อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การเลือกตั้ง 2562 บอกอะไรแก่เรา

ความจริงแล้วการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ก็เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปของไทย

การห่างหายไปนานเกือบ 8 ปีอาจมีผลบ้างต่อความตื่นตัวของประชาชนในการออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตนครั้งนี้

แต่นี่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ปัจจัยหลักน่าจะเป็นความรู้สึกต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงโดยผ่านพรรคการเมืองและระบบรัฐสภา

คนไทยในหลากหลายอาชีพและวัยอาจต้องการแสดงออกตรงนี้มากกว่าอยู่กับรัฐบาลที่บริหารประเทศมานานและข้อเสนอที่ยังไม่ตรงใจและตรงกับความต้องการของพวกเขาก็ได้

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยในความหมายใดก็ตาม

แต่เป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการเลือกตั้งยังนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยชนิดหนึ่ง โดยไม่จำเป็นที่ต้องลงเอยด้วยความวุ่นวาย การประท้วง ความรุนแรงและความน่าสะพรึ่งกลัวดังที่มีบางฝ่ายกล่าวอ้างกัน

ผมอยากจะเขียนถึงการเลือกตั้ง 2562 บอกอะไรแก่เรา

ซึ่งอาจไม่ได้ทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดของความรู้และความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยขณะนี้และอนาคต มากกว่าจะมองการเลือกตั้งเป็นเรื่องของ เทคนิค และตัวเลขทางคณิตศาสตร์

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ชวนให้สังเกตร่วมกันคือ พรรคการเมือง

 

พรรคการเมือง
พรรคการเมืองเก่า

ผมไม่มีเจตนาใดๆ ในการโจมตีหรือว่ากล่าวพรรคการเมืองใดๆ

แต่สิ่งที่จะเขียนถึงพรรคการเมืองเก่ากับการเลือกตั้ง 2562 เพื่อต้องการมองว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับพรรคเก่าได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา

เป็นไปได้ไหมพรรคการเมืองเก่าที่เคยแม้กระทั่งจัดตั้งรัฐบาลหรือมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาลในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ใช้ยุทธศาสตร์แบบเดิมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง ได้แก่ การใช้สถิติของการเลือกตั้งคราวที่แล้ว การใช้ฐานเสียงเดิม การใช้ระบบอุปถัมภ์จากกลุ่มบุคคลเดิมๆ

ผมไม่ได้หมายความว่า พรรคเหล่านี้ไม่มีนโยบาย ไม่มีจุดเด่น

แต่ผลที่ปรากฏคือ พรรคสำคัญทั้งสามพรรคเรียกได้ว่าแทบหายไปจากการเลือกตั้งครั้งนี้เลย

เป็นไปได้ไหมที่หัวหน้าพรรคของพรรคการเมืองแบบครอบครัว พรรคการเมืองของจังหวัด พรรคการเมืองของท้องถิ่น พรรคการเมืองของผู้นำที่ทรงอิทธิพลในยุคทศวรรษ 1980-1990 ใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบันและอนาคต

ผมไม่ติดใจลีลาการหาเสียง พิธีกรรมและการหาเสียงโดยการเข้าถึงชาวบ้านพรรคการเมืองเก่าและใหม่ต่างก็ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ทั้งนั้น แต่การใช้ฐานเสียงเดิม การเมืองแบบครอบครัวอาจไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว พ้นไปจากท่านหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันเหล่านี้แล้ว ใครจะสามารถสร้างพรรคแบบครอบครัว พรรคแบบจังหวัดเดิมๆ ได้อีกต่อไปแล้ว

คราวนี้เรามาดูพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

 

พรรคพลังประชารัฐ

เราจะเชื่อตามที่ท่านผู้บริหารระดับสูงของพรรคกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองใหม่เพิ่งก่อตั้งมาเพียง 5 เดือนคงไม่ได้

จริงๆ แล้วพรรคพลังประชารัฐตั้งมานานแล้วและทำงานการเมืองมาแล้วเกือบ 5 ปี เพียงแต่เพิ่งจดทะเบียนพรรคตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแค่นั้นเอง

การได้คะแนนเสียงจำนวนมากของพรรคพลังประชารัฐก็มาจากพรรคเป็นรัฐบาลอยู่เอง มีผลงานต่อเนื่อง มีนโยบาย “ประชารัฐ” ที่ใช้กลไกทุกชนิดของรัฐบาล มีการแถลงงาน การตรวจเยี่ยมงาน รวมทั้งการทำงานของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตราบจนวินาทีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

ประกอบกับรัฐธรรมนูญและการใช้กฎหมายและกลไกรัฐทุกชนิดทุกรูปแบบสร้างผลงานให้กับตัวเอง ในทางตรงกันข้ามเท่ากับเป็นการปิดกั้นพรรคการเมืองอื่นๆ นั่นก็คือ เป็นการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจนจากผู้มีอำนาจเดิม แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่สำเร็จโดยง่ายๆ

 

พรรคเพื่อไทย

อันนี้ต้องให้เครดิตกลยุทธ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรคเพื่อไทย

การวางแผนสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเพราะคะแนนเสียงที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยยังคงรักษาฐานเสียงเดิมของพรรคพลังประชาชนที่เคยนำโดยผู้นำหญิงแห่งตระกูลชินวัตรเอาไว้ได้

แถมยังได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนที่เอากลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มคนที่ไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

หากแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ของพรรคทั้งสองพรรคคือ พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติซึ่งควรดำเนินการอย่างเงียบๆ ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าแล้ว โอกาสที่ทั้งสองพรรคจะแยกกันได้คะแนนเสียงแล้วมารวมกันทีหลังเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเองมีอยู่สูงมาก

นี่เท่ากับว่า เครือข่ายทักษิณยังมีบทบาทและพลังทางการเมืองและเศรษฐกิจในรัฐสภาไทยและการเมืองนอกรัฐสภาอยู่มาก

แน่นอนเราได้เห็นการเมืองระดับสูงเปิดตัวเองมากขึ้นทุกที อีกทั้งดูทีท่าว่า จะมีการปะทะกันรุนแรงขึ้นโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าทางออกจะเป็นเช่นไรด้วย

 

พรรคอนาคตใหม่

สําหรับผม พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองใหม่ตั้งมาได้ไม่ถึง 1 ปีอย่างแท้จริง การหาเสียงในระยะแรกสะเปะสะปะ นโยบายก็รวบรวมจากหลายภาคส่วนจนกระทั่งสับสน

แต่การหาเสียงกลับถูกใจประชาชน เพราะการหาเสียงเข้าถึงความต้องการของประชาชน แม้พูดด้วยอารมณ์แต่ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ไม่เอาระบอบประยุทธ์ ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ ลดความเหลื่อมล้ำ

คะแนนของพรรคอนาคตใหม่มาจากความเบื่อหน่ายต่อพรรคการเมืองรูปแบบเดิมๆ มาจาก First Voter และ Social media คะแนนของพรรคอนาคตใหม่จึงสูงกว่าที่ผู้ก่อตั้งพรรคเองประเมินไว้ หากทว่าการรักษาคะแนนนิยมยากกว่ามาก เมื่อก้าวเข้าสู่สนามการเมืองจริงๆ แล้ว นี่อาจเป็นเพียงโอกาสแรกและโอกาสเดียวของพรรคอนาคตใหม่ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ทุกพรรคการเมืองและสังคมไทยขณะนี้ล้วนหลอมรวมอยู่ภายใต้ บริบทใหม่ทางสังคมเศรษฐกิจทั้งสิ้น

บริบทใหม่ของสังคมเศรษฐกิจไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

บริบทใหม่ทางสังคมเศรษฐกิจไทยน่าจะประกอบด้วย

ประชากรรุ่นใหม่ ที่มี life style เป็นของตัวเอง มีพฤติกรรมการบริโภค วิถีการทำงานเป็นของตัวเอง ไม่มีความภักดีกับสถาบันทางการเมืองใดๆ เลย พวกเขาภักดีแต่สินค้าและบริการที่ตัวเองชื่นชอบ

เหตุของน้ำท่วม ภัยแล้ง หนี้สิน การย้ายถิ่นฐาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำที่ห่างมากขึ้น นับเป็นชีวิตจริงของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศมากกว่า การเดินหน้าประเทศไทยด้วยการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เขตนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค สิ่งเหล่านี้ขายไม่ได้ แต่สวัสดิการแห่งรัฐขายได้ คนไทยเหล่านี้จำนวนมาก พวกเขาต้องการสวัสดิการของรัฐด้านอาชีพ ปากท้อง สุขอนามัย การศึกษา มากกว่าการจัด event หรือโฆษณาชวนเชื่อใดๆ

อีกบริบทหนึ่งคือความเบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนนของทุกฝ่าย รวมทั้งความสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมในกรณีของทั้งข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจใหญ่และความต้องการในระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้

บริบทใหม่ทางสังคมเศรษฐกิจไทยเหล่านี้เป็นทั้งสิ่งประกอบสร้างและเป็นสิ่งที่อุ้มชูความต้องการใหม่ของคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกัน

โปรดติดตามด้วยใจระทึก