่อแสดงในงานปิดภาคเรียน ตอนเย็นตั้งวงซ้อมตะกร้อ บางคนวิ่ง บ้างซ้อมขี่จักรยาน บ้างซ้อมเล่นดนตรี ทั้งหมดมีทั้งส่วนที่แข่งขันกับทีมครูโรงเรียนอื่นๆ และมีทั้งร่วมแสดงให้งานครึกครื้น ฯลฯ

ความเข้มแข็งของท้องถิ่นระดับต่างๆ ที่หายไปในช่วงทศวรรษนั้นเป็นเรื่องที่น่าค้นคว้ามากว่า มีปัจจัยอะไรบ้างในช่วงเวลานั้นทั้งจากภายในและภายนอกที่กระทำกับท้องถิ่น?

 

สงกรานต์ในสังคมไทยและล้านนา

สงกรานต์เป็นวิธีการนับวันเวลาจากอินเดีย สงกรานต์แปลว่าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีใหม่ ศกใหม่ เป็นเทศกาลสำคัญยิ่ง และเป็นประเพณีที่แสนพิเศษของคนไทยที่จะได้แสดงความเคารพผู้มีพระคุณ นั่นคือการสรงน้ำพระและผู้เลี้ยงดู ส่วนการทำบุญที่วัดนั้น ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว

การสรงน้ำพระและผู้มีอุปการะเข้มข้นและมีรูปแบบแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และภูมิภาค

ที่ล้านนาในอดีต คนเมืองไม่มีพระพุทธรูปที่บ้าน เพราะถือว่าท่านต้องอยู่ที่วัดเท่านั้น พระท่านไม่ควรได้มาเห็นหรือได้ยินกิเลส-ตัณหาและการพูดจาไม่ดีที่บ้านเรือน หิ้งพระใกล้หลังคาของบ้านล้านนาในอดีตจึงไม่มีพระพุทธรูปใดๆ มีแต่ดอกไม้ เทียน ผ้ายันต์ หรือแก้วมณีเป็นตัวแทน เพิ่งจะมีพระพุทธรูปบนหิ้ง หรือสร้างห้องพระเป็นพิเศษหลังจากอิทธิพลของสยามเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 นี้เอง

วันที่ 13 เมษายน เป็น วันสังขารล่อง คนในล้านนาไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดและทำความสะอาดทุกๆ อย่างที่บ้านของตนและรอบๆ บ้านครั้งใหญ่

วันที่ 14 เป็นวันเนา – วันแต่งดา ต้องทำอาหารและขนมหลายอย่างเพื่อไปทำบุญที่วัดในวันรุ่งขึ้น ตอนเย็นขนทรายเข้าวัด เพราะวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พื้นทรายรายรอบวิหารและพระธาตุแทนมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ที่ชาวบ้านฝ่าฟันคลื่นลม (กิเลส-ตัณหา) เข้าไปกราบพระพุทธ-พระธรรม-และพระสงฆ์ที่วิหารและที่พระธาตุ ทุกครั้งที่เข้าไปในวัด เม็ดทรายก็ติดเท้าออกมานอกวัด ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงต้องนำทรายกลับคืนวัดในวันเนาของทุกๆ ปี

วันที่ 15 เป็นวันพญาวัน คนล้านนาไปทำบุญที่วัดตอนเช้า ตอนบ่ายเริ่มสรงน้ำพระสงฆ์ที่เคารพ ด้วยการนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปถวายให้ท่านเพื่อให้ท่านนำไป “สระเกล้าดำหัว” พร้อมขอขมาและขอพร

บ่ายวันที่ 15 วันที่ 16 เป็น วันปากปี วันที่ 17 เป็นวันปากเดือน และวันที่ 18 เป็นวันปากวัน ลูกหลานนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไป “สระเกล้าดำหัว” พ่อแม่ ปู่ย่าตายายและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

ในการไป “ดำหัว” ลูกหลานหรือลูกศิษย์จะนำขัน (พาน) ใส่ข้าวตอก ดอกไม้ เทียน พร้อมน้ำขมิ้นส้มป่อย ผ้า 1 ผืน และของกินของใช้จำนวนหนึ่งตามฤดูกาล เช่น มะปราง มะพร้าว กล้วย อ้อย ข้าวแตน ไม้ขีดไฟ ถ่านไฟฉาย สมุด ปากกา ฯลฯ ไปมอบให้ผู้ใหญ่ เพื่อไปขอ “สุมาคารวะ” และขอพร

ผู้เขียนยังจำได้ดี ต้นทศวรรษ 2500 ลูกศิษย์หลายสิบคนไปดำหัวครู 2 คน พวกเขาก้มกราบขอขมาสิ่งที่ได้ทำไปหากมีปัญหาต่อครู ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม แล้วตัวแทน 2 คนก็ลุกขึ้นยกน้ำสะอาดที่มีน้ำขมิ้นส้มป่อยทั้งถังเทน้ำลงบนหัวครูจนเปียกปอนกลางบ้าน

จากนั้นท่านทั้ง 2 ก็ลุกไปสระผมอาบน้ำ สวมใส่เสื้อผ้าใหม่ที่ลูกศิษย์นำมามอบให้ แล้วท่านก็กลับมานั่งกล่าวขออโหสิหากมีสิ่งใดที่ได้กระทำต่อศิษย์ในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมให้ข้อคิดคำสอน และกล่าวอวยชัยให้พรในโอกาสปีใหม่

ติดตามด้วยการสนทนาอย่างออกรส กินขนม-เครื่องดื่ม กระทั่งกินอาหารเย็นร่วมกัน

และแน่นอน ไม่ว่าจะอยู่ไกลแสนไกล ลูกหลานของแต่ละครอบครัวก็ดั้นด้นกลับบ้านช่วงสงกรานต์เพื่อชุมนุมสมาชิกแห่งสายเลือด “ดำหัว” พ่อแม่-ป้ออุ้ย-แม่อุ้ย-ผู้มีพระคุณท่านอื่นๆ และยังไป “ดำหัว” กู่อันเป็นที่ฝังอัฐิของบรรพชน ทุกคนมารวมกัน มาขอขมาลาโทษ ขอรับพร กินข้าวอร่อยๆ ด้วยกัน เล่าสารทุกข์สุกดิบให้กัน ให้กำลังใจแก่กันและกัน และแยกย้ายกันไป

“สระเกล้า” คือ สระผม “ดำหัว” ก็คือสระผม คนล้านนาเรียกเต็มยศว่า “สระเกล้าดำหัว” คำเรียกทั่วไปก็คือ “ดำหัว” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาทำงานที่ลำปางและเชียงใหม่หลายปี ได้เห็นประเพณีดำหัวนี้ ท่านจึงนำเอาคำว่า “รดน้ำ” (ที่มือของผู้ใหญ่) ในภาคกลาง มารวมกับคำว่า “ดำหัว” ของล้านนาเข้าด้วยกัน และเขียนเป็นบทความลงใน น.ส.พ.สยามรัฐ หน้า 5 ช่วงสงกรานต์ ราวปี 2514 จนคำว่า “รดน้ำดำหัว” กลายเป็นวลีที่คนทั้งประเทศติดหูและเข้าใจว่านี่คือประเพณีสงกรานต์ของไทย

ในระยะหลังๆ การ “ดำหัว” พระสงฆ์และผู้ใหญ่แบบเดิมในล้านนาไม่สะดวก ผู้น้อยจึงเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ขันมอบให้พระสงฆ์และผู้ใหญ่เพื่อนำไปสระผมในเย็นวันนั้น โดยก่อนอวยชัยให้พร ผู้ใหญ่ท่านก็วักน้ำขมิ้นส้มป่อยนั้นขึ้นลูบผม เพื่อแสดงเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ “ดำหัว” แล้ว

ส่วนการ “เล่นน้ำสงกรานต์” ที่เล่นสาดน้ำกันโครมๆ นั้น เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งในช่วงเทศกาลนี้ในอดีต นั่นคือ การเล่นสาดน้ำกันของหนุ่มสาวระหว่างมีการขนทรายไปที่วัด และระหว่างเข้าร่วมในขบวนดำหัวเพื่อไปที่วัด หรือยกขบวนไปดำหัวผู้ใหญ่ในหมู่บ้านต่างๆ นั่นเอง

เด็กๆ ได้เห็นจึงใช้โอกาสในช่วงเทศกาลนี้เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ส่วนจะสาดน้ำไปยังผู้คนที่สัญจรไปมาแค่ไหน ในอดีตก็คงมีบ้างตามประสาเด็กๆ และความรื่นเริงในหมู่บ้าน

จะเห็นว่าในอดีต การเล่นสาดน้ำเป็นการเล่นสนุกสนานของหนุ่มสาวที่มีวาระ และเป็นการเล่นของเด็กๆ ด้วยความสนุกสนานท่ามกลางอากาศร้อน เป็นส่วนประกอบเพื่อความรื่นรมย์ของเทศกาล หาใช่เป็นกิจกรรมสำคัญใดๆ ของสงกรานต์ไม่

 

จุดเริ่มและการแพร่ระบาดของการเล่นสาดน้ำ

การเข้ามาของรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นในล้านนาในช่วงทศวรรษที่ 2490 และ 2500 และการมาเที่ยวของคนต่างถิ่นที่ไม่รู้ประเพณีท้องถิ่น

เกิดคำถามว่า

1. พวกเขาจะทำอะไรได้มากกว่าการตามไปดูขบวนแห่และเล่นสาดน้ำ

และ 2. ท้องถิ่นควรจะจัดการอย่างไรกับยวดยานที่แล่นไปมา ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งเป็นสัญลักษณ์ของ “ความทันสมัย” ในโลกยุคใหม่

ถ้ายามนั้นท้องถิ่นเข้มแข็ง ผู้คนคงนั่งพูดคุยกันและเห็นว่าเหล็กและล้อวิ่งได้ก็คือเหล็ก หาใช่เรื่องที่คนจะไปสาดน้ำคนบนยวดยานนั้นไม่ ถ้าชุมชนร่วมกันออกปากห้ามตั้งแต่ตอนนั้น ทุกอย่างคงจบสิ้น

และเพราะข้าราชการส่วนภูมิภาคที่เจ้านายส่งมาอยากมีผลงาน กลไกรัฐจึงจัดระบบสงกรานต์เสียใหม่ เพื่อสร้างความสุขให้แก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากภาคกลางที่หลั่งไหลมาชมสงกรานต์ล้านนา ที่ไม่มีในภาคอื่นๆ

จังหวัดเชียงใหม่จึงใช้วิธีกำหนดให้วัดต่างๆ อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญออกมาเข้าแถวเป็นขบวนบนถนนสายสำคัญเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้และสรงน้ำ เพราะนักท่องเที่ยวในเวลานั้นไม่รู้ว่าควรไปวัดไหน ควรจะไปสรงน้ำพระพุทธรูปองค์ไหน อีกทั้งยังมีหลายแห่งที่อยากไปเที่ยวชม ฯลฯ

นี่คือการประดิษฐ์วัฒนธรรมขึ้นมาโดยรัฐ จากเดิมที่สาธุชนของแต่ละวัดไปสรงน้ำพระกันเอง

ระบบราชการแบบรวมศูนย์อำนาจ ไม่เคยปรึกษาหารือขอความเห็นใดๆ จากคนในท้องถิ่นคือปัญหาสำคัญ กำนันและผู้ใหญ่บ้านตลอดจนเจ้าอาวาสมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของราชการ

สงกรานต์เชียงใหม่ผงาดขึ้นมาเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2502-2503 ทุกๆ ปี ผู้คนนับแสนหลั่งไหลกันมาเต็มแม่น้ำปิง-สะพานนวรัฐ-ถนนท่าแพ-ราชดำเนินไปจนถึงวัดพระสิงห์ เพื่อชมขบวนแห่พระพุทธรูปกลางเมืองในวันที่ 13; การขนทรายเข้าวัดบ่ายวันที่ 14 จากริมฝั่งแม่น้ำปิงไปยังวัดอุปคุต; และชมขบวนแห่ของทุกๆ อำเภอนำโดยนายอำเภอและครูทั้งหมดซึ่งเวลานั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยไป “ดำหัว” ผู้ว่าฯ นำขบวนโดยปลัดจังหวัด ในช่วงบ่ายวันที่ 15 อันเป็นวันพญาวัน

ส่วนเวลาที่เหลือ นักท่องเที่ยวก็ไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น น้ำตกห้วยแก้ว ผาเงิบ ดอยสุเทพ น้ำตกแม่สา น้ำตกแม่กลาง ออบหลวง ถ้ำเชียงดาว สวนสัตว์ บ่อสร้าง-สันกำแพง ฯลฯ

และเพราะไม่รู้จักกัน และไม่เคยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณี การทักทายระหว่างคนแปลกหน้าในเมืองที่ตนเองมาเที่ยว ก็คือการเล่นสาดน้ำ ตามเสียงร่ำลือที่บอกว่าสนุกมากๆ เพราะไม่มีที่ไหนในประเทศนี้ การทำให้คนอื่นเปียกปอน เด็กและนักท่องเที่ยวสาดกันไปมาๆ หนุ่มเข้ารุมล้อมสาวๆ ใช้น้ำอบ น้ำแข็ง เอาวีมาพัด บางคนเอาแป้งมาลูบที่แก้ม ฯลฯ

ยิ่งเปียกยิ่งสนุก น้ำไม่รู้มาจากไหน โครมเข้าเต็มใบหน้า การสาดน้ำก็ยิ่งขยายออกไป ไม่มีการขออนุญาต แทบไม่มีคำอวยพรใดๆ ฉันเปียก เธอก็ต้องเปียก สงครามน้ำเกิดขึ้น ด้วยปืนฉีดน้ำและท่อน้ำสารพัดชนิด

การเล่นสาดน้ำยิ่งขยายตัวออกไปทั่ว ไม่มีใครสนใจใคร แต่งกายแบบไหน ไม่มีใครถามว่าใครต้องการเล่นน้ำ ใครต้องไปทำงาน หรือไปโรงพยาบาล หรือไปอบรม สาดให้เปียกปอน ใส่น้ำแข็งให้คนถูกสาดสะดุ้งโหยง ให้น้ำเข้าหน้าเข้าตา ยิ่งสนุกมากขึ้น ฯลฯ

เมื่อเด็กๆ สาดน้ำไปยังยวดยานที่วิ่งไปมา คนบนรถพกปืนฉีดน้ำมาสู้ด้วย หรือหยุดรถลงมาเล่นสาดน้ำด้วย ต่อมาคนบนรถชักสนุก หาถังใส่รถเติมน้ำให้เต็ม

บัดนี้ สงครามน้ำก็ระอุไปทุกๆ พื้นที่ จากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำยิ่งเข้มข้น และลามออกไปทั่วทั้งจังหวัด และไปทั่วประเทศ ฯลฯ

แม้แต่คนท้องถิ่นที่ไม่มีเรื่องประเพณีท้องถิ่นสอนกันในโรงเรียน ครูก็ไม่รู้ ชุมชนก็ไม่เคยคุยกัน ประเพณีเก่าๆ เลือนหาย การเล่นสาดน้ำในหน้าร้อนย่อมมีแต่เรื่องสนุก มืดค่ำ คนจำนวนหนึ่งยังไม่ยอมเลิกรา หลายปีมานี้ ทุกๆ วันที่ 10-12 เมษายน น.ส.พ.ระดับชาติมักลงข่าวและภาพเด็กเล่นสาดน้ำริมถนน เหมือนจะส่งเสริมให้การทำผิดกาลเทศะกลายเป็นเรื่องถูกต้อง ฯลฯ

ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 แม่น้ำปิงประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย ทางการจึงให้ย้ายจากการเล่นสาดน้ำริมแม่น้ำปิงไปที่รอบคูเมือง มีทั้งรถที่วิ่งรอบๆ และคนเดินใช้น้ำในคูเมืองเล่นสาดใส่กันทั้งวัน

ตั้งแต่นั้น สงกรานต์รูปแบบใหม่ก็ได้รับการสถาปนาและแผ่ลามออกไปทั่วประเทศ คือ

1. ขบวนแห่พระพุทธรูปเพื่อให้คนสรงน้ำ หรือการจัดขบวนแห่อื่นๆ

2. การปิดถนนเพื่อให้คนได้เล่นสาดน้ำกัน

3. การตั้งเวทีบรรเลงเพลงและดนตรีเป็นจุดๆ ขับกล่อมผู้คนที่ออกมาเล่นสาดน้ำ

และ 4. การนำถังน้ำออกวางริมถนนและบนรถ พร้อมอุปกรณ์ฉีดน้ำครบครัน เพื่อเล่นสาดน้ำใส่กันทุกหนทุกแห่ง ใครไม่อยากเปียกไม่ต้องออกจากบ้าน ใครไม่สบายจะออกไปโรงพยาบาล ต้องมีรถส่วนตัว หรือไม่ก็ต้องกราบกรานผู้คนริมถนน ขออย่าสาดน้ำ ฯลฯ

และนี่คือสงกรานต์ที่ก่อรูปและพัฒนาขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา

 

จากสงกรานต์ล้านนาถึงสงกรานต์ทั่วไทย

หลายสิบปีมานี้ คงไม่มีคนไทยที่เป็นชนชั้นกลางขึ้นไปคนไหนที่ไม่เคยมาเที่ยวสงกรานต์เชียงใหม่ และต่อจากนั้น กิจกรรมสงกรานต์ 4 ข้อข้างต้นก็ได้แพร่ลามและพัฒนารูปแบบออกไปแทบทุกจังหวัดของประเทศนี้ หลายจังหวัดตั้งชื่อถนนข้าว… เหมือนถนนข้าวสารที่กรุงเทพฯ ปิดถนนให้หนุ่มสาวได้เล่นสาดน้ำกัน ฟังดนตรีและเต้นรำ พร้อมดื่มกินกันอย่างสนุกสุดเหวี่ยง รวมทั้งเพิ่มกิจกรรมอื่นๆ

มี 4 ประเด็นสำคัญที่ควรอภิปรายตรงนี้ คือ

ข้อที่ 1 จากจุดเริ่มคือเชียงใหม่และต่อมาคือทั่วสังคมไทย เราไม่เคยประเมินผลเสียอย่างจริงจังของการเล่นสาดน้ำกันระหว่างคนริมถนนกับยวดยานที่วิ่งไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันตรายในการขับขี่จักรยานยนต์อันเกิดจากน้ำที่ฟาดเข้าที่หน้าตาคนขับขี่ การเอี้ยวตัวหลบ พื้นถนนที่เปียกและลื่น จักรยานยนต์ที่ต้องคอยหลบสายน้ำจากคนเล่นริมถนนและจากคนบนรถยนต์ที่สวนมาหรือขับตามหลัง

ข้อที่ 2 ปริมาณแอลกอฮอล์ในหมู่คนขับขี่, คนเล่นสาดน้ำ และคนริมถนน จำนวนอุบัติเหตุในเทศกาลสงกรานต์สูงมาก เมาไม่ขับหรือดื่มต้องไม่ขับ ฯลฯ การศึกษาสาเหตุของข้อที่ 1-2 นี้ไม่เคยมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง

ข้อที่ 3 หากทั่วประเทศถือเอาการเล่นสาดน้ำเป็นกิจกรรมสำคัญของสงกรานต์ก็คงไม่เป็นปัญหา เพราะผู้คนได้รับความชุ่มฉ่ำจากสายน้ำ และมีกิจกรรมบันเทิงในเดือนที่ร้อนอบอ้าวที่สุดของปี แต่ปัญหาใหญ่คือ จะหยุดยั้งการเล่นสาดน้ำบนผิวจราจรที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทุกๆ ปีอย่างไร

เพราะวัฒนธรรมการเล่นสาดน้ำแบบนี้มีคนเข้าร่วมมากและดูเหมือนไม่เห็นปัญหา ทางออกก็คือเปิดเวทีเสวนารับฟังความเห็นในเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นข้อเสีย และมีข้อเสนอต่อไปคือออกกฎหมายห้ามเล่นสาดน้ำกับยวดยานทุกชนิดที่วิ่งบนถนน คนเล่นสาดน้ำริมถนนก็ต้องทำตามกฎนี้

และ ข้อสุดท้าย ได้เวลาที่ล้านนาจะนั่งลงสรุปที่มาที่ไปของ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” ของตนเอง ย้อนพินิจทีละเรื่อง จากการไปสรงน้ำพระ การทำความสะอาดบ้าน การขนทรายเข้าวัด การเตรียมอาหาร การดำหัวพระสงฆ์และผู้มีพระคุณ การกระชับครอบครัวสัมพันธ์ในเทศกาลนี้ ตลอดจนได้เวลาปฏิวัติวัฒนธรรม “ปี๋ใหม่เมือง” เสียใหม่

เสริมสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองที่เคยเข้มแข็งในอดีตให้กลับคืนมา

ที่สำคัญ จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของนักท่องเที่ยวและกิจกรรมของคนท้องถิ่นอย่างไร ไม่ใช่โอนอ่อน เห็นแก่รายได้หรือตามคำสั่งของรัฐ จนละทิ้งมรดกวัฒนธรรมของบรรพชน จะรื้อฟื้นอาหาร ขนม และกิจกรรมอื่นๆ ที่สูญหายไปให้กลับคืนมาได้อย่างไร

และแน่นอน ประเพณีและวัฒนธรรมเกี่ยวกับสงกรานต์ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศที่หายไปไม่ได้หายเฉพาะที่ล้านนา แต่ละท้องถิ่นก็ควรนำสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมา

เพื่อให้สอดรับกับพลังที่เรียกหาประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่นับวันจะแข็งแกร่งมากขึ้นๆ

ซึ่งชัดเจนว่า นั่นคือทางออกที่สำคัญยิ่งของประเทศเราในขณะนี้