ศัลยา ประชาชาติ : ไร้เงารัฐบาลใหม่ ธุรกิจเสียววูบ “สุญญากาศ” เศรษฐกิจไทย

หลังปิดหีบเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เดิมหลายฝ่ายคาดหวังว่าภาพต่างๆ จะชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ อันจะส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจไม่ให้เกิดการสะดุด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผ่านมาแล้วเกือบ 3 สัปดาห์ การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะออกมารูปแบบไหน แถมมีวี่แววว่าจะลากยาวออกไป

ซ้ำรัฐธรรมนูญก็เปิดทางให้ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม หรืออีกนานนับเดือนเลยทีเดียว

ส่อแววว่า กว่าจะมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ กว่าจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็คงกินเวลาไปในช่วงครึ่งปีหลังแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ กว่าจะมีรัฐบาลใหม่ กว่าจะเริ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงๆ จังๆ ก็อาจจะย่างเข้าปลายปี 2562 ไปแล้ว

นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยต้องเข้าสู่ภาวะ “สุญญากาศ” อย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันพยายามจะบอกว่ายังมีอำนาจเต็มที่สามารถบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่เอกชนก็เริ่มเกิดความไม่มั่นใจ

 

ดังนั้น ช่วงนี้จึงเห็นภาคธุรกิจเอกชนต่างออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อแนวโน้มสถานการณ์การเมือง ที่หากยังไม่มีความชัดเจน จะกระทบชิ่งเศรษฐกิจไทยในปีนี้กันมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. ออกมาบอกว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองที่หลังผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล โดย กกร.ได้ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทยปีนี้เหลือโต 3.5-4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4-4.5%

ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนกำลังจับตาสถานการณ์การเมืองว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร โดยรอดูการประกาศผลของ กกต.ว่าจะออกมาอย่างไร และเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันก็ต้องขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจต่อไป ไม่ปล่อยให้เกิดสุญญากาศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยขณะนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจในไทยปี 2562 เพราะหากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยืดเยื้อและมีการประท้วงบนท้องถนนเกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวต่ำกว่า 3.5% เนื่องจากนักลงทุนจะชะลอการลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีนและประเทศอื่นในเอเชียอาจยกเลิกการเดินทางเข้าในไทยทันที จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยสิ่งสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวก็คือความไม่วุ่นวายภายในประเทศ หากมีความวุ่นวายจะมีผลทำให้นักท่องเที่ยวหลายๆ ประเทศยกเลิกแผนมาเที่ยวในไทยชั่วคราว และหันไปเที่ยวประเทศอื่นแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวลมาก อย่างในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ที่นักท่องเที่ยวจีนชะลอจากเหตุการณ์เรือล่ม ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ หอการค้าฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในช่วง 3.5-3.8% โดยมีเงื่อนไขว่า สงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรัฐบาลชุดใหม่ของไทยสามารถแถลงนโยบายได้ประมาณเดือนกันยายน 2562 จากนั้นในไตรมาส 4 รัฐบาลใหม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

โดยหากการเมืองมีเสถียรภาพ ก็จะส่งผลดีต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจในปี 2563

 

ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาหลายสำนักก็มีการปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจปีนี้ลงจากเดิม ที่ส่วนใหญ่จะมองว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 4% ต่อปี

เริ่มจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมรอบล่าสุดไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม โดยมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี ก็ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือโต 3.8% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 4% โดยปรับลดตัวเลขคาดการณ์การส่งออกเหลือโต 3% จากเดิมคาดไว้ 3.8%

โดยนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลดลง มาจากปัจจัยด้านการส่งออกเป็นหลัก

ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากทำได้เร็วจะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น และทิศทางการขยายตัวของภาคเอกชนที่ดำเนินต่อเนื่องมาก็จะไม่สะดุด อย่างไรก็ดี ในบางช่วงที่มีความไม่ชัดเจนในเรื่องการเมืองหรือแนวนโยบาย ทั้งในและต่างประเทศ ก็จะเห็นความผันผวนที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนตลาดเงิน/ทุน หรืออัตราแลกเปลี่ยน

“รัฐบาลขณะนี้ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ ดังนั้น ถ้าเกิดมีความจำเป็นก็จะมีมาตรการ/เครื่องมือ/กลไกที่ช่วยดูแลเศรษฐกิจได้” นายวิรไทกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ก็ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยปี 2562 โดยคาดว่าอาจเติบโตได้แค่ 1.5% ต่ำกว่าเดิมที่คาดไว้ 4.3% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ด้านนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาที่ 3.7% จากเดิมคาดโต 4% ซึ่งมาจากการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าที่เคยคาดไว้เดิมก็ตาม ทั้งนี้ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ลง จากเดิมคาดโต 4.5% เหลือ 3.2%

“ไม่ว่ารูปแบบรัฐบาลผสมจะมีองค์ประกอบเป็นแบบใด ต่างก็ต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบภาคการส่งออกทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลใหม่คงต้องเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนภายใต้กรอบงบประมาณปี 2562 รวมถึงการผ่านร่างงบประมาณปี 2563 ซึ่งถ้าหากการจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมิถุนายน และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตามคาดก็จะช่วยหนุนการบริโภคครัวเรือนได้ราว 0.2-0.4% ของ GDP และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก”

นางสาวณัฐพรกล่าว

 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้บ่งบอกถึงสัญญาณไม่ดีนักสำหรับเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น จึงได้เห็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ขยับเดินสายไปตามหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ

เพื่อกระตุ้นให้เร่งผลักดันมาตรการออกมาพยุงเศรษฐกิจ ทั้งหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว และล่าสุด เตรียมไปประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังในวันที่ 18 เมษายนนี้หลังเทศกาลสงกรานต์

เพื่อหารือถึงมาตรการด้านการคลังที่จะออกมาพยุงเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนนี้

ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ชะลอตัว สุดท้ายแล้วจะได้มากแค่ไหน